"บิ๊กบี้" สั่งเปิดหน่วย ทบ. ระดมสรรพกำลังสนับสนุนรัฐ ช่วยประชาชนรับมือโควิด เดินหน้า รพ.สนาม จัดบุคลากรช่วยทุกศูนย์ ควบคู่ดูแลชายแดนป้องกันนำเชื้อเข้าประเทศ พร้อมให้วัด ทบ.ช่วยเคลื่อนย้ายและจัดการพิธีศพโควิดต่อไป
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.64 พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก เปิดเผยหลังการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ถึงภาพรวมสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคCOVID-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การระบาดในระลอกที่ 3 ซึ่งรัฐบาล และ ศบค. ได้บริหารจัดการและคลี่คลายผลกระทบในทุกด้านอย่างเป็นระบบภายใต้การสนับสนุนของทุกส่วนงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงได้รับการดูแลรักษาให้ทั่วถึง
กองทัพบก เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่เข้าสนับสนุนการทำงานของภาครัฐเพื่อยับยั้ง การแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ภารกิจสำคัญที่กองทัพบกดำเนินการมาตลอด คือการใช้กำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก ศักยภาพของยุทโธปกรณ์ เครื่องมือที่มี และกำหนมาตรการทั้งปวงที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ดำเนินการเฝ้าตรวจตลอดแนวชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและไม่ผ่านการคัดกรองโรค ตรวจคัดกรองจุดผ่านแดน การตั้งจุดตรวจและชุดสายตรวจร่วมกับฝ่ายปกครอง 2,913 นายต่อวัน เพื่อตรวจกิจการกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค
โฆษก ทบ. กล่าาวต่อว่า ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในต้นปี 2563 กองทัพบกได้รับมอบให้ปฏิบัติภารกิจควบคุมโรค ณ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) และพื้นที่กักกันโรคระดับท้องถิ่น (Local Quarantine) โดยพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ นั้น กองทัพบกได้ส่งชุดคัดกรอง ชุดปฐมพยาบาล และชุดรักษาความปลอดภัย ดูแลผู้เข้าสังเกตอาการใน 12 แห่ง ปัจจุบันลดลงเหลือ 10 แห่ง รวมทั้งได้จัดกำลังสนับสนุนท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยในกระบวนการควบคุมและคัดกรองผู้ที่เดินทางชุดคัดกรอง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ตั้งแต่เริ่มการระบาดของโรค
...
และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดขนาดใหญ่แบบ "คลัสเตอร์" กองทัพบก ได้จัดกำลังทหารเข้าช่วยบริหารจัดการ และควบคุมการแพร่ระบาดในหลายคลัสเตอร์ อาทิ จ.สมุทรสาคร ที่เกิดการระบาดในระลอกที่ 2 โดยได้เข้าสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม/ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 9 แห่งบริหารจัดการพื้นที่ รักษาความปลอดภัย, จุดตรวจจุดสกัด จัดระเบียบการรับวัคซีน จนสถานการณ์ที่ จ.สมุทรสาคร ดีขึ้นเป็นลำดับ และล่าสุดที่ เรือนจำกลางเชียงใหม่ หลังเกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ต้องขังแรกรับ กองทัพบกส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางด้านการแพทย์ พร้อมสิ่งอุปกรณ์ จากโรงพยาบาลค่ายกาวิละ และโรงพยาบาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เข้าสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ต้องใช้ทั้งด้านการแพทย์และงานด้านความมั่นคง
พล.ท.สันติพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดตั้ง รพ.สนาม นั้น กองทัพบกได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงกลาโหมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่อาการไม่รุนแรง หรือกักตัวเพื่อสังเกตอาการ โดยใช้สถานที่หน่วยทหารและสิ่งอุปกรณ์ที่มีอยู่ เป็นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาลสาธารณสุข ปัจจุบัน โรงพยาบาลสนามกองทัพบก เปิดดำเนินการแล้ว 9 แห่ง พื้นที่ 7 จังหวัด รองรับผู้ป่วยได้ 1,371 เตียง ได้แก่ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก ที่ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1, มณฑลทหารบกที่ 11, กรมพลาธิการทหารบก, ศูนย์การทหารราบ, กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15, กองพลทหารราบที่ 15, กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 5, กองพันเสนารักษ์ที่ 1 และมณฑลทหารบกที่28 สำหรับ รพ.ค่ายในสังกัดกองทัพบกจำนวน 36 แห่ง ทั่วประเทศยังได้จัดตั้ง โรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมไว้อีกส่วนหนึ่งเป็นการเฉพาะ รองรับผู้ป่วยได้ 2,828 เตียง กระจายอยู่ในทุกกองทัพภาค
นอกจากนี้ยังมี รพ.สนามกองทัพบก ซึ่งบริหารจัดการโดย รพ.พระมงกุฎเกล้า จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (เกียกกาย) และโรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กรมยุทธศึกษาทหารบก) รองรับผู้ติดเชื้ออีกด้วย
"กองทัพบกยังได้ระดมศักยภาพทุกมิติ สนับสนุนกำลังพลในการก่อสร้าง การจัดเตรียมสถานที่ ช่วยขนย้ายสิ่งอุปกรณ์ เพื่อจัดตั้งรพ.สนาม ของส่วนราชการ กทม.และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับได้สนับสนุนสิ่งอุปกรณ์, เตียง, เครื่องนอน ให้กับโรงพยาบาลสนามประจำจังหวัด 20 แห่งเป็นจำนวน 4,421 ชุด รวมถึงการช่วยเหลืออื่น ๆ เมื่อได้รับการร้องขอ ในขณะเดียวกัน ศบค.19 ทบ. และกรมแพทย์ทหารบก ได้จัดเตรียมกำลังพลที่เคยปฏิบัติงานสายแพทย์สำรองไว้ เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วย และเป็นกำลังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า รวมถึงในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจำนวนมากในอนาคตด้วย" โฆษก ทบ.กล่าว
โฆษก ทบ.กล่าวว่า นอกจากนี้ จากกองทัพบกได้จัดตั้ง "ศูนย์ควบคุมการเคลื่อนย้าย ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพบก" สนับสนุนยานพาหนะ พร้อมกำลังพลประจำรถที่ผ่านการฝึกอบรมการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลจากบ้าน ไปยังโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลัก
โดยประสานการปฏิบัติร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณ, ศูนย์นเรนทร และศูนย์แรกรับผู้ป่วย ตั้งแต่ 27 เม.ย. 64 ล่าสุด ได้จัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิด ทบ." ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง รวบรวมข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ 02-2705685-9 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานช่วยเหลือประชาชน ผู้ติดเชื้อ กับศูนย์แรกรับส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ของรัฐบาล (อาคารนิมิบุตร) หรือสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ และยังช่วยเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปรักษายังโรงพยาบาลหลัก, รพ.สนาม หรือกรณีอื่น ๆ เมื่อได้รับการร้องขอ แต่วันที่ 3 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา
"ล่าสุดกองทัพบกเห็นถึงข้อจำกัดและความไม่สะดวกทั้งการเคลื่อนย้ายและจัดการพิธีศพของผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 จึงได้อนุเคราะห์ฌาปนสถานจัดพิธีเผา และเคลื่อนย้ายศพผู้ติดเชื้อโควิดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อลดภาระครอบครัว โดยตั้งแต่ 4- 7 พ.ค.64 ได้ให้การอนุเคราะห์พิธีศพแก่ครอบครัวผู้ติดเชื้อไปแล้ว 7 รายที่วัดโสมนัสวรวิหาร 5 ราย และวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต 2 ราย และจะยังคงเปิดรับการร้องขอการอนุเคราะห์ต่อไป" โฆษก ทบ.กล่าว.