วัคซีนภาครัฐ-วัคซีนทางเลือก นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข ฉายภาพให้เห็นถึงรูปแบบการบริหารจัดการวัคซีนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เริ่มแรก สธ.ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 มีปลัด สธ.เป็นประธาน โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายฯและ รมว.สธ. สนับสนุนและบริหารจัดการเต็มที่ เพื่อจัดหาวัคซีนให้สำเร็จ
ขณะเดียวกันภาคเอชนก็ขอเข้ามาช่วยเหลือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯในฐานะ ผอ.ศบค. จึงตั้งคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนทางเลือกฯ มีนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน

วัคซีนภาครัฐ มีแอสตร้าเซนเนกา ซิโนแวค และอีกหลายตัวที่จะเข้ามา ทั้งไฟเซอร์ จอร์นสันแอนด์จอร์นสัน อาจมีสปุตนิกด้วย ส่วนวัคซีนทางเลือก เช่น โมเดิร์นนา โรงพยาบาลเอกชนจัดหา ฉีดเสียค่าใช้จ่าย
โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นตัวแทนภาครัฐเข้าไปสนับสนุนภาคเอกชน กรณีบริษัทวัคซีนมีเงื่อนไขขายให้ภาครัฐเท่านั้น องค์การเภสัชกรรมเป็นฝ่ายลงนามในหนังสือและต้องได้รับความเห็นขอบจากปลัด สธ.ก่อน
สธ.พยายามจัดหาวัคซีน ภาคเอกชนก็เข้ามาช่วย กลายเป็นทีมไทยแลนด์ เพื่อจัดหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด แต่การจัดหาวัคซีนไม่ง่ายเหมือนที่เราคิด เพราะทั่วโลกต้องการวัคซีนเยอะมาก เป็นตลาดของผู้ขาย ต้องอาศัยการทูต คอนเนคชันต่างๆ
...
เหมือนเราได้ซิโนแวคจากประเทศจีน ก็มาจากมิตรประเทศ และไม่ได้นิ่งนอนใจติดต่อทางสหรัฐอเมริกา ดำเนินการทุกทางตามที่นายกฯสั่งมา เพื่อให้ได้วัคซีนเร็วที่สุดและหลายชนิดที่สุด
วันนี้มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรในการจัดหาวัคซีนตามปฏิทินล็อตแรกในเดือน มิ.ย. นพ.โสภณบอกว่า เป้าหมายฉีด 70% หรือ 50 ล้านคนของจำนวนประชากร 70 ล้านคน รวมแรงงานต่างด้าว ฉีดคนละ 2 เข็มรวม 100 ล้านโดส และเพิ่มเป็น 150 ล้านโดส เตรียมพร้อมสำหรับเข็ม 3
“เราดิวแอสตร้าเซนเนกา ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ กำหนดส่งมอบเดือน มิ.ย. แอสตร้าเซนเนกาที่เป็นบริษัทแม่ รับผิดชอบจัดหาวัคซีนให้ประเทศไทย
จะเป็นวัคซีนที่สยามไอโอไซเอนซ์หรือจากที่อื่นๆด้วย แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นจากสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งผลิตและเพื่อขายในอาเซียน
เดือน มิ.ย.เราวางแผนเอาไว้ 6 ล้านโดส เดือนต่อไปถึงเดือน ธ.ค.อีกรวมทั้งหมด 61 ล้านโดส คู่สัญญาระหว่างบริษัทแอสตร้าเซนเนกากับกรมควบคุมโรค ก็พยายามทำให้ได้ตามที่เราขอไป”

เดือน มิ.ย.อยากรู้ว่าได้วัคซีนไหม แอสตร้าเซนเนกายังยืนยันเดือน มิ.ย.น่าจะส่งให้ได้ ส่งทันวันที่ 7 มิ.ย.หรือไม่พยายามคุยกันอยู่ ผมยังคิดว่าน่าจะได้ เพราะเคยมีข่าวมาว่าเขาจะส่งต้นเดือน มิ.ย. คุยไปคุยมาก็มีข่าวดีว่าสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตดีมากเลย
บางล็อตผลิตเสร็จส่งไปตรวจสอบคุณภาพที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา เคยมีข่าวจะส่งได้ปลายเดือน พ.ค.64 ด้วยซ้ำไปและต้องนับเวลาสำหรับระบบโลจิสติกส์ด้วย 1 วันสามารถ
ส่งกระจายไปทั่วประเทศได้ 7 แสนโดส จึงเป็นที่มาการกำหนดฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย.64
สมมติส่งวัคซีนวันที่ 6 มิ.ย.แล้วไม่ทันก็ต้องขออภัยจริงๆ บางครั้งเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมาย เพราะบริษัทแอสตร้าเซนเนกายึดมาตรฐานมาอันดับหนึ่ง
ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นช่วงเดือน ก.พ.64 มีแอสตร้าเซนเนกาเข้ามา 1ล็อต มีกำหนดฉีดให้นายกฯ ฉีดให้รองนายกฯและ รมว.สธ.เป็นซิโนแวค แต่เอกสารใบรับรองคุณภาพ ยังไม่มา เขาไม่ยอมปล่อยให้ฉีด
จุดนี้จึงบอกได้แค่เดือน มิ.ย. แต่บอกเรา 100% ไม่ได้ว่าเป็นวันนั้นเท่าไหร่ วันนี้เท่าไหร่
ระยะแรกสภาพคงเป็นแบบนี้ หลังเริ่มส่งมอบวัคซีนให้เราได้แล้ว ก็ยังมั่นใจจะส่งมอบให้เดือนละ 10 ล้านโดส คงไม่ใช่มาทีเดียวทั้งหมด จะทยอยมาในเดือนนั้นๆ
ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งตอนนี้บริหารจัดการวัคซีนยากมาก
การบริหารจัดการวัคซีนยากอย่างไร นพ.โสภณ บอกว่า หลักการฉีดให้ประชาชนเร็วและครอบคลุมภายใต้ 3 ปัจจัย ทั้ง 1.ความต้องการของประชาชน 2.ศักยภาพในการฉีด และ 3.ซับพลายวัคซีน
ปัจจัยที่ 3 น่ากังวล ทำอย่างไรให้มีซับพลายวัคซีนและซับพลายชนิดวัคซีนมากเพียงพอ
ฉะนั้นในเดือน มิ.ย.และ ก.ค. ได้วัคซีน 16 ล้านโดส กลุ่ม 1 ลดการเสียชีวิต ลดการป่วยหนัก ในผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เปิดจองผ่าน
หมอพร้อมทั่วประเทศ 16 ล้านคน จองเข้ามาแล้วประมาณ 8 ล้านคน
เหลืออีก 8 ล้านโดส ทำให้ ศบค.บริหารจัดการวัคซีนให้ตรงกับสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น กลุ่มเสี่ยง กลุ่มแพร่เชื้อได้ กลุ่มให้บริการสาธารณะ พื้นที่ที่ระบาด พื้นที่ที่เดินหน้าเศรษฐกิจอย่าง จ.ภูเก็ต
ซึ่งต้องเป็นพื้นที่จังหวัดเปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถ้าไปเอาทุกจังหวัด ทั้งเกาะสมุย กระบี่ พังงา เชียงใหม่ ชลบุรี พัทยา มันเป็นไป ได้ยาก กลายเป็นเบี้ยหัวแตก สุดท้ายไม่สำเร็จสักพื้นที่
รัฐบาลและ ศบค.จึงโฟกัสภูเก็ต เพราะมีพื้นที่เป็นเกาะภูเก็ตฉีดเป็นไปตามเป้า อีกไม่กี่แสนโดสก็จบ ปิดจ๊อบ
ขณะเดียวกันการจัดสรรวัคซีน ก็ต้องมีเก็บสำรองไว้ส่วนหนึ่ง
เพื่อเอาไว้ใช้ในพื้นที่ที่มีการระบาด เช่น กรณี จ.เพชรบุรี ใครจะไปรู้ว่าจะเกิดแบบนี้ขึ้นมา
และต้องมีซับพลายซิโนแวค ซิโนแวคมาก็จะมีวิธีการบริหารเพิ่มไปยังบางพื้นที่ ต่อไปอาจใช้ แอสตร้าเซนเนก้าในพื้นที่สีแดง
ซิโนแวคอาจใช้ในพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือพื้นที่ที่ไม่ใช่สีแดง

ทำไมไม่เร่งเจรจากับบริษัทวัคซีนอื่น หรือมั่นใจในบริษัทที่เจรจาจะส่งมอบวัคซีนได้ตามกำหนด หรือเจรจาแล้วไม่สำเร็จหรือไม่พยายามเปิดเจรจา นพ.โสภณ บอกว่า รมว.สธ.เปิดเจรจากับบริษัทวัคซีนเยอะมาก แต่ทุกบริษัทมีหลักการลงนามไม่เปิดเผยความลับ ต่างฝ่ายต่างเป็นความลับ ทุกบริษัทที่เจรจาเราอยากได้วัคซีนเร็วที่สุด สิ่งที่ สธ.อยากรู้มากที่สุดคือส่งวัคซีนได้เมื่อไหร่
ยืนยันไม่ได้เปิดเจรจากับบริษัทวัคซีนต่างๆล่าช้า เช่น ไฟเซอร์ เปิดเจรจาตั้งแต่ปี 63 และเจรจาปีนี้ การส่งมอบก็ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ มันเงื่อนไขอะไรหลายอย่าง ไม่เหมือนเข้าไป ซื้อของในร้านสะดวกซื้อแล้วได้เลย
รัฐบาล-สธ.ถูกกดดัน ประชาชนก็ต้องการวัคซีน ผู้นำมีเซ้นส์คนไหนจะไม่รีบนำเข้าวัคซีน มีค่าหัวคิวจากวัคซีน ทำให้การนำเข้าล่าช้า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นพ.โสภณบอกว่า ผมไม่เคยได้ยิน ขอถามว่าเราต้องง้อเพื่อซื้อวัคซีนและทั่วโลกต้องการวัคซีน ทำไมเขาต้องจ่ายค่าหัวคิว ไม่เช่นนั้นไปขายที่อื่นไม่ดีกว่าหรือ
หลังเริ่มฉีดวัคซีนเดือน มิ.ย.64 ศบค.-สธ.จะรวมแรงร่วมใจรบเอาชนะโควิดโควิดได้อย่างไร นพ.โสภณ บอกว่า วัคซีนมาช่วยได้เยอะ ถ้าไปดูประสบการณ์ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา 30-40% ลดการป่วย ลดการเสียชีวิต
เริ่มแรกลดการเสียชีวิตก่อน ถ้าลดการป่วยต้องขึ้นอยู่ที่การเคลื่อนย้าย การรวมกลุ่มรวมถึงมาตรการทาง สังคม มาตรการองค์กรมาตรการส่วนบุคคล
อย่าอาศัยแค่วัคซีนที่เปรียบเหมือนเกราะชั้นใน อยู่ในเลือดเป็นแอนตี้บอดี้ ถ้าเกราะนอกการ์ดไม่ตกมาตรการตามกฎหมายต้องถือดาบจัดการอย่างเข้มงวด
ทั้งตามตะเข็บชายแดน ปิดผับ ปิดบาร์ บ่อน แบบนี้ถึงรบชนะโควิด
ทำไม ศบค.และ สธ.ถูกมองว่าทำงานไม่เป็นเนื้อเดียวกัน นพ.โสภณ บอกว่า วันนี้ต้องร่วมมือกัน ไม่เช่นนั้นสู้โควิดไม่ได้ ใน ศบค. มีปลัด สธ. อธิบดีกรมควบคุมโรค อยู่ด้วย สธ.และ กทม.ก็มีคนเชื่อมประสาน
ที่สำคัญเมื่อหารือเสร็จ มีแผนออกมา ศบค.เหมือนเป็นฝ่าย
เสธ.วางยุทธศาสตร์ เป็นวอร์รูม ก็บอกว่าจะรบอย่างไร แล้วไปช่วยกันออกรบให้ได้รับชัยชนะ สธ.ก็มีอีโอซี (ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข) ทั้งหมดก็นั่งปรึกษา วางยุทธศาสตร์ ติดตามการทำงานกันอยู่
หัวของแต่ละกลุ่มก็ไปปรึกษาหารือกัน กทม.ก็มีฝ่าย เสธ. เขาก็รับฟังจากฝ่าย เสธ.
การรบสู้มันต้องจุดเดียว ไม่ใช่ต่างคนต่างไปคนละทาง มันจะแย่
วันนี้ต้องฟัง ศบค.เป็นหลัก เพราะกลั่นกรองรับฟังมาอย่างรอบด้าน
แม่ทัพสั่งสู้รบอย่างไร ก็ต้องรบแบบนั้น.
ทีมการเมือง