“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส เรียกประชุม คกก.ป้องกันฯ การเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางโซเชียลฯ นัดแรก ไฟเขียว เตรียมออกร่างประกาศกระทรวงฯ หลักเกณฑ์เก็บ Log files หนุน พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ตามทันยุคโซเชียล

วันที่ 20 พ.ค. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (20 พ.ค.64) ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ใช้บังคับมานานเพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากล และสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานทั้งในโซเชียลมีเดีย และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ

โดยคณะทำงานอยู่ระหว่างการพิจารณา (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. .... และแนวทางการกำกับดูแลและการลงทะเบียนผู้ใช้งาน Social Media โดยดูจากแนวทางของต่างประเทศเป็นต้นแบบ คาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ และจะรับฟังความคิดเห็น จากผู้เกี่ยวข้องต่อไป 

สำหรับสรุปผลการดำเนินงานด้านการป้องกันปราบปรามของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยกระทรวงดิจิทัลฯ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ศปอส.ตร. (PCT) ในช่วง 2 เดือนนี้ (เม.ย.- พ.ค. 64) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง (Verify) ทั้งหมดจำนวน 683 เรื่อง ได้รับการตรวจสอบแล้ว 348 เรื่อง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบแล้ว 160 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 121 เรื่อง ข่าวจริง 15 เรื่อง บิดเบือน 24 เรื่อง

...

นอกจากนี้ กระทรวงอีดีเอส ได้ดำเนินการปิดกั้นข้อมูล ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอปิดกั้น จำนวน 16 คำร้อง 349 ยูอาร์แอล ศาลมีคำสั่งให้ระงับแล้ว 4 คำร้อง และเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 12 เรื่อง 256 ยูอาร์แอล อีกทั้ง ได้ดำเนินการแจ้งเตือนแพลตฟอร์มให้ปิดกั้นข้อมูลตามคำสั่งศาล 35 คำสั่ง 726 ยูอาร์แอล และแจ้งความดำเนินคดีในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตามมาตรา 27 แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 321 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 155 ยูอาร์แอล

ขณะที่ (ศปอส.ตร.) ได้ดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 4 เรื่อง 6 รายและดำเนินการตักเตือนให้ลบโพสต์และแก้ไขข่าว โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จำนวน 4 เรื่อง 12 ราย
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ได้ดำเนินการสืบสวนพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บัญชี Social Media ที่ใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับข่าวปลอม เรื่อง โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดให้ลงทะเบียนจองวัคซีนโควิด-19 ของ Moderna จำนวน 11 กรณี ระบุตัวตนได้ 5 ราย อยู่ระหว่างสืบสวน (อวาตาร) 6 ราย และกรณีบิดเบือนวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 25 กรณี ระบุตัวตนได้ 19 ราย และอยู่ระหว่างสืบสวน 6 ราย

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ในวันนี้มีความพร้อมและจะเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม โดยจะมีการแต่งตั้ง โฆษกกระทรวง/ส่วนราชการ ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมฯ เพื่อประสานและดำเนินการตอบโต้ข่าวปลอมให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว

"โดยมีแนวทางให้ทุกกระทรวง จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงขึ้นโดยด่วน เพื่อติดตาม ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างรวดเร็ว และเพื่อประสานการปฏิบัติกับคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมฯ กับกระทรวงดิจิทัลฯ อย่างใกล้ชิด รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อกำชับให้ กระทรวง ส่วนราชการ ที่ได้รับความเสียหายจากการให้ข้อมูล ข่าวสารที่เป็นเท็จ บิดเบือน รีบดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ตำรวจเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยเร็ว รวมทั้งรายงานผลการปฏิบัติ เพื่อประกอบการประเมินผลการดำเนินงานตามวงรอบที่เหมาะสมต่อไป" ปลัดดีอีเอส กล่าว...