"อัครเดช" ขอ รัฐบาลปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้ความเจริญเข้าถึงทุกจังหวัด
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้รัฐบาลรับไปปรับปรุงและแก้ไขในการที่จะทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณในปีต่อๆ ไป พร้อมกับตั้งข้อสังเกตใน 2 เรื่องหลัก
การลดความเหลื่อมล้ำในการใช้จ่ายงบประมาณ ที่ผ่านมารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับตัวเลข GDP เพื่อแสดงการเติบโต แต่ที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ตั้งแต่ปี 2554 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีต่อปีนั้นโตขึ้นทุกปี โดยในแต่ละปีก็โตต่อเนื่องมาตลอด และมาตกลงในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤติไวรัส Covid-19 ที่ตกลงมาเหลือ 15.69 ล้านล้านบาท ขณะที่ตัวเลข GDP โตขึ้น แต่พี่น้องประชาชนยังบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งเมื่อดูที่หนี้สินของพี่น้องประชาชน หรือเม็ดเงินในกระเป๋าของพี่น้องประชาชน ซึ่งจะใช้หนี้ครัวเรือนใช้เป็นตัวชี้วัด ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปีที่แล้วสูงสุด อยู่ที่ 89.3% ของ GDP หากเทียบกับปี 54 จะอยู่ที่ 66.2% และสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 55-56 เป็นต้นมา โดยจะเป็นตัวชี้วัดว่าพี่น้องประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น และเป็นหนี้ต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลจากสถาบันการเงิน และยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีกจำนวนมหาศาล
นายอัครเดชกล่าวว่า หากจะรวมหนี้นอกระบบด้วย ก็จะมากกว่า GDP ของประเทศ ดังนั้นการที่ประชาชนดูตัวเลข GDP แล้วคิดว่าเศรษฐกิจดี ขณะที่เงินในกระเป๋าของพี่น้องประชาชนน้อยลง นั่นเป็นเพราะว่ารัฐบาลได้ขับเคลื่อน GDP ผ่านการลงทุนภาครัฐ ไปผ่านเรื่องของการส่งออก แต่การบริโภคประชาชนน้อยลง
...
"ท่านเอางบประมาณไปสร้างรถไฟความเร็วสูง ท่านเอาไปสร้างรถไฟฟ้าท่านเอางบประมาณไปสร้างรถไฟรางคู่ ท่านไปลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ถามว่าดีกับประเทศหรือเปล่า ก็ต้องตอบว่า ดี แต่เม็ดเงินเหล่านี้ไม่ถึงพี่น้องประชาชน อันนี้คือสิ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับพี่น้องประชาชน อยากจะให้รัฐบาลคิดว่าจะทำอย่างไร ในการที่เราจะใช้งบประมาณแล้วเราก็อัดฉีดเม็ดเงินไปให้ถึงพี่น้องประชาชน นอกจากงบเยียวยาโควิด-19 ที่รัฐบาลได้ใช้ไปที่ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น 1 ล้านล้านแล้วก็จะขอกู้อีก 5 แสนล้าน ที่รัฐบาลเยียวยาผ่านบัตรประชารัฐ ผ่านโครงการต่างๆ เงินงบประมาณที่ลงไป ไปอยู่กับนายทุนไปอยู่กับผู้รับเหมารายใหญ่ ทำยังไงให้เงินงบประมาณที่ใช้จ่ายปกติไปถึงมือพี่น้องประชาชนโดยไม่ต้องรองบประมาณจากเงินกู้โควิด แล้วเงินที่กู้มาเยียวยา 4 แสนล้าน ปีนี้จะกู้อีก 5 แสนล้าน จะทำยังไง" นายอัครเดชกล่าว
สำหรับในประเด็นที่ 2 เรื่องความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ พบว่า งบประมาณที่กระจายไปแต่ละจังหวัด 76 จังหวัดเป็นงบประมาณที่พี่น้องประชาชนได้รับว่าเป็นยังไงบ้าง ส่วนตนอยู่จังหวัดราชบุรี งบประมาณของจังหวัดราชบุรีอยู่อันดับที่ 6 ของจังหวัดที่ได้งบประมาณน้อยที่สุด คือ 4,564 บาทต่อหัวต่อประชากร ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่ไม่รวมกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 7,349 บาท ต่อหัวต่อประชากร ดังนั้นสิ่งนี้คือความเหลื่อมล้ำ
"หากลองเข้าไปดูงบประมาณก็พบว่า งบประมาณจะไปลงในจังหวัดที่มีค่า GPP per capita สูง ก็จะได้งบประมาณมาก ส่วนจังหวัดที่มีค่า GPP per capita ต่ำก็จะได้งบประมาณน้อย และจังหวัดที่ได้งบประมาณมากก็จะได้งบฟังก์ชัน งบภารกิจตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เมื่อไปดูงบจังหวัด งบไหนที่มีประสิทธิภาพสูงก็ได้งบประมาณมาก งบท้องถิ่นก็มากไปด้วย ก็ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับพี่น้องประชาชนในประเทศ"
ดังนั้นนายอัครเดช จึงอยากให้รัฐบาลได้ปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณลดความเหลื่อมล้ำให้กับพี่น้องประชาชน จังหวัดที่เจริญอยู่แล้วพี่น้องประชาชนก็บ่นมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มีปัญหาทางสังคม ปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อน ชุมชนแออัดกระจายไป ส่วนจังหวัดที่ได้งบประมาณน้อยความเจริญก็ไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงควรกระจายความเจริญ กระจายโครงการไปยังจังหวัดที่รอความเจริญ และอยากให้รัฐบาลได้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณของแต่ละจังหวัดโดยลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเพิ่มตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำมาเป็นตัวพัฒนาในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ ขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดให้ผู้ที่ทำงบภารกิจของกระทรวง ทบวง กรม งบจังหวัด จะต้องมาบูรณาการร่วมกันทำตัวชี้วัดร่วมกัน เพื่อจะได้ลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดที่ได้งบประมาณน้อย เพื่อให้จังหวัดที่มีงบประมาณต่อหัวน้อยให้กลับมาสูงขึ้น ให้เกิดความยุติธรรม
นายอัครเดช กล่าวต่อไปว่า เมื่อดูงบประมาณปีนี้ รัฐบาลได้ปรับลดงบประมาณลงประมาณ 6-7% เนื่องจากเรื่องของรายได้รัฐบาล ความจำเป็นในการที่จะจัดเก็บรายได้ ความจำเป็นในการใช้จ่าย แต่ก็ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ไม่ปรับลดงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือปรับลดลงน้อยมากอยู่ที่ 0.55% ส่วนปีหน้าถ้ามีโอกาสก็ขอให้เพิ่มงบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย โดยเฉพาะของกรมชลประทาน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีคลองชลประทานใช้ หลังจากที่ต้องรอคอยกันมา 20-30 ปี ซึ่งจะเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรทุกสาขาอาชีพ ทั้งการเกษตรนวัตกรรม ปศุสัตว์.