การประชุม ครม.วันอังคารที่ผ่านมา คุณไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกสำนักนายกฯ แถลงว่า กระทรวงการคลัง ได้รายงานนายกฯถึง การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) โดย Japan Credit Rating Agency (JCR) ปี 2564 ที่ระดับ A- และ ยืนมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) นายกฯได้กล่าวใน ครม.ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี สะท้อนถึงมุมมองของต่างประเทศต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

ฟังแล้วก็ ปลื้มใจแทนคนไทยและรัฐบาลไทยนะครับ แม้ไทยจะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิดอาละวาดมาสองปี แต่พื้นเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งระดับ A- อยู่ในระดับประเทศที่น่าลงทุนมากเลยทีเดียว

ความจริง รัฐบาลไทยเป็นลูกค้า JCR ในการทำเรตติ้งประเทศมาเป็นสิบปีแล้ว ปีที่แล้ว 2563 JCR ก็จัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ A- และ ยืนมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งที่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก มากจนคนไทยรู้สึกได้ด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย จนคนรวยต้องออกมาส่งเสียงเรียกร้องทุกวัน ขอทำงานแทนรัฐบาล ไม่งั้นไปไม่รอดแน่

มาอ่านเหตุผลของ JCR กันเสียหน่อยนะครับ

JCR มองว่า แม้การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่การที่รัฐบาลกู้เงินมา 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 กลับมาเติบโตที่ 3% แม้รัฐบาลจะทำงบประมาณขาดดุล ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะสูงขึ้น แต่ JCR ก็เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลัง และบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ภาคการธนาคารก็มีเสถียรภาพ ทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูง ที่ควรติดตามคือความไม่แน่นอนทางการเมืองและการปฏิรูปนโยบาย

...

ถือว่าคุ้มค่าจ้าง เพราะจัดอันดับเรตติ้งประเทศไทยออกมาดีทุกปี

วันเดียวกับที่รองโฆษกแถลงข่าวอันดับเรตติ้งประเทศไทย ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2564 ของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย พบว่า แรงงานไทยที่มีรายได้ตํ่ากว่า 15,000 บาทต่อเดือน 98.1% มีภาระหนี้สิน ถือเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยเก็บข้อมูลมา ส่วนใหญ่ เป็นหนี้จากเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้แรงงานไทยที่มีรายได้ตํ่ากว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีหนี้ครัวเรือน 206,000 บาท เพิ่มขึ้น 29.56% จากปี 2562 แยกเป็นหนี้ในระบบ 71% หนี้นอกระบบ 29% ถือเป็นภาระหนี้สูงสุดจากการเก็บสำรวจมา 12 ปี

เป็น ข่าวร้ายของประชาชน ที่ตรงข้ามกับ ข่าวดีของรัฐบาล โดยสิ้นเชิง

ดร.ธนวรรธน์ ระบุว่า การเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่และกิจกรรม จากการระบาดรอบ 3 ทำให้การใช้จ่ายต่อวันลดลงไป
เพิ่มขึ้น 30-40% หรือ หายไปวันละ 6,000 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลสามารถคลี่คลายได้ภายใน 2 เดือน หรือภายในเดือนมิถุนายนนี้ เงินใช้จ่ายจะหายไปประมาณ 3 แสนล้านบาท และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4.5 แสนล้านบาท ถ้าผู้ติดเชื้อยังไม่น้อยกว่า 100 คนต่อวัน

รัฐบาลจะต้องเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อทดแทนเงินใช้จ่ายในระบบที่หายไป เพื่อพยุงเศรษฐกิจไตรมาส 2 ให้ยังบวกได้ 5% จากปี 2563 ที่ติดลบ 12.2%

นี่คือ ความจริงอันเจ็บปวดของคนไทย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ฟังแล้วอาจไม่ปลื้ม.

“ลม เปลี่ยนทิศ”