รมว.คลัง ปรับ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ช่วยผู้ประกอบการเร่งด่วน ไม่ให้สถานการณ์บานปลาย  ด้าน "พิจารณ์" เเนะ รัฐบาลผุดคลินิกช่วยกู้ เตือน "บิ๊กตู่" หยุดโม้ แก้โควิด-19 ดีกว่าชาติอื่น

วันที่ 27 พ.ค. การประชุมสภาฯ ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณา พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างยาวนาน กว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงต้องมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก และลดภาระหนี้ มาตรการต่างๆ ต้องทำโดยเร่งด่วนเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจ มีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ไม่ต้องถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้ หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

ทั้งนี้ มี ส.ส.อภิปรายท้วงติงหลายประเด็น อาทิ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลน มาแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ ครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 แต่กลับไม่มีเป้าหมาย ธปท.เร่งสร้างความมั่นใจให้ธนาคารต่างๆ ว่า พร้อมชดเชยหนี้เสียในเวลาที่เหมาะสม ต้องเพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ รัฐบาลควรตั้งคอลเซ็นเตอร์รวมถึงโครงการคลินิกช่วยกู้ เพื่อรับเรื่องให้คำปรึกษาระหว่างเอสเอ็มอีกับสถาบันการเงิน

...

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม หยุดโม้คุยโวว่า ดูแลการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำได้ดีกว่าชาติอื่นๆ แต่ให้มองด้านความเสียดายทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เสียหายน้อยกว่าชาติอื่นเลย ประชาชนทำธุรกิจอยู่ดีๆ กลับกลายต้องมีปัญหา โดยที่รัฐหยิบยื่นซอฟต์โลน และความเป็นหนี้ให้ ทั้งที่ผลกระทบเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากการบริหารธุรกิจผิดพลาด แต่เป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวผิดพลาดไม่รอบคอบ ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ปล่อยให้ลักลอบเข้าเมืองจนนำมาสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ และเป็นรัฐบาลเองที่การ์ดตก รัฐต้องกล้าจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนตำหนิ ว่าให้เงินแก่ผู้ที่ไม่สมควรได้ เพื่อช่วยกู้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่” นายพิจารณ์ กล่าว