ผมกำลังเพลินติดพัน หนังสือเล่มหนา“ภูมิบ้านนามเมือง คำใคร ไทย มอญ เขมร” รวมเล่มพิเศษ ที่ประสิทธิ์ ไชยชมพู ส่งมาให้ แต่มีเหตุให้เลี้ยวไปสะดุด คำ เสียน เซียม สยาม สุโขทัย ในหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา ของอาจารย์เจีย แยนจอง (สำนักพิมพ์ มติชน พ.ศ.2548)

ในหัวข้อเซียม คือสยาม อาจารย์เจีย แยนจอง ออกตัวว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง ใน “ความเป็นมาของคำสยาม ไทยลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ว่า ชาวละว้า เรียกคนไทยว่า เซียม”

ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส บันทึกว่าไทน้อยถูกเรียกว่าเซียมเล็ก ไทใหญ่ถูกเรียกว่าเซียมใหญ่ ชาววิลันดา เรียกกรุงศรีอยุธยาว่าเมืองเสียม

ในงานกวีนิพนธ์ลิลิตตะเลงพ่าย กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงใช้คำเสียม คู่กับสยามในการเรียกประเทศไทยและคนไทย

และในหัวข้อ ราชสำนักจีนรับรู้คำว่า เสียน จาก จาม และเขมร คำว่าเสียนในภาษาจีน ที่จริงเป็นการทับเสียงคำว่า เสียม หรือเซียม อักษรจีนตัวนี้ นิยามเดิมหมายถึงพระอาทิตย์ขึ้น

จิตร ภูมิศักดิ์ บอกว่า ชื่อสุโขทัย มาจากภาษาสันสกฤต สุข+อุทัย แล้ววิเคราะห์ว่า นิยามคำว่าเสียนภาษาจีน กับนิยามของคำว่า อุทัย คือพระอาทิตย์แรกขึ้น เหมือนกัน

จึงสันนิษฐานว่าล่ามจีนในสุโขทัยเปรื่องปราดในภาษาจีนมาก จึงเลือกอักษรตัวนี้มาใช้

หรือชนชั้นปกครองสมัยสุโขทัย ต้องมีผู้รู้ภาษาจีนดี จึงเลือกอักษรที่มีความหมายดีเช่นนี้

อาจารย์เจีย แยนจอง บอกว่า จีนโบราณออกเสียงเสียน เป็นเสียม ปัจจุบันสำเนียงจีนกลางปักกิ่งอ่านว่าเซียน แต่จีนโบราณอ่านว่าเสียมหรือเซียม หรือเปล่า เป็นเรื่องน่าสนใจ

อักษรจีนตัวเดียวกันนี้ ภาษาถิ่นปักษ์ใต้ของจีน ออกเสียงเป็นเสียม จีนแคะและจีนแต้จิ๋วออกเสียงเป็นเสี่ยม จีนกวางตุ้งออกเสียงเป็นสี่ม

...

อาจารย์เจียบอกว่า ภาษาแคะรักษาสำเนียงจีนโบราณไว้มาก ส่วนภาษาจีนกวางตุ้ง นักภาษาศาสตร์จีนเห็นว่า เดิมทีมีพื้นฐานเผ่าเยว่ ซึ่งไม่ใช่จีน แต่ต่อมาถูกกลืนเป็นภาษาถิ่นของจีน

คู่มือสำเนียงโบราณอักษรจีนว่า คำจีนปัจจุบันออกเสียงเป็นน สะกด โบราณออกเสียง ม กว่าครึ่ง

ในกรณีอักษรตัวนี้ ตัวแรก ซิ ใช้เป็นเสียงพยัญชนะ คือ ซ (หรือ ส) ตัวหลัง เหลียน ใช้เป็นเสียงสระ และตัวสะกดคือเอี๋ยน ซ (ส)+เอี๋ยน ก็สะกด เป็นเสียน แต่เสียงจีนกลางปัจจุบันเป็นเหลียน

เสียงจีนโบราณกลับเป็น ม สะกด เป็นเหลียม ภาษาจีนแคะ ออกเสียงเป็นเหลี่ยม

จีนกวางตุ้งออกเสียงเป็นหลิ่ม จีนแต้จิ๋วเป็นเนี้ยม ล้วนเป็น ม สะกด เมื่อเป็นดังนี้ ซ (ส)+เอี๋ยม ก็สะกดเป็นเสียม ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันว่า อักษรตัวนี้ สมัยโบราณออกเสียงเป็นเสียม

ซึ่งพ้องกับคำว่าเสียม หรือเซียม ซึ่งชนเผ่าที่พูดภาษาตระกูลมอญเขมร ใช้เรียกคนไท และอาณาจักรไท

สรุป คำว่าเซียม หรือเสียม เป็นชื่อชนเผ่าอื่นใช้เรียกคนไท และอาณาจักรคนไทยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เซียมหรือเสียมก็คือคนสยาม เพียงแต่คนไทไม่เรียกตัวเองว่าเซียมหรือเสียม

อาจารย์เจีย แยนจอง ไม่ได้มองความหมายเสียมที่แปลเป็นสุโขทัย เป็นความรอบรู้ของล่ามจีนในไทย แต่มองว่า คำนี้ในภาษาจีนโบราณนิยามว่า พระอาทิตย์ขึ้น และเกิดมาพ้องกับคำว่าสุโขทัยโดยบังเอิญ

อ่านมาถึงตอนนี้ ผมก็จะขอสารภาพ ที่ดึงท่านมาพัวพันกับความรู้เรื่องชื่อบ้านนามเมือง ก็ด้วยเพราะเหตุผลเดียว คือกระบวนการความผันแปรของภาษา ทำให้พบว่า คำว่า เสียม สยาม หรือสุโขทัย ที่มีความหมายงดงาม

จีนกวางตุ้ง ออกเสียง“หลิ่ม” นี่น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวสกุล หลิม หลิ่ม ลิ่ม ลิ้ม ได้ไม่น้อยเลย.

กิเลน ประลองเชิง