“ถ้าเขายังมีชีวิต ส่งตัวเขากลับมา หรือถ้าเขาเสียชีวิตไปแล้ว ก็ขอให้เราได้พบศพ เพื่อนำเขามาทำพิธีทางศาสนา ให้เขาได้กลับบ้าน กลับมาหาครอบครัว”
หนึ่งเดือนหลังจาก วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หายตัวไป สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวกับสำนักข่าว BBC NEWS ในเดือนกรกฎาคมถึงภารกิจตามหาน้องชาย
ไม่ว่าวันเฉลิม ‘มีชีวิต’ หรือ ‘ตายไปแล้ว’ เธอต้องการทราบชะตากรรมของน้องชาย เพื่อยุติการรอคอยอันไม่จบสิ้น และเดินหน้าถามหาความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง
หากพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของสิตานัน ก็จะพบว่า ความคลุมเครือ (ambiguity) ระหว่างการมีชีวิตอยู่และความตายของวันเฉลิมคือภาวะที่เธอต้องการกำจัด ยุติความคลุมเครือให้แปรเปลี่ยนเป็นความจริง
ความคลุมเครือระหว่าง ‘การมีชีวิต’ และ ‘ความตาย’ ของผู้ถูกทำให้สูญหาย คือสิ่งที่ครอบครัวต้องเผชิญ พวกเขาต้องเผชิญกับทุกข์ระทมจากการ ‘ไม่รู้’ ว่าญาติของเขาเป็นอย่างไร มีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้วถูกฝังที่ไหนสักแห่ง ความคลุมเครือกักขังพวกเขาอยู่ในความสิ้นหวัง แต่ขณะเดียวกันมันก็ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีความหวังไปด้วยในคราวเดียว
แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 2 ปีแล้ว แต่ กัญญา ธีระวุฒิ แม่ของ สยาม ธีระวุฒิ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2557 และเป็นผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ก็ยังมีความหวังในการตามหาลูกชายที่หายในประเทศเวียดนาม แม้ว่าในความคิดเห็นของสิตานัน การตามหาสยามจะเป็นเรื่องยาก เพราะ “แทบไม่มีเบาะแส เพราะสยามบินจากสิงคโปร์มาเวียดนาม แล้วถูกจับที่สนามบิน แต่แม่กัญญาก็ยังมีความหวัง นี่แหละคือความทรมานของคนในครอบครัวที่ไม่รู้ชะตากรรมของลูก เราก็จินตนาการไปว่า ลูกฉันยังอยู่นะ เหมือนกันกับกรณีวันเฉลิม น้องชายของฉัน”
ความหวังผลักดันให้สิตานันดำเนินภารกิจตามหาน้องชายมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ทั้งควานหาความคืบหน้าของคดีที่ยังไม่ไปไหน และการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย ซึ่งยังไม่มีผลบังคับในฐานะกฎหมาย
...
เป็นเวลา 1 ปีที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ และผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา ได้หายตัวไปใกล้ที่พักชื่อ Mekong Garden Apartment ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในย่าน Chroy Changva ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563
เป็นเวลา 1 ปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมไทย แต่ขณะเดียวกันบางสิ่งยังคงเดิม มิแปรเปลี่ยน
การปรากฏตัวของผู้สาบสูญในแฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม
1 วันหลังการหายตัวไปจากที่พักในกรุงพนมเปญ วันเฉลิมปรากฏตัวในโลกออนไลน์ผ่านแฮชแท็ก ‘#Saveวันเฉลิม’ ซึ่งถูกกล่าวถึงมากกว่า 576,000 ครั้ง กระทั่งแฮชแท็กดังกล่าวติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน
ในวันเดียวกัน เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) ยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้ติดตามตรวจสอบการบังคับให้หายสาบสูญของผู้ลี้ภัยชาวไทยในต่างประเทศ ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ
ช่วงเย็นวันนั้น สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จัดกิจกรรม "ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน #saveวันเฉลิม" ที่บริเวณ Skywalk หน้าหอศิลป์ กทม.
ไม่กี่วันต่อมา นักศึกษาในนามสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ประกอบด้วย จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกจับกุมขณะกำลังผูกโบว์ขาวเรียกร้องความเป็นธรรมแก่กรณีวันเฉลิมอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและแจ้งข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทำให้แฮชแท็ก #ปล่อยเพื่อนเรา เป็นเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ไทย ก่อนที่นักศึกษาทั้งสามคนจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงหัวค่ำวันเดียวกัน
ในห้วงเวลาหลังจากนั้น การชุมนุมทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษาก็กลายเป็นปรากฏการณ์ ‘ไฟลามทุ่ง’ ไปทั่วประเทศ กระทั่งเกิดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังของปี 2563 ข้อเรียกร้องต่างๆ ถูกนำเสนอผ่านเสียงของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิของ LGBTQ+, การปฏิรูปการศึกษา, ข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ไม่เอา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปจนถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ปรากฏการณ์ ‘Saveวันเฉลิม’ ได้แปรเปลี่ยนจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการตามหาความจริง ให้กลายเป็นประเด็นรณรงค์ให้เกิดกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการบังคับให้สูญหาย มีการอภิปรายในสังคมวงกว้าง ป้ายกระดาษสีเหลืองพิมพ์ใบหน้าบุคคลที่สูญหาย ระบุปีที่พวกเขาหายตัวไป ถูกชูขึ้นในม็อบตลอดปี 2563 พวกเขาแสดงออกว่าต่อต้านความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ และส่งเสียงให้เกิดการจดจำบุคคลที่รัฐอยากให้ลืม
รวมถึงการช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อในเรื่องของการดำเนินการส่งเรื่องร้องเรียนต่อรัฐเพื่อผลักดันให้คดีเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยองค์กรภาคประชาสังคม
จากวันที่ 4 มิถุนายนไปจนถึงสิ้นปี 2563 ใบหน้าและเรื่องราวของผู้ถูกทำให้สูญหายได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เตียง ศิริขันธ์, หะยีสุหลง โต๊ะมีนา, ทนง โพธิ์อ่าน, สมชาย นีละไพจิตร, กมล เหล่าโสภาพันธ์, พอละจี รักจงเจริญ, เด่น คำแหล้, อิทธิพล สุขแป้น, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์, ไกรเดช ลือเลิศ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีระวุฒิ ฯลฯ
พวกเขาล้วนแต่ถูกทำให้มีสถานะไม่ทราบชะตากรรม แต่กลับปรากฏตัวอีกครั้งบนแผ่นป้าย เวทีเสวนา บนเวทีไฮปาร์ค และในความทรงจำใหม่ของสังคมไทย
จากสงครามเย็นถึงรัฐประหารปี 2557 ว่าด้วยการลักพาตัวพลเรือนโดยรัฐไทย
การบังคับบุคคลสูญหาย หรือ ‘การอุ้มหาย’ ถูกนำมาใช้เป็นเทคนิควิธีในการกำจัดศัตรูทางการเมืองและสร้างความสะพรึงกลัวต่อสังคมอย่างเป็นระบบ กองทัพนาซีใช้วิธีนี้เพื่อคุกคามชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลเผด็จการในเอเชียและลาตินอเมริกาต่างก็นำรูปแบบดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อจัดการความขัดแย้งทางสังคมหรือขจัดศัตรูทางการเมืองในช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 เป็นต้นมา ปัจจุบันการบังคับให้สูญหายโดยรัฐยังเป็นเทคนิควิธีที่ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ เช่น อาร์เจนตินาในช่วงสงครามสกปรก (the Dirty War) เนปาล ศรีลังกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย
สำหรับประเทศไทย รัฐรับมรดกนี้เพื่อกำจัดความขัดแย้งทางการเมืองและศัตรูทางการเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 เตียง ศิริขันธ์ ถูกทำให้หายไป, หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ถูกทำให้หายไป, พร มะลิทอง เคยถูกจับกุมในคดีกบฏวังหลวงเมื่อปี 2492 ถูกทำให้หายไป
ในช่วงพุทธทศวรรษ 2490 และ 2500 รัฐบาลไทยมีนโยบายปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายหลังการประท้วงเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ชาวไร่ชาวนาและนักศึกษารณรงค์ให้มีการนําพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านามาใช้ในปี 2517 ในช่วงเวลานั้นพวกเขาก็ตกเป็นเป้าทําร้ายของรัฐ ซึ่งใช้วิธีสังหารบุคคลอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อสร้างความหวาดกลัว ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) เก็บข้อมูลการใช้ความรุนแรงของรัฐในภาคเหนือของไทยในช่วงทศวรรษ 1970 พบว่า ระหว่างเดือนมีนาคม 2517-กันยายน 2522 มีผู้นําชาวนา 33 คนที่ถูกสังหาร 8 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส และหายตัวไป 5 คน
ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือพลเรือน ผู้คนก็ถูกทำให้หายไปเสมอ นโยบายปราบปรามยาเสพติด นับเฉพาะการปฏิบัติงานตามนโยบายในระยะแรก (1 กุมภาพันธ์-30 เมษายน 2546) มีผู้ถูกสังหาร 2,873 คน
การถูกบังคับให้สูญหายถูกนำมาใช้โดยเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน จากที่เคยเป็นกลไกหน่วยงานตำรวจส่วนกลางมาตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2490 การร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายเกี่ยวข้องกับตำรวจท้องถิ่น ตำรวจตระเวนชายแดน ทหารหน่วยงานท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับท้องถิ่น กลไกของรัฐบางส่วนยังทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจเอกชนระดับท้องถิ่น ขณะที่พลเรือนเป็นเหยื่อมากขึ้น
หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ชื่อของวันเฉลิมปรากฏในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 แต่เขาเลือกที่จะลี้ภัยออกนอกประเทศ จึงถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.
เมื่อ 25 มิถุนายน 2561 พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว แถลงที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ว่า จากการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก ‘กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ’ ได้ลงทะเบียนใช้ในชื่อบัญชี Wanchalearm Satsaksit หรือ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 35 ปี (ขณะนั้น) จากการสืบสวนพบว่าหลบหนีไปอยู่กัมพูชา โดยศาลได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาในความผิดฐาน "นำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ปี 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่รายงานในวาระครบรอบ 6 ปีรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า มีผู้ถูกผลักดันให้ลี้ภัยจากสถานการณ์ทางการเมืองและการไล่ล่ากวาดล้างที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 104 ราย ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ทำให้เกิดกลุ่มประชาชนที่ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งด้วยเหตุผลไม่ต้องการเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช., ความหวาดกลัวจากการถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ทหาร หรือการถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 และคดีเกี่ยวข้องกับอาวุธ ซึ่งประชาชนมักมองไม่เห็นทางสู้คดี
มนทนา ดวงประภา เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและนักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ถอดบทเรียนสังคมไทย 1 ปีอุ้มหายวันเฉลิม’ ว่า บริบทหลังรัฐประหารมีการเรียกรายงานตัวเกิดขึ้น บุคคลเหล่านั้นต้องไปรายงานตัวในสถานที่ที่ไม่คุ้นชินนอกเหนือจากโรงพัก ภาวะการเรียกรายงานตัวเช่นนี้ถ้าไม่มีบุคคลที่สามรับรู้ก็เกิดความเสี่ยงให้มีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ทำให้คนเหล่านี้ตัดสินใจออกนอกประเทศ
ในช่วงนั้นรัฐใช้คดี 112 เป็นเครื่องมือจัดการบุคคลที่เห็นต่าง บวกกับนโยบายช่วงนั้นไม่อาจประกันตัวผู้ถูกจับกุมด้วยมาตรา 112 ได้ ผู้ลี้ภัยในเวลานั้นหลายคนจึงไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและตัดสินใจลี้ภัยในที่สุด
“ทั้งยังมีภัยคุกคามรูปแบบหนึ่งคือไม่อนุญาตให้อยู่และไม่อนุญาตให้ตาย นั่นคือการทรมานและบังคับสูญหาย เมื่อเกิดรัฐประหารมีคนถูกบังคับให้สูญหาย 9 คน เจอศพ 2 คน ทั้งสองคนมีลักษณะศพที่เป็นผลจากคนที่ถูกฝึกปรือมาแล้ว เป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ครอบครัวของคนเหล่านี้ที่ต้องพบกับความคลุมเครือที่สร้างความเจ็บปวดให้พวกเขา หากสูญหายไปแล้วหาไม่เจอก็จะเป็นความคลุมเครือไปตลอดกาล และเป็นการทรมานในอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างที่ตัวบุคคลนั้นสัมพันธ์ด้วย"” มนทนา กล่าว
วันเฉลิมไม่ได้เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองรายแรกที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง แต่นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายคนก็ต้องประสบเคราะห์กรรมไม่ต่างกัน โดยพบว่ามีผู้ลี้ภัยไทยก่อนหน้านี้ไม่ต่ำกว่า 8 รายแล้ว ที่ถูกบังคับหายสูญหายและพบกลายเป็นศพถูกฆาตกรรม เช่น กรณีการหายตัวไปของ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และการพบศพปริศนาถูกถ่วงด้วยเสาปูนโผล่บนแม่น้ำโขง
ผ่านไปหนึ่งเดือนแห่งการ ‘ดื้อดึงและยืนยันที่จะส่งเสียง’ ของศพทั้งสอง ในวันที่ 22 มกราคม 2562 ผลการตรวจดีเอ็นเอลูกชายและมารดาของ สหายภูชนะ และ สหายกาสะลอง ไม่ปฏิเสธความสัมพันธ์กับสองศพที่พบ
สองศพที่พบในแม่น้ำโขงคือ สหายภูชนะ และ สหายกาสะลอง ผู้ติดตาม สุรชัย แซ่ด่าน
ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 สยาม ธีรวุฒิ หรือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง นักเคลื่อนไหวและนักจัดรายการวิทยุใต้ดิน พร้อมกับผู้ลี้ภัยอีกสองคน คือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง และ กฤษณะ ทัพไทย หรือ สหายยังบลัด หายตัวไปหลังจากลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ประเทศลาวและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของบุคคลทั้งสาม หนึ่งปีถัดมา ในวันที่ 4 มิถุนายน วันเฉลิมก็ถูกทำให้หายไป
ขณะที่กระบวนการยุติธรรมและการแสวงหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมืองทั้งหมด ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ
คณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติส่งหนังสือ (Joined Allegation Letter) ถึงรัฐบาลไทย, รัฐบาลลาว, รัฐบาลเวียดนาม และรัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ชี้ถึงประเด็นการบังคับสูญหายนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่างจากรัฐบาลที่ลี้ภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าล้วนเกิดขึ้นในรูปแบบที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐ
คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้รับรายงานว่า นักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยกว่า 6 คน ถูกบังคับให้สูญหานอกพรมแดนประเทศไทย กรณีวันเฉลิมเป็นหนึ่งในนั้น
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดฐานความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐในการบังคับบุคคลให้สูญหายตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ปี 2006 (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED)
แม้ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายแล้วเมื่อปี 2555 แต่กลับส่งมอบสัตยาบันสารให้กับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตามข้อกำหนดล่าช้ากว่ากำหนดการหลายปี ความล่าช้าดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) แต่ยังเป็นการท้าทายการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบังคับผู้คนให้สูญหายออกไปจากประเทศนี้ด้วย ซึ่งภายหลังการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557 นั้นจะพบว่า รัฐบาล คสช. ได้ขอเลื่อนการส่งรายงานให้ CAT ด้วย
ยืนหยัดเพื่อคนหายยังคงอยู่
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเด็นการถูกบังคับให้สูญหายได้กลายเป็นประเด็นร่วมสมัยที่สังคมให้ความสนใจ เพราะการพลัดพรากชีวิตหนึ่งโดยอำพรางไม่ให้ครอบครัวรับทราบชะตากรรมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็มองว่าการบังคับให้สูญหายเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ต้องถูกแก้ไข
ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือสภาวะที่ผู้ก่อความรุนแรงเป็นผู้กดขี่อีกฝ่ายหนึ่ง (topdogs) ให้ตกเป็นเบี้ยล่าง (underdogs) ในโครงสร้างทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของรัฐหนึ่งๆ เช่น ระบบกฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กลไกของรัฐที่ปิดกั้นขัดขวางสิทธิเสรีภาพอย่างเป็นระบบ การทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นพลเมืองชั้นล่างโดยกลไกทางกฎหมายของรัฐ เป็นต้น
กระแสรณรงค์ผลักดันให้เกิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงเป็นการท้าทายรัฐบาลและเป็นอีกหนึ่งคำถามที่ส่งตรงไปยังกระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หากเรานับจากการหายตัวไปของวันเฉลิม เราจะได้ยินเสียงที่เปล่งออกมาผ่านพื้นที่ต่างๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์เฟซบุ๊ก รีทวีต แชร์ข่าว พวกเขาพูดถึงการถูกบังคับให้สูญหาย ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
ตลอดทั้งปี 2564 รัฐใช้เครื่องมือทางกฎหมายในการกำจัดการแสดงความคิดเห็น จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2563-2564 ในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 97 ราย ใน 92 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 8 ราย
ในงานเสวนา ‘ถอดบทเรียนสังคมไทย 1 ปีอุ้มหายวันเฉลิม’ สิตานันกล่าวว่า "ทุกวันนี้ยังนอนไม่หลับเหมือนเดิม ต้องเปลี่ยนยาเพื่อรักษาอาการตัวเองไปเรื่อยๆ อยากบอกว่าเราไม่อาจควบคุมการนอนได้ สมองยังคิดตลอดว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร ทำอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีน้องๆ แกนนำหลายคนที่ถูกดำเนินคดี เราจึงรู้สึกถูกกระตุ้นขึ้นมายิ่งทำให้ประเทศไทยไม่ปลอดภัย ภัยเริ่มขยับเข้ามาใกล้ตัวเรื่อยๆ ทำให้คิดเสมอว่าจะต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร และต้องทำอะไรเพื่อจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อประเด็นนี้ให้ได้ เพราะที่ผ่านมารัฐกระทำการบางอย่างต่อผู้ที่ถูกบังคับทรมานและสูญหายมาอย่างยาวนาน ไม่อยากให้เกิดรายต่อๆ ไปทำให้ตนต้องออกมายืนหยัดเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก”
แม้จะนอนหลับอย่างไร้คุณภาพ แต่ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา เธอบอกตัวเองว่า “จะต้องทำให้โลกรู้ความจริงที่จะเกิดขึ้น”.