“จุรินทร์” รองนายกฯและรมว.พณ.ในฐานะหัวหน้าปชป. ชงวิป 3 ฝ่าย เร่งถกงบฯ ปี 65 ต้องเสร็จใน 105 วัน ยัน พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ฟื้นเศรษฐกิจ
วันที่ 23 พ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ศบค.ออกมาตรการคุมเข้มที่อาจส่งผลกระทบต่อการประชุมกรรมาธิการคณะต่างๆ ของสภาฯ และอาจกระทบต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำตามกฎ แต่อย่างไรก็ตาม ในสภาฯ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา และวิปทั้ง 3 ฝ่าย ที่จะต้องมาคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร สำหรับในส่วนของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 หากไม่มีการประชุม หรือยังไม่สามารถที่จะประชุมคณะกรรมาธิการได้ จะมีผลกระทบในเงื่อนเวลา เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ส่งถึงรัฐสภาแล้ว สภาฯจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 105 วัน ซึ่งขณะนี้ถือว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 65 ได้ส่งถึงสภาฯแล้ว เงื่อนเวลา 105 วันได้เริ่มนับหนึ่งแล้ว หากผ่านวาระที่ 1 และไปสู่วาระที่ 2 ของการตั้งกรรมาธิการ แล้วหากกรรมาธิการไม่สามารถประชุมได้ ก็จะมีผลกระทบในเรื่องเงื่อนเวลาการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วิป 3 ฝ่าย ต้องไปพิจารณาร่วมกันว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะว่า หลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว วุฒิสภาก็มีเงื่อนเวลาที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน มีระบุกำกับไว้ด้วยตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า หากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 สะดุดหยุดลง จะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างไร หรืออาจต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าจะสามารถเลื่อนออกไปได้หรือไม่ เพราะขณะนี้เลขานุการประธานสภาฯ ยืนยันแล้วว่า ขณะนี้ถือว่า พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 65 ได้ส่งถึงสภาฯแล้ว เมื่อวันที่ 17 พ.ค.แล้ว คิดว่า วิปฯต้องรีบประชุม และต้องรีบหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าหากไม่สามารถประชุมกรรมาธิการได้ หรือกรรมาธิการจะต้องเร่งรัดทำให้เสร็จเร็วเป็นพิเศษ เพราะเวลา 105 วันได้บังคับอยู่ว่านับหนึ่ง จากวันที่ 17 พ.ค. ก็ขอให้ผู้ที่มีหน้าที่ได้แจกแจงรายละเอียดในสภาฯ เมื่อถึงเวลาที่มีการอภิปราย
...
“ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีรัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาทนั้น เรื่องนี้ผมได้เคยให้ความเห็นไปแล้วว่า รัฐบาลก็ต้องพิจารณาตามความจำเป็นทั้งสองด้าน ทั้งในด้านของการแก้ปัญหาโควิด-19 และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะทั้งสองปัญหานี้ถือเป็นเงื่อนปัญหาที่เราจะต้องพาประเทศฟันฝ่าให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ซึ่งเงินกู้ที่จะมีการดำเนินการนั้นก็จะต้องมุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ปัญหาทั้งสองส่วนไปด้วยกัน” นายจุรินทร์ กล่าว.