“สุทิน” สรุปรวบตึงอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 65 อัดล้มเหลวหลายเรื่อง จี้หยุดบริหารประเทศเพื่อชาติ ด้าน “พล.อ.ประยุทธ์” พ้อ หลายเรื่องแจงไปแล้วแต่คงไม่ได้ฟังกัน

เมื่อเวลา 22.07 น. วันที่ 2 มิ.ย. 2564 นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ขึ้นอภิปรายสรุปการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตลอด 3 วันที่ผ่านมา โดยจำลองประเทศไปเป็น “ครอบครัวไทยอุดม” มีหัวหน้าครอบครัวคนล่าสุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประเทศไทยเป็นครอบครัวกำลังพัฒนา (ประเทศกำลังพัฒนา) จัดงบประมาณแบบขาดดุล คือรายจ่ายมากกว่ารายได้ จึงต้องกู้เพิ่ม แต่หัวหน้าครอบครัวบางคนกู้มาแล้วใช้ไม่เป็น ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นจึงเป็นอันตราย พร้อมเปรียบเทียบไปยังสมัย นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กู้ลดลงทุกปี แต่คนล่าสุดกู้สูงขึ้นเรื่อยๆ หนี้สาธารณะสูงจนอันตราย จีดีพีลดลงเรื่อยๆ หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นๆ เข้ามา 4 ปีแรกทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1 ของโลก คนในครอบครัว 67 ล้านเกิดปัญหา เงินขาดแคลน จนต่อมาเกิดการชุมนุมขับไล่ขึ้นทั้งที่ขณะนั้นยังไม่มีสถานการณ์โควิด-19

ต่อมาเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรกปี 2563 จึงทำให้มีข้ออ้าง แต่เป็นโชคร้ายของคนในประเทศ ผู้นำครอบครัวเริ่มคิดกู้เงิน แทนที่จะลงทุนเพื่อให้งอกเงย เก็บภาษี จะไม่ขาดทุนมาก ปีหน้าจะได้กู้น้อยลง กลับนำไปใช้ผิดโดยการแจกผ่านโครงการต่างๆ ส่วนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก็เบิกจ่ายไม่ได้ตามแผน การสาธารณสุขอ่อนแอ ปีนี้จนมุม เชื่อว่าอยากกู้มากกว่านี้ แต่ติดกรอบวินัยการเงินการคลัง จึงได้สูงสุดที่ 7 แสนล้านบาท และยังมี พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 อีก 5 แสนล้านบาท มองว่าปีหน้าขาดดุลมากกว่าเดิมแน่นอน ทำให้ปัจจุบันต้องแบก 5 หนี้ คือ หนี้สาธารณะ, หนี้ครัวเรือน, หนี้สถาบันการเงิน, หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้นอกระบบ รวมถึงยังแก้ไข 3 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณด้วย

...

สำหรับเรื่องที่สมาชิกที่ร่วมกันอภิปรายวิตก 2 เรื่องสำคัญ คือ กลัวเรื่องเศรษฐกิจไม่ฟื้น และกลัวโควิด-19 แก้ไม่ได้ ส่วนเครื่องยนต์ 4 ตัว การท่องเที่ยว การส่งออก, บริโภคครัวเรือน และการลงทุน ตอนนี้เหลือลูกสูบตัวเดียว คือ การลงทุนภาครัฐ ประเทศหวังอย่างเดียวคืองบประมาณ พร้อมชี้ข้อผิดพลาด คือ รัฐบาลประเมินและประมาณการสถานการณ์ผิดพลาด, การลดงบประมาณลงเป็นการประหยัดอดออมหรืออดตาย และต้องแบ่งไว้ลงทุนด้วย ถ้าลดถูกที่เพิ่มถูกทางจะไม่ว่า สงครามโรคจะเอารถถังมาปราบได้อย่างไร

ขณะที่เรื่องวัคซีนโควิด-19 คือความล้มเหลวสิ้นหวังชัดเจน ผู้เสียชีวิตก่อนได้ฉีดวัคซีน ไม่ได้เหน็บแนม แต่ต้องฉีดให้ทันเวลา “วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มาทันเวลาและกระจายอย่างเป็นธรรม” สำหรับวิธีการจัดการวัคซีนที่ดีกว่านี้ ถ้าไม่ทำผิดก็ได้ฉีดทันเวลา รัฐบาลประมาทที่ประเมินผิด รวมถึงการตั้ง ศบค. ให้แพทย์เดินตามหลังทหาร นอกจากนี้ ยังต้องทำงานเชิงรุกถ้าอยากให้ประชาชนได้ฉีดวัคซีน นายกรัฐมนตรีต้องบินไปเจรจา ไม่ใช่ให้วัคซีนวิ่งมาหา จึงไม่เชื่อว่าจะฉีดวัคซีนได้ทันตามแผน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นคนบริหารก็ไม่เชื่อว่าจะบริหารงบได้ เพราะงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ล้มเหลวสิ้นเชิง ต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีด้วย ก่อนทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ทำไม่ได้และไม่มีวันทำได้ คือ เรียกความเชื่อมั่นกลับมา พร้อมขอให้หยุดการบริหารประเทศเพื่อชาติ เพราะมีคนเก่งพอที่จะมาเป็นแทน

ต่อมาในเวลา 23.25 น. พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงโดยสรุปว่า หลายเรื่องชี้แจงไปแล้วแต่คงไม่ได้ฟังกัน และไม่ได้โกรธ แต่เกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิด โครงการต่างๆ ที่ออกมาก็เป็นการขับเคลื่อนผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ค้าปลีก เรามีเงินเพียงพอ และมาตรการระยะสั้นก็ทยอยมาตามลำดับ ส่วนเรื่องจำนำข้าวมีคดีทุจริตที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถูกหรือไม่ พูดแค่นี้ ไม่อยากพูดอีก

สำหรับเรื่องหนี้สาธารณะ เรื่องกู้เงิน ก็อยู่ใต้วินัยการเงินการคลัง โดยนายกรัฐมนตรีติงเรื่องการปรามาสประเทศไทยของสมาชิกในที่ประชุมด้วย อีกทั้งยืนยันไม่ได้ตัดงบที่ดูแลประชาชน และเยียวยาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนประเด็นโคแวกซ์ (COVAX) เป็นโครงการที่ต้องร่วมลงทุน ไทยพยายามเจรจามาตลอด แต่เราอยู่ในประเทศฐานะปานกลาง ต้องซื้อราคาที่แพงกว่า เลือกยี่ห้อไม่ได้ ไม่แน่นอน และต้องจ่ายเงินล่วงหน้าด้วย เพราะฉะนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของไทยที่ผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทุกมิติแล้ว

ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณที่ผู้อภิปรายให้ความคิดเห็น และข้อสังเกตการจัดทำงบประมาณภายใต้สถานการณ์การแพร่โควิด ย้ำว่าให้ความสำคัญประชาชนและประเทศชาติ เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศให้พ้นวิกฤติและฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว รัฐบาลทำเต็มที่ พร้อมฝากให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาทำร่างงบประมาณให้เป็นไปด้วยความรอบคอบยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการลงมติผลปรากฏว่าเสียงข้างมากรับหลักการร่างงบประมาณ 2565 จึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 72 คน เพื่อพิจารณาศึกษาต่อไป.