“บิ๊กป้อม” โบ้ยคดี “ธรรมนัส” เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับรัฐบาล “วิษณุ” เคลียร์ทางโล่งหักล้างข้ออ้างความเห็นกฤษฎีกาพ้นโทษแล้วเกิน 5 ปี ไม่ขาดคุณสมบัติเป็น ส.ส. ดักทางสกัดยื่น ป.ป.ช.ยันคำวินิจฉัยศาลฯถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว “ไพบูลย์” รับลูกต้องดูมีการละเมิดขณะดำรงตำแหน่งหรือไม่ “สุทิน” ซัดคำตัดสินขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ “เสรีพิศุทธ์” ลุยต่อยื่น ป.ป.ช.ฟัน “บิ๊กตู่-ผู้กองนัส” ขัดจริยธรรมร้ายแรงพ่วงอาญาตั้งผู้ต้องหาคดีร้ายแรงนั่ง รมต. กมธ.ป.ป.ช. ขยี้แผลสอบเพิ่มฐานไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ปกปิดข้อมูลติดคุกออสเตรเลีย จ่อบุกค่ายทหารสอบซ้ำ “นายกฯตู่” อยู่บ้านหลวงใช้น้ำ-ไฟฟรี รับผลประโยชน์อื่นเกิน 3 พันบาท “ชวน” ไม่เลื่อนเปิดสภาฯกระทุ้ง ส.ส.ทำหน้าที่

กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ชี้ขาด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ไม่ต้องพ้นจาก ส.ส.และรัฐมนตรี กรณีเคยถูกจำคุกในคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ฝ่ายค้านเดินหน้ายื่น ป.ป.ช.เอาผิดจริยธรรมร้ายแรง ขณะที่มือกฎหมายรัฐบาลระบุคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าสิ้นสุดแล้ว และ ร.อ.ธรรมนัสพ้นโทษมาเกิน 5 ปี ตอกย้ำไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย

...

“บิ๊กป้อม” โบ้ยคดี “ธรรมนัส” ไม่เกี่ยว รบ.

เมื่อเวลา 11.05 น. วันที่ 6 พ.ค. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส.กรณีเคยต้องคำพิพากษา ถูกศาลต่างประเทศตัดสินจำคุก 6 ปี ฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด ไม่ถือเป็นคำพิพากษาของไทยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของศาลพิจารณา เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะไปยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบจริยธรรม ร.อ.ธรรมนัสต่อนั้น พล.อ.ประวิตรตอบว่า ก็เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล เมื่อถามว่ากรณีนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์รัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า เป็นเรื่องของศาลเกี่ยวกับ รัฐบาลได้อย่างไร

“วิษณุ” เคลียร์ให้พ้นโทษเกิน 5 ปีไร้ผล

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเคยมีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าหากถูกพิพากษาจำคุกในหรือต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 5 ปี ถือว่าเป็นบุคคลต้องห้าม ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. แต่กรณี ร.อ.ธรรมนัสถูกตัดสินลงโทษจำคุกคดียาเสพติด ตั้งแต่ปี 2536 และพ้นโทษ เมื่อปี 2540 ถือว่าพ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย ส่วนที่วิจารณ์กันถึงความเหมาะสมทาง จริยธรรมนั้น ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้วแต่จะวิจารณ์กัน

ตีกันยื่น ป.ป.ช.สิ้นสุดตามศาล รธน.

เมื่อถามว่ามีบางฝ่ายระบุจะร้องมาตรฐานจริยธรรมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิษณุตอบว่า ไม่ทราบ แต่ในข้อกฎหมายถือว่าสิ้นสุดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากมีผู้จะร้องไม่ทราบร้องข้อหาอะไรต้องถามคนร้อง แต่เรื่องมาตรฐานจริยธรรมถ้าเป็นข้าราชการการเมืองต้องร้องต่อนายกฯ เป็นส.ส.ต้องร้องต่อประธานสภาฯ แต่การจะไปร้อง ป.ป.ช.ได้หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เมื่อถามว่าจากที่เป็นประเด็นถกเถียงข้อกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญควรจะทำคำชี้แจงกับสังคมหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องชี้แจงหรือพูดอะไรเพิ่มเติม เพราะได้วินิจฉัยจบแล้ว ส่วนผลทางวิชาการ ทางการเมือง แล้วแต่จะวิจารณ์กันไป คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนี้ ถือเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน ใช้ได้กับความผิดทุกกรณี ไม่เฉพาะแต่ความผิดคดียาเสพติดอย่างเดียว แต่ไม่ใช่การล้างมลทิน เป็นเรื่องคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม อาจมีมลทินก็ได้

“ไพบูลย์” ให้ดูทำตอนนั่ง รมต.หรือไม่

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ประเด็นเรียกร้องให้สอบจริยธรรมในส่วนของพรรคต้องเกิดขณะเป็นสมาชิกพรรค แต่กรณี ร.อ.ธรรมนัสเกิดขึ้นหลายสิบปีก่อนเป็นสมาชิกพรรค จึงไม่อยู่ในกรอบจริยธรรมตามข้อบังคับพรรค และที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เตรียมยื่น ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบจริยธรรม ร.อ.ธรรมนัส หากจะร้องก็ร้องไป แต่ตามหลักกฎหมายต้องดูระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการกระทำละเมิดจริยธรรมขณะดำรงตำแหน่งหรือไม่ ขอย้ำว่าเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมาถือเป็นที่สุดแล้ว

คณบดีนิติศาสตร์คาใจยึดตัวอักษร

วันเดียวกัน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Pareena Toei Srivanit ระบุข้อความว่า “ไม่แปลกใจในผลและเหตุผลที่ยึดการตีความตามตัวอักษร แต่สะท้อนใจที่ 2 ประเด็นนี้มิได้ถูกเอ่ยถึง (1) เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการจะได้บุคคลที่มือสะอาด ปราศจากมลทินโดยเฉพาะในข้อหาร้ายแรง มาทำหน้าที่ในองค์กรหลักฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่ถูกเอ่ยถึง และ (2) ความผิดนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็น double criminality (เป็นความผิดของทั้งสองประเทศ และไม่ยากในการที่จะพิสูจน์องค์ประกอบความผิดว่าตรงกันหรือไม่) และความผูกพันและพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อนานาประเทศในการต่อต้านยาเสพติดที่ยอมรับว่าเป็นความผิดร้ายแรงข้ามชาติและเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์”

อ้างเหตุผลชาตินิยมยากจะยอมรับ

ด้าน รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ อ้างอำนาจอธิปไตยทางศาลเป็นเหตุผลหลักปฏิเสธคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ ใช้เหตุผลเชิงชาตินิยมที่มีน้ำหนักเบาบาง เพื่อปิดกั้นคำพิพากษาศาลต่างประเทศละทิ้งโอกาสการหักล้างข้อสงสัยของสาธารณชนที่มีต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติว่าคนเป็น ส.ส.ควรมีคุณสมบัติแบบใด เป็นข้อสงสัยที่ไม่ต้องใช้เหตุผลทางกฎหมายที่ซับซ้อนใช้เพียงแค่เหตุผลธรรมดาสามัญ (common sense) ก็ตอบได้ ยิ่งเมื่อได้อ่านความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 4) กลุ่มนักกฎหมายชั้นนำของประเทศที่ได้วินิจฉัยในประเด็นปัญหาเดียวกันเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนว่า “ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรมและขัดกับเหตุผล” ยิ่งทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่ความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคมที่มีต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“นิพิฏฐ์” ท้วงอย่าเบี่ยงปมอธิปไตยรัฐ

เมื่อเวลา 15.00 น. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ว่า คุณสมบัติของคนเป็นส.ส.หรือรัฐมนตรี มิใช่เป็นเรื่องอธิปไตยของรัฐ แต่เป็นการวินิจฉัยคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเรื่องของศาลไทยล้วนๆที่จะวางบรรทัดฐาน มิใช่ว่าศาลไทยต้องยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศหรือไม่ ถกเถียงกันในมุมนี้ อย่าลืมว่าความผิดบางเรื่องเป็นความผิดทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ เช่น พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแม้กระทำนอกราชอาณาจักรผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร...”และกรณีนี้ศาลไทยต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 10

โต้ความเห็น สคก.ปี 54 คนละเรื่องกับปี 25

“คำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 276/2525 กับคำวินิจฉัยที่ 562/2554 คนละประเด็นกัน ปี 2525 วินิจฉัยคุณสมบัติผู้จะสมัคร ส.ส. ส่วนปี 2554 วินิจฉัยว่าคำพิพากษาศาลต่างประเทศ ผูกพันกับศาลไทยอย่างไร ดังนั้น หากถือว่าคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาปี 2554 กลับคำวินิจฉัยปี 2525 ต้องเป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน และต้องมีคำวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ของกฤษฎีกา (เหมือนศาลฎีกา) แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ เรื่องนี้ความจริงเป็นเรื่องจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) แต่ไม่มีประเด็นเรื่องนี้ในศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะมีความผิดพลาดตอนยื่นหรืออะไร ไม่มีรายละเอียด แน่นอนเรื่องนี้จบแล้วเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว จบก็คือจบแต่ควรนำมาพูดกันในแง่วิชาการอย่างน้อยที่กำลังจะร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่น่าจะนำไปทบทวนดูว่าควรเขียนอย่างไรในรัฐธรรมนูญ” นายนิพิฏฐ์ระบุ

“จุรินทร์” ติง รบ.อย่าสร้างเงื่อนไข

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณี ร.อ.ธรรมนัสไม่อยู่ในฐานะที่จะพูดอะไรได้ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัย และคงต้องไปถามพรรคพลังประชารัฐที่รับผิดชอบสถานการณ์การเมืองขณะนี้จะให้นิ่ง 100% เป็นไปไม่ได้ ประเทศไทยกำลังเผชิญ 3 ปัญหาที่สัมพันธ์กันคือ โควิด-19 เศรษฐกิจและการเมือง ปัญหาทางการเมืองความเห็นต่างไม่คิดว่าเป็นวิกฤติ ได้พูดบ่อยครั้งคือรัฐบาลต้องตระหนัก อะไรเป็นเงื่อนไขอย่าไปสร้างเงื่อนไขหรือทำให้เป็นเงื่อนไข รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าปลดเงื่อนไขให้หมดทีละข้อปัญหาการเมืองจะผ่อนลง

ปชป.ยิ้มออกคนเก่าไหลกลับ

นายจุรินทร์กล่าวว่า กรรมการพรรคเห็นชอบให้นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค รับภารกิจดูแลพื้นที่ภาคใต้แทนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ลาออก มั่นใจว่าภาคใต้ยังเข้มแข็งอยู่ พรรคมี ส.ส. 50 ที่นั่ง เป็น ส.ส.ใต้ 22 ที่นั่ง ความพร้อมส่งผู้สมัครครั้งหน้าพร้อมเกือบ 100% ทั่วประเทศ ผู้สมัครเตรียมพร้อมไว้แล้วเกือบครบทุกเขต ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีเรียบร้อยแล้ว 2 ท่านให้เลือก เมื่อถึงเวลาจะเปิดตัว ส.ก.วางตัวเกือบ 100% ทั้ง 30 เขต มีทั้งอดีต ส.ส.และมีทั้งผู้สมัครหน้าใหม่ ผู้สมัครคนเก่าของพรรคที่เคยอยู่กับพรรคและจะกลับมาที่พรรคอีกส่วนหนึ่ง เป็นสัญญาณที่ดีที่มีทั้งอดีต ส.ส. อดีตสมาชิกพรรคกลับเข้ามาสมัครสมาชิกพรรคไม่น้อย รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่

พท.ซัดคำวินิจฉัยขัดเจตนารมณ์ รธน.

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เห็นแย้งหรือลบล้างคำตัดสินศาลต่างประเทศ แต่บอกว่าคำตัดสินศาลต่างประเทศไม่มีผลต่อกฎหมายไทย ไม่ได้หมายความว่า ร.อ.ธรรมนัสบริสุทธิ์ อาจทำให้เกิดความสับสนเรื่องบรรทัดฐานพอสมควร ในอดีตเคยมีกรณีลักษณะคล้ายคลึง และในอนาคตอาจมีอีกที่จะมีปัญหาที่สุดคือการขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญต้องการคัดคนเข้าสู่การเมือง โดยเฉพาะจริยธรรมต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าขัดจริยธรรมไม่สมควรเป็นนักการเมือง ร.อ.ธรรมนัสแม้ข้อกฎหมายอาจถอดถอนไม่ได้ แต่ความบกพร่องจริยธรรม อยู่ในขอบข่ายยื่นเอาผิดจริยธรรมได้ ผลจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“เสรีฯ” ยื่น ป.ป.ช.ฟัน “บิ๊กตู่-ผู้กองนัส”

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่าในฐานะประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร จะนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) มาประกอบเป็นคำร้องเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช.เอาผิดกรณีการกระทำขัดต่อจริยธรรมร้ายแรง เพราะในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุข้อเท็จจริงว่า ร.อ.ธรรมนัสเคยต้องคำพิพากษาศาลออสเตรเลีย คดียาเสพติด โดยในการตรวจสอบของ กมธ.ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัสไม่เคยปฏิเสธกรณีต้องคำพิพากษา แต่ต่อสู้ว่าเป็นเรื่องศาลต่างประเทศ ได้ล้างมลทินแล้ว

ซัดนายกฯตั้งผู้ต้องโทษคดีร้ายแรง

“หลังจากได้รับคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะยื่นต่อ ป.ป.ช.ทันทีและจะยื่นเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ฐานผิดจริยธรรมเช่นกัน และผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่แต่งตั้งบุคคลต้องโทษคดียาเสพติดเป็นรัฐมนตรี เมื่อถามว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างบรรทัดฐานกระทบการเมืองไทย หรือไม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ตอบว่า หากยึดเป็นมาตรฐาน จะทำให้ผู้ค้ายาเสพติดได้โอกาสเข้าสู่การเมือง ต่อไปประเทศไทยอาจตกอยู่การควบคุมของพ่อค้ายาเสพติดได้” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าว

ห่วงพ่อค้ายาฯ-คนไม่ดีเข้าสู่การเมือง

นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีคุณสมบัติ ร.อ.ธรรมนัส ทำให้กังวลว่าอนาคตถ้ายังใช้ระบบนี้ พ่อค้ายาเสพติดอาจเข้าสู่วงการเมือง ทำให้เกิดการทุจริต ซื้อเสียงเลือกตั้ง การเมืองไทยแย่ลง คนดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องมีจริยธรรม ความรับ ผิดชอบสูงกว่าคนทั่วไป รัฐธรรมนูญตั้งโจทย์เป็นฉบับปราบโกง คัดคนไม่ดีออกจากการเมือง ไม่แน่ใจคนไม่ดีของ พล.อ.ประยุทธ์หมายถึงคนไม่ดีพรรคคู่ต่อสู้หรือไม่ ย้ายมาอยู่พรรคตัวเองกลายเป็นคนดี อย่าทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเป็นสิ่งโกหก

อัดคนรับไม่ได้เมินเจตนารมณ์ รธน.

น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยากอย่างยิ่งที่สังคมจะยอมรับได้ ที่กระบวนการยุติธรรมไทยยอมรับคนมีประวัติค้ายาเสพติดมาเป็นรัฐมนตรีได้ นักวิชาการกฎหมายตั้งข้อสังเกตเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญไม่หยิบยกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาพูดถึง กรณีผู้จะเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารต้องมือสะอาด ปราศจากมลทินข้อหาร้ายแรง ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคดียาเสพติดแค่ใช้สามัญสำนึกปุถุชนธรรมดาก็รู้แล้วว่านายกฯควรให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ยังอุ้มชูให้เป็นรัฐมนตรีต่อ สนับสนุนให้เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐสวนความรู้สึกประชาชน สะท้อนถึงมาตรฐานจริยธรรมนายกฯเป็นเช่นไร

กมธ.สอบต่อปกปิดข้อมูลติดคุก

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ แถลงว่า กมธ. ได้หยิบยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุ ร.อ.ธรรมนัสไม่ต้องสิ้นสถานภาพเป็นรัฐมนตรี จากการเคยต้องคำพิพากษาศาลออสเตรเลียให้จำคุกคดียาเสพติดมาหารือ กมธ.ตั้งข้อสังเกตรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ที่ระบุคุณสมบัติรัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้นำมาวินิจฉัย กมธ.จึงมีมติให้ตรวจสอบ ร.อ.ธรรมนัสเพิ่มเติมกรณีคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) จะไปตรวจสอบ 4 ประเด็นคือ 1.กรณีการรับรองสถานะตัวเองก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีการปกปิดไม่บอกข้อมูลการต้องคำพิพากษาถูกศาลออสเตรเลียสั่งจำคุกให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) รับทราบหรือไม่ 2.การลงสมัคร ส.ส.มีการปกปิดข้อมูลเรื่องการต้องคำพิพากษาหรือไม่ 3.การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องมีการรับรองตัวเอง เคยต้องคำพิพากษาหรือไม่ 4.กรณีที่ ร.อ.ธรรมนัสเคยทำหนังสือแจ้งข้อมูลต่อ กมธ. ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.62 มีข้อมูลใดคลาดเคลื่อนจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ กมธ.จะไปตรวจสอบเพื่อดูว่ามีการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่

กมธ.จ่อบุกค่ายทหารดูบ้าน “ประยุทธ์”

นายธีรัจชัยกล่าวต่อว่า กมธ.ยังมีมติตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมกรณีการอยู่บ้านพักรับรองในค่ายทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นเรื่องให้ กมธ.ตรวจสอบตามความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 128 ที่รับผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท มีมติจะลงพื้นที่ไปดูบ้านพักรับรองที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่อาศัยในค่ายทหารว่ามีสภาพบ้านเป็นอย่างไร ประธาน กมธ.ป.ป.ช. จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วยตัวเอง โดยจะทำหนังสือถึงกองทัพบกขออนุญาตให้ กมธ.ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาแม้ กมธ.จะพยายามขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือให้ข้อมูล จึงต้องลงพื้นที่ไปเห็นด้วยตาตัวเองว่าบ้านดังกล่าวใหญ่แค่ไหน สภาพเป็นเช่นไร และจะทำหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญขอข้อมูลคำวินิจฉัย คำร้อง คำชี้แจงของฝ่ายต่างๆที่ให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญคดีบ้านพักนายกฯ นำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ กมธ.ด้วย

“นิยม” ตอกทำไมพระอวย รบ.พูดได้

นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆสภาฯ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เผยแพร่มติมหาเถรสมาคม เรื่องพระมหาสมปอง ตาลปุตโต แสดง ความคิดเห็นเรื่องโควิด-19 กระทบรัฐบาลไม่ใช่กิจของสงฆ์ เป็นเพียงให้สติรัฐบาลอาจออกแนวขบขันบ้างตามบุคลิกท่าน ไม่ควรถือเป็นจริงเป็นจัง ออกเป็น มติ มส.ให้พระสังฆาธิการเอาผิด ต้องถามนายอนุชาว่าทำไมพระพูดติติงไม่ได้ หรือพวกยกย่องพูดได้ ไม่เป็นการเมือง ขอฝาก พศ.และ มส.ขอให้ยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก ไม่ใช่ทำตามใบสั่งของฝ่ายการเมือง

“บิ๊กตู่” โวไทยศูนย์กลางนวัตกรรม

เมื่อเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ สำนักงานใหญ่ Microsoft ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศสิงคโปร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาผ่านระบบวีดิทัศน์ในพิธีเปิดการประชุม Microsoft APAC Public Sector Summit รูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ Empowering Nations for a Digital Society บทบาทดิจิทัลและฐานข้อมูลเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ สู่ยุคดิจิทัลอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจพลังงาน ความมั่นคงทางไซเบอร์และสมาร์ทซิตี้ ว่า รัฐบาลได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้พร้อมสำหรับอนาคต มุ่งหวังทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น วางบทบาทไทยให้เป็นศูนย์กลางภูมิภาคอินโดจีนของดาต้าเซ็นเตอร์ “สีเขียว” และบริการคลาวด์ ศูนย์กลางภูมิภาคสำหรับบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยี

“ชวน” ไม่เลื่อนสั่งลุยประชุมสภาฯ

เมื่อเวลา 10.20 น. ที่รัฐสภา นายชวนหลีกภัย ประธานสภาฯ ในฐานะประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม รับมอบหน้ากากอนามัย 2 แสนชิ้นจากตัวแทนบริษัท จริงใจเสมอ จำกัด และบริษัทตัวแทนหนังสือพิมพ์ ซิงเสียนเยอะเป้า นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่เดือดร้อน โดยนายชวนกล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ พบประชาชนไม่มีหน้ากากอนามัยยังมีอยู่มาก จากนั้นนายชวนกล่าวถึงการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค. ว่า จะเชิญวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน มาหารือเตรียมพร้อมเปิดประชุมสภาฯ คงหนีการเปิดประชุมไม่ได้ แต่ต้องป้องกันตนเอง ต้องทำงานร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ ส่วนประกาศ ศบค.ห้ามรวมกลุ่มเกิน 20 คนคงไม่เกี่ยวกัน การประชุมสภาฯไม่ใช่การรวมตัวเพื่อทำกิจกรรม แต่เป็นการทำหน้าที่ของสมาชิก การเปิดสมัยประชุมต้องเปิดตามรัฐธรรมนูญหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากมีเหตุผลพิเศษทำได้ เช่นครั้งที่แล้วมติที่ประชุมขอให้หยุด 1-2 สัปดาห์ แต่ครั้งนี้ยังไม่มีการหารือ ทุกคนรู้ล่วงหน้าแล้วเตรียมตัวรับภารกิจ เป็นหน้าที่ ส.ส.ต้องทำงาน เราต้องทำงานร่วมกับปัญหาที่เกิดขึ้น ในสภาฯ มีเจ้าหน้าที่ติดโควิด 4 คน แต่ไม่ได้ติดจากในสภาฯติดจากครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน