"สิริพงศ์" แย้ม "คมนาคม" เตรียมวอล์กเอาต์ ไม่ร่วมพิจารณาวาระขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชี้หาก ครม.ทำคลอดจะยื่นฟ้องศาลทันที ด้านเวทีเสวนาค้าน ลักไก่ต่อสัมปทาน 30 ปี แนะตั้งคณะทำงานพิจารณาหาทางออกร่วมกัน หากยืนยันเก็บ 65 บาท ก็ไม่ควรเป็นรัฐบาล เพราะไม่รักษาผลประโยชน์ให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.64 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเสวนา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม "Zoom" ค้าน ครม.ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่คาดว่า จะถูกบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วน ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมในวันอังคาร ที่ 1 มิ.ย.นี้
โดยมี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมการเสวนาในครั้งนี้
โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า ตนตกใจและผิดหวังที่จะมีการนำเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้ ครม.พิจารณา ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้สิ่งที่อยากเห็นในมติ ครม.จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องราคาต้องต่ำกว่า 44 บาท เพราะเป็นการต่อสัญญาล่วงหน้า และยืนยัน 25 บาท กทม.ก็ยังมีกำไรถึง 23,200 ล้านบาท อีกทั้งหวังว่าจะมีการชะลอการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว และตั้งคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกัน และหากพรุ่งนี้ในมติ ครม.รัฐบาลยืนยันจะเก็บ 65 ไป-กลับ 130 บาท หรือ 40% ของค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลก็ไม่ควรเป็นรัฐบาล เพราะไม่ได้รักษาผลประโยชน์ให้ประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่รักษาประโยชน์ไม่ได้มีหน้าที่สร้างภาระให้กับประชาชนไปอีก 38 ปี
...
ด้าน นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงคมนาคมที่พรรคภูมิใจไทยดูแลด้วย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำเรื่องเข้า ครม.ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านถึงนายกรัฐมนตรี ในเรื่องความครบถ้วนของสัญญาสัมปทาน และเหตุใด กทม.ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงโอนหนี้ไปให้กับเอกชน เขาสามารถโอนหนี้ไปให้กับเอกชนได้ด้วยหรือไม่ รวมถึงประเด็นในข้อกฎหมายที่ กทม.ไปตั้งบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นมา ที่กำลังถูกฟ้องร้อง ชื่อ บริษัท กรุงเทพธนาคม และไปจ้างบริษัทอื่นเดินรถ เป็นการหลบเลี่ยงทางกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้หากมีการบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ คิดว่ากระทรวงคมนาคมจะไม่เข้าร่วมการพิจารณาใดๆ ส่วนตนอาจจะต้องดำเนินการยื่นฟ้องที่ศาลปกครองอีกครั้ง
ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล กล่าวว่า ตนรู้สึกผิดหวังหน่วยงานที่จะนำเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว บรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วน ทั้งที่ไม่มีเปิดเผยรายละเอียดและแก้ไขสัญญา และเรียกเก็บ 65 บาทตลอดสาย โดยไม่ลองพิจารณาทางเลือกอื่นๆมาเปรียบเทียบที่หลายฝ่ายได้เสนอ แต่ยังเอาเรื่องเดิมๆร่างสัญญาสัมปทานเดิมที่ไม่เปิดเผยรายละเอียด รวมถึงค่าโดยสารที่ระบุไว้ 65 บาทนั้น ไม่มีที่มาที่ไปไปบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนใน ครม. นอกจากนี้ในมุมมองตนอยากเห็นรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ เป็นระบบเดียวกันทั้งระบบเหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลคือกระทรวงคมนาคม และ กทม.พัฒนาโครงการแยกกันคนละโครงข่าย ทำให้ปัญหาต่างๆที่ตามมาและมีค่าโดยสารที่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต
ขณะที่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะต่อสัญญาสัมปทานไป 30 ปี และเรียกเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย เพราะต้นทุนจริงเพียง 13 บาทต่อเที่ยว ดังนั้น เมื่อหมดสัญญาสัมปทานในปี 2507 การเก็บ 25 บาท จึงมีความเป็นไปได้ เพราะไม่มีเรื่องโครงสร้างต้นทุน นอกจากนี้ บีทีเอสยังมีรายได้อื่นๆ เช่น โฆษณาจากทุกช่องทาง อีกทั้งตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจึงเร่งรีบนำเข้า ครม.ในช่วงที่คนกำลังให้ความสนใจเรื่องวัคซีนโควิด-19 กัน
ด้าน นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ออกมาเรียกร้องเรื่องอัตราค่าโดยสารที่แพง ขอให้เก็บ 25 บาทตลอดสาย และชะลอการต่อสัญญาสัมปทานไปก่อนไม่ต้องเร่งรีบ เพราะยังเหลือเวลาอีก 8 ปี จึงจะหมดสัญญา ทั้งนี้อยากให้มีการตั้่งคณะทำงานร่วมกันเอาข้อมูลที่ถูกต้องเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาหารือกัน
"เมื่อเดือน เม.ย.นายกรัฐมนตรีเคยออกมาพูดเรื่องรถไฟฟ้าว่า ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นคำมั่นสัญญา หากพรุ่งนี้ ครม.มีมติออกมาว่าต่อสัญญาสัมปทาน ก็คงจะต้องร่วมกับทาง ส.ส.สิริพงศ์ ว่า เราจะไปฟ้องศาลปกครอง และเราก็จะหยุดเรื่องนี้ และเดินหน้าฟ้องศาลปกครองแน่นอน" นายคงศักดิ์ กล่าว