“สาทิตย์” แนะให้นำ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ไปจัดหาวัคซีน ขออย่าเอา “การแพทย์นำการเมือง” จนมีข่าวบางพรรคการเมืองนำวีไอพีไปฉีดก่อนชาวบ้าน ด้าน “เกียรติ” ขอกู้เงินก้อนสุดท้ายใช้แล้วต้องจบ


วันที่ 9 มิ.ย. 2564 ที่อาคารรัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดและติดเชื้อของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยได้ตั้งคำถามถึง พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ว่า กู้แล้วประชาชนและประเทศชาติได้อะไรจากการกู้ในครั้งนี้บ้าง เนื่องจากรัฐบาลได้กู้เงินไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท จนมาสู่การกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.5 ล้านล้านบาท และยังไม่รวมเงินกู้ประเภทอื่นอีก

เมื่อย้อนกลับไปดู พ.ร.ก.กู้เงินฉบับที่แล้ว มีการแบ่งเป็นแผนการใช้เงินออกเป็น 3 ส่วน สาธารณสุข 45,000 ล้านบาท เยียวยา 505,000 ล้านบาท และฟื้นฟูอีก 400,000 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการเรื่องเยียวยาไปแล้ว 800,000 ล้านบาทโดยประมาณ ล่าสุดยังมีตัวเลขที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเรื่องเยียวยาไปแล้วอีกประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท จึงมีคำถามต่อว่า การเยียวยานี้จะไปสิ้นสุดตรงไหน และการกู้เงินอีก 500,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นหนี้ก้อนสุดท้ายก่อนชนเพดาน

คำตอบสุดท้ายจึงอยู่ที่วัคซีนโควิด-19 ที่ควรใช้เรื่องเงินกู้นี้ไปเพิ่มเรื่องดังกล่าว และไม่ควรนำไปทำโครงการไร้ประสิทธิภาพอย่างอื่น เพราะขณะนี้ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าการระบาดรอบที่ 4 จะเกิดเมื่อไร และคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มครบโดสไปแล้วจะต้องฉีดเข็ม 3 เข็ม 4 หรือไม่ พร้อมกันนี้ ขออย่าเอาการเมืองนำการแพทย์ ต้องเอาการแพทย์นำการเมือง ต้องไม่มีโควตาพรรคการเมือง จนมีกระแสข่าวบางพรรคการเมืองเอาวีไอพีไปฉีดวัคซีนก่อนชาวบ้านยากจน

...

ด้าน นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปราย ว่า การขอกู้เงินเพิ่มใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ ส่วนตัวไม่ติดใจ แต่ขอให้เรียนรู้เพิ่มเติมจากบทเรียนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพราะเรื่องการแก้ปัญหาการระบาดมีการอนุมัติโครงการไปได้เพียง 57% และมีการเบิกจ่ายจริง 21% ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวชี้ว่าเป็นปัญหา

ส่วนเรื่องการฟื้นฟูนั้นพบว่าก็มีปัญหา หากดูจากตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ ณ วันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีการอนุมัติกรอบการฟื้นฟูไปเพียง 46% มีการเบิกจ่ายไปเพียง 26% เพราะหากจะแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ คือ ความรวดเร็วของการกระจายวัคซีน พร้อมขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึง มาตรา 6 ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้คืนว่าจะมีการอนุมัติเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้คืนอย่างไร เพราะไม่มีการระบุไว้ในเนื้อหา และเงินก้อนนี้ต้องถึงคนป่วยจริงๆ เพราะเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่ต้องใช้แล้วต้องจบ.