โฆษก สธ.เผย บริษัท "แอสตราเซเนกา" พร้อมปฏิบัติตามสัญญา ส่งมอบ ฉีดวัคซีน ภายใน มิ.ย. 64 ส่วนกรณีจัดสรรวัคซีนให้ต่างจังหวัดสูง แม้ไม่ใช่พื้นที่ระบาด เหตุจัดสรรตามกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยง
วันที่ 26 พ.ค. นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องบริษัทแอสตราเซเนกา อาจส่งมอบวัคซีนไม่ทันเดือนมิถุนายน ว่า บริษัท แอสตราเซเนกา ไม่ได้กำหนดส่งในวันที่ 1 มิถุนายน นี้ แต่จะเริ่มจัดส่งภายในเดือนมิถุนายน และทางบริษัทก็รับทราบกำหนดการที่รัฐบาลวางแผนฉีดวัคซีนแบบปูพรมอยู่แล้ว ทั้งนี้ ทางบริษัทต้องปฏิบัติตามสัญญา ส่วนการบริหารจัดการทางภาครัฐได้มีแผนสำรองสำหรับทุกสถานการณ์และจะทำอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้ไทยพ้นจากมหาวิกฤติครั้งนี้โดยเร็วที่สุด
"ส่วนการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่พบว่าต่างจังหวัดมีปริมาณสูง แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ระบาด เนื่องจากจัดสรรตามกลุ่มอายุประชากรผู้สูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยง อย่างในจังหวัดสกลนคร เป็นเมืองผู้สูงอายุ จึงมีการจัดสรรวัคซีนไปเพื่อผู้สูงอายุตามจำนวนที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์ ส่วนจังหวัดนนทบุรี แม้เป็นพื้นที่สีแดง แต่ผู้สูงอายุมีจำนวนน้อย จึงจัดสรรเท่าจำนวนจริงของผู้สูงอายุ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดสรรวัคซีนซิโนแวคไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา" โฆษก สธ. กล่าว...
นายแพทย์รุ่งเรือง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงเรื่องยอดการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และปัญหาการบริหารจัดการในพื้นที่กรุงเทพฯด้วยว่า เป็นไปตามข้อสังเกตของนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ให้ข้อมูลว่า ระบบสาธารณสุข กทม. ที่ถูกเรียกว่า เป็นเขตปลอดกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีทรัพยากรมาก แต่ด้านของสาธารณสุข กลับมีความเข้มแข็งน้อยกว่าต่างจังหวัดหลายเท่าตัว
...
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในต่างจังหวัด ยังมีโรงพยาบาลประจำอำเภอ คนที่ต้องการที่จะผ่าไส้ติ่ง สามารถเดินเข้าไปแอดมิดและผ่าตัดได้เลย ในขณะที่คนกรุงเทพฯ จะต้องหาโรงพยาบาล หรืออาจต้องเป็นของเอกชน เพราะไม่มีโรงพยาบาลประจำเขต นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมการระบาดในกรุงเทพฯ จึงมีปัญหาเรื่องการหาเตียงของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุรพงษ์ เชื่อมั่นในหลักการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น แต่การให้ความสำคัญของท้องถิ่นต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะ กทม. จะต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าโครงสร้างของ กทม. อาจมีหลายเรื่องที่ซับซ้อน และแก้ไขได้ยาก
"สัดส่วนของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 70% เป็นโรงพยาบาลในภาคเอกชน ส่วนอีก 30% เป็นของหน่วยงานรัฐ และแบ่งแยกย่อยกันไปตามสังกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัด กทม. และโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข" โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว...