มหกรรมเยียวยา เติมชีวิตให้อยู่รอด รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกชุดหนึ่งด้วยการต่อยอดที่เคยดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงมาตรการเสริมเพื่อหวังช่วยเหลือคนทุกกลุ่มให้มากที่สุด ยังพ่วงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและสูง 2 โครงการ
โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งจะเป็นโครงการใหม่ที่ภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิ์โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ประมาณ 470,000 ล้านบาท
แน่นอนว่าการเยียวยาเป็นความจำเป็นในภาวะที่ได้รับความเดือดร้อนกันอย่างนี้ หากจัดสรรดี ตรงเป้า และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมไปได้ระดับหนึ่ง
ก็ถือว่าโอเคแล้ว...
เพราะเราเป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจเล็กก็ต้องทำตามหน้าตักตามสภาพตามเป็นจริง และยังมีอีกหลายๆเรื่องที่ต้องคิดต้องทำ
อย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งยังครองตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลกกว่าจะตั้งหลักได้เล่นเอาเหนื่อยไปเหมือนกัน
ถึงขั้นที่พูดว่าได้มีตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเดิมพันด้วย
เมื่อ “โจ ไบเดน” เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศก็ได้วางนโยบายการบริหารประเทศโดยการให้ความสำคัญเรื่องโควิด-19 เป็นอันดับ 1
จนสามารถสยบไวรัสมรณะตัวนี้ได้ระดับหนึ่งด้วยการวางมาตรการที่ตรงเป้าตรงประเด็นจนเวลานี้พูดได้ว่ากุมสภาพได้แล้ว
ด้วยการรณรงค์ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนเกือบค่อนประเทศแล้วแม้จะมีปัญหาที่ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ คือคนไม่กล้าฉีด
เกรงจะเกิดผลข้างเคียงทำให้เสียชีวิตได้
แต่ด้วยการรณรงค์และสื่อสารทำความเข้าใจเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเลือกวิธีดีที่สุดแล้วการดำเนินการในเรื่องนี้จึงก้าวหน้าไปมาก
...
4 ก.ค.64 วันชาติสหรัฐฯได้ประกาศวาระสำคัญของประเทศเขาว่าจะเป็นวัน “ปลอดโควิด” นั่นก็หมายความว่าชาวสหรัฐฯทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อชาติ
เป็นวาระของการสร้าง “สำนึกร่วม” ที่สอดรับกับสถานการณ์ที่สุด
ซึ่งคงมิใช่แค่ “โควิด-19” เท่านั้นแต่ยังหมายถึงปัญหาต่างๆ ที่ยังทับถมกองรวมกันไว้อยู่อีกมากที่จะต้องสะสางกันต่อไป
ปัญหา “เหยียดผิว” ที่เคยสงบและเข้าใจกันได้ดีระหว่าง 2 ฝ่าย จนสามารถจะพูดได้ว่าความรู้สึกค่อยๆเจือจางแทบไม่เห็นถึงความแตกต่าง
ก็ได้หวนคืนกลับมาอีกครั้งหนึ่งจนสร้างความแตกแยกของคนในชาติ
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหยุดเรื่องนี้ให้ได้ เพราะมิฉะนั้น สหรัฐฯก็ไปไม่รอดเนื่องจากเกิดปัญหาความไม่สามัคคีของคนในชาติ
ยิ่งสามารถร่วมใจกันเพื่อจัดการโควิด-19 ให้อยู่หมัดนั่นก็เท่ากับว่าเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญในการแก้ไขปัญหาของชาติ
รักษาชีวิตผู้คนให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ด้วยการจัดการ “ศัตรูร่วม”
นี่น่าจะเป็นแบบอย่างที่คนไทยจะต้องศึกษา
จะต้องหันกลับไปคิดว่าทุกวันนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่!
“สายล่อฟ้า”