ทุกคนฉีดวัคซีนต้องปลอดภัย เป็นหัวใจสำคัญมากตามหลักการของการฉีดวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้ย้ำหลักการสำคัญสำหรับคนไทย เพราะวัคซีนลอตใหญ่เริ่มทยอยเข้ามา

แม้ลอตแรกที่จัดฉีดไปมีปัญหาบ้าง ช่วงต้นๆก็ไม่เชื่อมั่นในวัคซีน จึงไม่สมัครใจฉีด สุดท้ายเป็นไปตามแผนบริหารจัดการวัคซีน สภาพปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก เราเน้นนโยบายเปิดเผยข้อมูลทุกส่วน เพื่อให้ประชาชนรับรู้และตัดสินใจด้วยข้อมูล เช่น พบอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดที่ จ.ระยอง ลำปาง อุบลราชธานี เราก็เปิดข้อมูลเชิงวิชาการให้สาธารณะได้รับรู้

เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าฉีดวัคซีนปลอดภัย

เช่นเดียวกันกับแผนหลักการบริหารจัดการวัคซีน แอสตราเซนากา 60 ล้านโดส เริ่มส่งมอบต้นเดือน มิ.ย.-พ.ย.64 เสริมทัพใหญ่ฉีดคู่ขนานวัคซีนซิโนแวค 2.5 ล้านโดสที่เป็นโควตาพิเศษ

ขอฉายภาพให้เห็นแผนหลักจัดการวัคซีน 16 ล้านโดสแรก เดือน มิ.ย.-ก.ค.64 โดยขอความกรุณาคนไทยกลุ่มใหญ่ที่ต้องฉีดเหมือนกัน ขอจัดลำดับความสำคัญให้ “กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง-กลุ่มผู้สูงวัย” ได้ฉีดก่อน

...

โดยได้ซักซ้อมทุกจังหวัด จัดเตรียมสถานที่ มีเครื่องมือกู้ชีพครบครัน บุคลากรพร้อมสรรพ ติดตามอาการหลังการฉีด เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที มีศักยภาพฉีดขั้นต่ำวันละ 3 แสนโดส วางเป้าให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส

แผนการจัดการฉีดโดยโรงพยาบาล เราเปิดให้จัดในสถานที่ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน เช่น จ.ระยอง จัดฉีดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล มีคนมาฉีด 1 พันคน โดยมีเครื่องมือกู้ชีพครบครัน รับมือเกิดกรณีมีอาการไม่พึงประสงค์ได้ทันที

ขณะเดียวกันตามแผนหลักภายใน 2 เดือนนี้ รัฐบาลเจรจากับวัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งได้ เช่น สปุตนิกจากรัสเซีย ก็จะไปดูถึงการเพิ่มศักยภาพในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีแผนรองรับจัดการฉีดเอาไว้แล้ว สมมติไปฉีดที่โรงพยาบาลประจำตำบล หรือไปฉีดที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งรวมจำนวนผู้ฉีดมากกว่า 300 คน เหมือน จ.ระยองหรือ จ.ภูเก็ตทำ

ที่สำคัญการจัดฉีดต้องบันทึกข้อมูลลงในระบบ “ไลน์โอเอหมอพร้อม” และ “แอปพลิเคชันหมอพร้อม” โดยการลงทะเบียนในถังข้อมูลบันทึกชื่อคน ชื่อวัคซีน หมายเลข...วันที่...อาการหลังฉีด ระบบแจ้งเตือนนัดฉีดเข็มที่ 2

การฉีดวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลรอบด้านและบันทึกอย่างละเอียด เริ่มลงทะเบียนไลน์โอเอหมอพร้อมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 เพื่อยืนยันตัวตน

ภายใต้กระจายให้เร็วที่สุดบนความปลอดภัยให้มากที่สุด

การแพร่ระบาดโควิดระลอกสามรุนแรง ณ วันนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีขีดความสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิดได้แค่ไหน นายสาธิต บอกว่า ระลอกแรกและระลอกสองเรารับมือได้

เพราะ 4 เครื่องยนต์ไปพร้อมกัน ทั้ง 1.ประชาชนเพิ่งเผชิญกับโควิด รู้สึกกลัว สวมหน้ากาก 98% 2.รัฐบาลออกมาตรการเข้มข้น ลดการเจอกันของผู้คน เท่ากับควบคุมโรค การแพร่ระบาดไม่มาก 3.เจ้าหน้าที่สอบสวนโรครวดเร็ว ลดการแพร่กระจาย 3 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนไปด้วยกันปั๊บ 4.โรงพยาบาลก็มีเตียงและเตียงไอซียูไว้รองรับ 4 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนไปด้วยกัน จึงประสบความสำเร็จ ถามว่าระลอกนี้มีความมั่นใจหรือไม่

ขณะนี้เข้าข่ายวิกฤติ เพราะเตียงไอซียูเหลือน้อยเต็มที

ถ้า 4 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นแบบนี้อยู่ยังพอรับมือไหว หากตัวเลขเพิ่มวันละ 3-4 พัน สถานการณ์เช่นนี้ลำบากหน่อย ต้องดูภายใน 2 สัปดาห์นี้ว่าเอาอยู่ไหม

ทีมข่าวการเมือง ถามว่ามติ ครม.ล่าสุดโอนอำนาจเจ้ากระทรวงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา ช่วยป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชน รวมถึงงบฯ ไปให้นายกฯเป็นการชั่วคราว เพื่อทำสงครามกับโควิด ถูกมองว่าตัดแขนตัดขารัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย

นายสาธิต ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ของรัฐบาล อยู่ระหว่างลงพื้นที่ไปดูสถานการณ์โควิดในพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่แต่ละจังหวัดอย่างเป็นระบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินชีวิตใหม่ และแนวคิดขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน บอกว่า ไม่ว่าสถานการณ์อะไรจะหนักแค่ไหน

เอกภาพทางการเมืองมีความสำคัญ พูดคุยกันได้ย่อมขับเคลื่อนนโยบายต่างๆได้มีประสิทธิภาพ

ถ้าขัดแย้ง มีความเห็นต่างกัน อาจพะวงในหลักการอยู่ร่วมกัน กระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบาย

ฉะนั้นพรรคร่วมรัฐบาลต้องรีบพูดคุยให้การเมืองนิ่ง เพื่อมุ่งหน้าแก้โควิดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เช่น ตัดงบฯไปอยู่บางหน่วยงาน ต้องดูว่ามีเหตุผล เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ ถ้าตัดไปเพื่อตัดแขนตัดขา ก็ต้องมาคุยกันว่าทำไม่ได้ ทำไม่ถูก ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพูดคุย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วน

คือปัญหาของประเทศไทยก่อน

โควิดยังหนัก ทำให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้พูดคุยกันแบบเผชิญหน้า การประชุม ครม.ยังต้องผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ย่อมมีโอกาสกระทบต่อเอกภาพรัฐบาล ระหว่างที่รอการพูดคุยก็เท่ากับรอวันแยกทางกัน นายสาธิต บอกว่า “สถานการณ์การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน สามารถเกิดขึ้นได้หมด การแยกทางหรือการพูดคุย

ต้องคุยกันก่อนเพื่อแก้ปัญหาโควิดให้ได้ แล้วค่อยทำความตกลงกันในด้านนโยบายที่แตกต่าง ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลผสมก็เป็นแบบนี้ มีอะไรต้องพูดคุยตกลงกันให้ได้ ถ้าไม่คุยกันย่อมมีปัญหาในเชิงขับเคลื่อนเชิงนโยบาย”

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กรณีพรรคภูมิใจไทยจับมือพรรคประชาธิปัตย์ จะคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ในวาระ 1 เพื่อจัดการกับรัฐบาล นายสาธิต บอกว่า มิติการเมือง การตัดสินใจทางการเมือง การจับมือระหว่างพรรค ขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคไปพูดคุย

อย่างที่เข้าใจหลักทั่วไป ระดับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการทุกพรรค มีการพูดคุยกันอยู่ตลอด เพื่อปรับความเข้าใจและจัดการสถานการณ์ทางการเมือง แต่ถึงขั้นลงลึกจับมือกันหรือไม่ ต้องถามหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค

พรรคประชาธิปัตย์เตรียมพร้อมเลือกตั้งในระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวอย่างไร เพราะสถานการณ์การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน นายสาธิต บอกว่า พรรคประชาธิปัตย์และทุกพรรคมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ทั้งสำหรับกติกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือบัตรสองใบ

แต่เมื่อกติกาเดิมเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีการเสนอแก้ไข ก็ต้องเตรียมสำหรับการเลือกตั้งใบเดียว ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองอะไรจะเกิดขึ้น ทุกพรรคย่อมต้องมีความพร้อมเสมอ

เป้าหมายใหญ่ ประเทศไทยต้องชนะโควิด รัฐบาลและฝ่ายค้านควรมีบทบาทร่วมกันฝ่าโควิดอย่างไร นายสาธิต บอกว่า พรรคร่วมรัฐบาล ควรคุยกัน เพื่อจัดการปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้

เรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกันหรือมีการชิงเหลี่ยมทางการเมือง ขอให้ยุติ

เพื่อจับมือรวมพลังจัดการกับสถานการณ์โควิดให้เรียบร้อยก่อน

หลังจากนั้นค่อยมาว่ากัน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งกำหนดอำนาจและเงื่อนไขเอาไว้ในตารางเวลา เช่น ยุบสภา ลาออกหรืออะไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ตามกรอบกติกาที่กำหนดไว้

ตรงนี้ขึ้นอยู่กับพรรคหลัก ต้องแสวงหาความร่วมมือให้ความเห็นที่แตกต่างยุติลงก่อน และมุ่งหน้าแก้ปัญหาโควิดให้ได้ คงใช้ระยะเวลาอีกสักพักหนึ่งถึงทำให้สถานการณ์โควิดเบาบางลงได้

ขณะที่ต้องเคารพบทบาทการแสดงความเห็นและการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้าน ขอให้ฝ่ายค้านรวบรวมข้อมูลที่คิดว่าไม่ถูกต้อง ทุจริต หรือบริหารล้มเหลว ไปอภิปรายในสภาควรแสดงความเห็นต่อสถานการณ์โควิดอย่างสร้างสรรค์ พยุงสถานการณ์นำไปสู่การปฏิบัติและแก้ไข

อย่าคิดล้มล้างรัฐบาลโดยทำให้บุคลากรด่านหน้าเสียกำลังใจ

อย่าใช้โอกาสนี้ดิสเครดิตอย่างเดียว

มั่นใจชนะศึกสงครามโควิดแค่ไหน นายสาธิต บอกว่า...

...สถานการณ์แบบนี้รัฐบาลยังไม่มีเอกภาพเพียงพอ

ขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลหันหน้ามาพูดคุยกัน

เพื่อระดมสรรพกำลัง มันสมองที่มีอยู่ แก้ปัญหาโควิดให้ได้.

ทีมการเมือง