- นายกฯ แถลงเอง ยืนยันรัฐบาล-ศบค. พร้อมรับมือการระบาดเต็มที่ ประเทศต้องชนะ
- หากตัวเลขติดเชื้อสูงต้องลดการพบปะของคนทุกกิจกรรม อยู่บ้านให้มากที่สุด
- ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตทำไมไม่ให้กักตัวที่บ้าน อัด จะอ้างว่าไม่ได้ตั้งตัวไม่ได้แล้ว
ในห้วงเวลานี้สิ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจมากที่สุดแน่นอนว่าคงหนีไม่เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 อย่างแน่นอน เพราะการระบาดรอบนี้ดูเหมือนหนักหนาสาหัสกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศในเวลาไม่นาน ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อยังทะลุไปถึง 2,070 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เม.ย. 2564) หลายคนบอกตรงกันว่าครั้งนี้ของจริง และตัวเลขหลังช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นั้นไม่น่าจะหยุดแค่นี้ คาดว่าผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นอีก ในขณะที่มุมมองจากฝั่งรัฐบาลในฐานะฝ่ายปฏิบัติ และฝ่ายค้านในฐานะฝ่ายตรวจสอบเป็นอย่างไรไปรับฟังความคิดเห็นกัน
เริ่มจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อย่าง นายสาธิต ปิตุเตชะ บอกเล่าการทำงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังยกระดับมาตรการมาตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ในสถานการณ์ที่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุขและทุกภาคส่วนพยายามที่จะขับเคลื่อนแผนที่วางไว้ และมีการปรับแผนบางส่วนให้ตอบรับสถานการณ์ในการจัดการ ทั้งการควบคุม การแพร่ระบาดด้วย ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาเพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากขึ้น ยืนยันว่าทำอย่างเต็มที่ รัฐบาลพยายามดำเนินการในลักษณะที่มาตรการไม่หนักจนเกินไปควบคู่กับการเดินหน้าเศรษฐกิจ เราก็จำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมและเตรียมแผนที่ชัดเจน
...
กระทรวงสาธารณสุขเราเตรียมแผนล่วงหน้าอยู่แล้ว ถ้าตัวเลขยังสูงก็ไปอีกแผนหนึ่ง ขณะที่แผนการควบคุมการแพร่ระบาดทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะเป็นผู้พิจารณามาตรการ ซึ่งต้องรอดูว่ามาตรการที่ออกไป 14 วันเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่ลดมาตรการก็ต้องเข้มขึ้น ขณะที่แผนการรักษาเองก็ปรับเช่นกันหากมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น เตรียมไว้หมดแล้ว เป็นไปตามการวางแผนด้วยสถานการณ์ (Scenario Planning) ที่เราประเมินไว้ว่าถ้าแบบนี้ต้องทำอย่างนี้ ถ้าเป็นตัวนี้ต้องทำอย่างไร ในส่วนของมาตรการที่เข้มถึงขนาดเคอร์ฟิวหรือไม่ ยังพูดไม่ได้ แต่ต้องลดการพบปะของคนในทุกกิจกรรม และอยู่บ้านให้มากที่สุด ผลจะออกมาอย่างไรต้องดูกันอีกที
สถานการณ์เตียง ผู้ป่วยยังรอรักษา คนเริ่มกลัววัคซีน
ตอนนี้กำลังเก็บผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่ให้หมด รวมถึงปรับระบบการรับข้อมูลขาเข้า การจัดเตียงเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม Hospitel การจัดระดับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพื่อที่จะดำเนินการเป็นไปตามแผนให้ได้ ยืนยันว่าเตียง ณ วันนี้ (22 เม.ย. 2564) ยังพออยู่ เหลือเพียงการจัดการการไหลเวียนผู้ป่วยในแต่ละเคส แต่ละกลุ่มที่เราจัดวางไว้ ถ้าเราสามารถจัดการได้ก็จะทำให้แก้ไขสถานการณ์เตียงให้เพียงพอได้ ตอนนี้ตัวเลขเตียงยังมีว่างทั้งใน Cohort Ward (การจัดตั้งหอผู้ป่วยรวม) หรือ รพ.สนาม ที่ต้องมีการนำคนเข้าไป Hospitel ที่ต้องมี Activate (การเปิดใช้งาน) มากขึ้น การเพิ่มเตียงในส่วนอื่นๆ เพราะฉะนั้นในระบบทั้งหมดก็จะต้องดำเนินการ ส่วนอนาคตผู้ติดเชื้อมากขึ้นจะมีแนวทางกักตัวที่บ้านหรือไม่ ก็ต้องยกระดับไปถึงขนาดนั้น เป็นการเตรียมการไว้
ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ กระทรวงสาธารณสุข หรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องซึ่งมีหน้าที่ด้านนี้โดยเฉพาะ รวมถึงขอให้ศึกษาข้อมูลโดยละเอียดและรอบคอบเพื่อเปรียบเทียบ ทั้งข้อมูลลงลึกว่ามีผลหรือไม่ อย่างไร เกิดจากอะไร ไม่อยากให้ตัดแปะหรือย่อส่วน ถ้าอ่านทั้งหมดจะพบว่ามีข้อแนะนำต่างๆ ซึ่งการตัดสินใจจะฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนเอง เราคงไปสร้างความเชื่อมั่นด้วยการบอกไม่ได้ แต่การให้ความเชื่อมั่นโดยการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นว่าถ้าเราเปิดเผยข้อมูล และประชาชนได้ศึกษารายละเอียดจากข้อมูลหรือจากผู้เชี่ยวชาญ เขาก็จะสร้างความมั่นใจให้เขาตัวเองได้
ฝ่ายค้านยังโจมตี วัคซีนล่าช้า ไม่ทั่วถึง
“ในระบบตรวจสอบผมเห็นว่าเป็นความสวยงาม ฝ่ายค้านก็มีหน้าที่ เรารัฐบาลก็ต้องอธิบายสิ่งที่เป็นข้อจำกัดในการที่เราตัดสินใจทำในแต่ละเรื่อง แน่นอนที่สุด คนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็วิพากษ์วิจารณ์ในมุมที่คิดว่าทำไมไม่ทำในสิ่งที่ดีกว่า แต่ต้องยอมรับว่าคนวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ทราบในรายละเอียดของแต่ละการตัดสินใจ หรือแต่ละโครงการที่ทำ ว่ามีปัจจัย อุปสรรค ข้อกฎหมาย หรือมีโครงสร้างการทำงานที่มีปัญหาหรือไม่ เพราะฉะนั้น เราในฐานะที่เป็นคนทำงานอาจจะมีเวลาน้อย แต่ผมก็พยายามสั่งให้ทุกฝ่ายชี้แจงให้ครบถ้วนว่าเราตัดสินใจตรงนี้เพราะอะไร เรื่องเตียงทำไมเราทำแบบนั้น ทำไมเอาสถานที่นี้ ไม่เอาสถานที่นั้นเป็น Hospitel เป็น รพ.สนาม รวมทั้งการฉีดวัคซีนหรือการจัดหาวัคซีน ก็เป็นสิทธิของฝ่ายตรวจสอบที่กำลังตรวจสอบ แต่ทางรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ กับรองนายกฯ ก็ต้องมีหน้าที่ตอบคำถามว่าที่ตัดสินใจทำ เลือก หรือแผนที่เตรียมการไว้มีเหตุผล มีข้อจำกัดอะไร ทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น อันนี้ผมว่าก็เป็นเรื่องที่ดีในระบบ อย่าไปกังวล”
ส่วนความคืบหน้าอาการของ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง พี่ชายของ นายสาธิต ที่ทราบผลตรวจติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. นั้น ก็มีการติดตามอาการและแพทย์รายงานอาการทุกวัน แรกๆ มีอาการไข้ ท้องเสีย เป็นอาการที่พบได้ของโรคโควิด-19 จนมา 1-2 วันหลังอาการดีขึ้น เอกซเรย์ปอดก็ไม่มีปัญหาอะไร ตอนแรกคิดว่าปอดชื้น ตอนนี้ไม่ไข้แล้ว ทานอาหารได้ แต่อาจจะนอนไม่หลับบ้านเป็นอาการปกติ หากครบ 10 วันไม่มีอะไรก็น่าจะปลอดภัย ทั้งนี้ พี่ชายมีอาการเชื้อลงปอดนิดหน่อยแต่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ได้เร็ว ก็ช่วยให้อาการดีขึ้น และพื้นฐานพี่ชายเป็นคนแข็งแรง ออกกำลังกายประจำ
จะอ้างไม่ได้ตั้งตัวเหมือนระลอกแรก ระลอก 2 ไม่ได้
มาที่ทางด้านฝ่ายค้านกันบ้าง มองการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลระลอกใหม่อย่างไร นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับประชาชน เพราะนี่เป็นการระบาดในคลื่นที่ 3 (Third wave) หรือระลอกที่ 3 แต่จริงๆ แล้วในเชิงวิชาการหมายถึงการระบาดระยะที่ 3 ไม่ใช่แค่ Third wave แต่เป็นเฟส 3 ด้วย ก็หมายความว่าประชาชน หรือคนไข้ที่ไม่ได้มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง เดินไปเที่ยวห้าง ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไปตรวจแล้วผลเป็นบวกบางครั้งติดตามไม่ได้ว่าเขาติดมาจากไหน นี่เป็นนิยามของเฟสที่ 3 แล้ว ซึ่งทางวิชาการแบ่งการระบาดของโรคเป็น 3 เฟส แทบไม่มีโรคระบาด Pandemic (การระบาดของโรคที่แพร่กระจายไปทั่วโลก) ไหนเลยที่จะจบในแค่ระยะที่ 1 หรือระยะที่ 2 เพราะฉะนั้นเป็นที่คาดหมายได้อยู่แล้วว่าการระบาดในระลอกที่ 3 จะต้องเกิดขึ้น แต่การระบาดระลอกแรก และระลอกที่ 2 กว่าจะถึงระลอกที่ 3 ใช้เวลาหลายเดือน ถ้านับจากระลอกแรกก็เป็นปี แต่พอมาถึงการระบาดในระลอกที่ 3 หรือระยะที่ 3 แล้ว ปรากฏว่าไม่ได้มีการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของทางภาครัฐหรือผู้นำในการที่จะรองรับสถานการณ์ได้
เรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่จะเป็นทางออก มันก็ประหลาดไปหมด ทำไมประเทศเราถึงมีวัคซีนให้เลือกแค่ 2 ตัว คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ซึ่งเราเลือกไม่ได้ เพราะรัฐจะเป็นผู้จัดการให้เรา ไม่สามารถเลือกได้ว่าอยากฉีดตัวไหน เสียโอกาสสำหรับประชาชนไปเยอะ เหมือนกับทุกอย่างเพิ่งมาเริ่มทำ รวมถึง รพ.สนาม มันน่าหดหู่ใจตรงที่ว่า แทนที่การระบาดระลอก 2 ซึ่งเกิดขึ้นที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร รัฐจะต้องเตรียมตัวแล้วว่ามีโอกาสเกิดระลอกที่ 3 ต้องวางแผนจัดสรรทรัพยากรอย่างไร ต้องเตรียมเตียง รพ.สนาม เท่าไรในแต่ละพื้นที่ รวมถึงบุคลากร เหมือนมีความพยายามที่จะเตรียม เช่น จะนำตู้คอนเทนเนอร์มาดัดแปลงเป็น รพ.สนามในแต่ละชุมชน แต่ปรากฏว่าก็ไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องน่าเสียดาย จะมาอ้างเหมือนระลอกแรกและระลอก 2 ว่าไม่ได้ตั้งตัวไม่ได้ เพราะไม่ได้เหนือความคาดหมาย อยู่ในความคาดหมายเชิงวิชาการอยู่แล้วว่ามันต้องเกิดและเกิดแน่ๆ แต่พอเกิดขึ้นกลับไม่พร้อม
กรณีที่รัฐบาลกำลังเจรจาวัคซีนอีก 2-3 ยี่ห้อ ส่วนตัวได้รับข้อมูลมาหลากหลายมาก บางคนบอกว่าดีลล่ม บางคนบอกว่าดีลได้ แต่ตัวเลขก็ไม่ชัดเจน เราคาดหวังกับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เนื่องจากวัคซีนหลักๆ มี 3 กลุ่ม คือ เชื้อตาย (ซิโนแวค) Viral Vector (แอสตราเซเนกา) ซึ่งในแต่ละกลุ่มหากเกิดผลข้างเคียง ผลข้างเคียงก็จะเกิดคล้ายๆ กัน เช่น การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis events) ทางออกคือวัคซีนชนิด mRNA คือ โมเดอร์นา และไฟเซอร์ ซึ่งในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงออกมาก็มีไฟเซอร์ เราก็คาดหวังภาวนาว่าจะต้องได้ เพราะคิดว่าระดับรัฐบาลเจรจาไปแล้วยังไม่ได้มันแสดงถึงภาพลักษณ์ ความมั่นใจของประชาชนที่จะเชื่อมันกับรัฐบาลจะเป็นอย่างไร จะคาดหวังอะไรได้อีก
“ผมเอาใจช่วยนะ ไม่ใช่เอาใจช่วยรัฐบาล แต่ผมเอาใจช่วยประชาชนที่เขาควรจะมีทางเลือก มีวัคซีนหลายๆ กลุ่มที่จะสามารถเลือกฉีดได้”
ทำไมไม่ให้คนไม่มีอาการกักตัวที่บ้าน
เรื่องนี้ก็รู้สึกประหลาดใจมาก เพราะประมาณวันที่ 17-18 เม.ย. ได้เห็นแนวเวชปฏิบัติที่แจกให้แพทย์เพื่อที่จะเริ่มกระบวนการการทำ Home Isolation และ Home Quarantine (การกักตัวที่บ้าน) แปลว่าแพทย์ที่อยู่หน้างาน นักรบชุดขาวที่ต่อสู้อยู่ในสนามรบจริง พยายามที่จะเสนอแนะขึ้นมาแล้วว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำ เมื่อได้อ่านแล้วก็รู้สึกว่าคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่เวลาเราพูดไปก็จะถูกสวนกลับมาว่ากักตัวที่บ้านก็จะนำเชื้อไปติดคนที่บ้าน หรือบางคนมีโรคประจำตัว เพราะฉะนั้นต้องประเมินก่อนว่าผู้ป่วยกลุ่มใดสามารถ ทำ Home Isolation ได้หรือไม่ได้ ซึ่งที่ทำได้คือกลุ่มอายุไม่เยอะมาก อาการน้อยหรือไม่มีอาการ ไม่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะกลุ่ม 6 หลัก และสถานที่ที่บ้านเอื้อต่อการทำได้ จนเมื่อวันที่ 19 เม.ย. คาดหวังว่า ศบค. จะประกาศออกมา แต่ก็ไม่ประกาศ เท่าที่ทราบมีแพทย์พยายามเสนอแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ จึงรู้สึกแปลกใจ เพราะขณะนี้มีผู้ติดเชื้อหลักพันต่อวัน นักวิชาการไม่ได้คาดการณ์ว่าจะลดมาที่หลักร้อย แต่ยังคาดว่าจะสามารถขึ้นไปได้อีก โดยเฉพาะหลัง 2 สัปดาห์จากช่วงสงกรานต์ให้จับตาดูว่าจะขึ้นหรือไม่ เพราะมีการเคลื่อนตัวของมวลชน เนื่องจากไม่มีข้อห้าม เชื่อว่าจะต้องเพิ่มขึ้นอีก
“ถ้ามันเพิ่มขึ้นอีก ผมถามว่ากราฟที่เคสมันเพิ่งขึ้นต่อวัน กับศักยภาพที่คุณสามารถสร้าง รพ.สนาม จำนวนเตียงต่างๆ ได้ต่อวัน หรือต่อสัปดาห์ มันสอดคล้องไปด้วยกันหรือเปล่า ผมเชื่อว่ามันทำไม่ได้ ถ้าสมมติว่าเราเพิ่มขึ้นวันละ 5,000 เคส หรือ 10,000 เคส ซึ่งมันเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วจะสามารถสร้าง รพ.สนามแบบนั้นได้จริงหรือ แล้วผมถามว่าในโลกใบนี้มันมีประเทศไหนที่เอาคนติดเชื้อ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการ อายุน้อยหรืออายุมาก เสี่ยงหรือไม่เสี่ยง เอาไปกองอยู่ใน Stage Quarantine (SQ) ทั้งหมด มันไม่มี เขาก็พยายามทำ Home Isolation กันทั้งนั้นเพราะไม่มีความจำเป็น”
พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า พนักงานบริษัทอายุ 30 ปี ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีโรคประจำตัว อยู่คอนโดมิเนียมคนเดียวในกรุงเทพฯ พ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด มีความจำเป็นอะไรที่จะเอาไปเข้า SQ เขาสามารถที่จะใช้ทรัพยากรและสถานที่ในการดูแลตัวเองได้ แต่รัฐต้องมีระบบติดตามที่ดี ซึ่งกรมการแพทย์มีระบบที่เขียนไว้ในแนวทางแล้วว่าจะมีการประเมินอาการเช้า-เย็นด้วยซ้ำ ให้คนไข้รายงานว่ามีอาการอะไรบ้าง เราก็จำเป็นต้องเป็นห่วงคนไข้ที่ถึงแม้จะไม่มีอาการ บางทีอยู่บ้านอาจจะเกิดอาการขึ้นมาก็ได้ หรือจะพาไปกักตัวก่อน 48 ชั่วโมง แล้วค่อยให้กลับมาทำ Home Quarantine (HQ) ก็ได้ มีหลายรูปแบบมาก แต่การที่นำทุกคนไปกองอยู่มันไม่ใช่ ต้องเริ่มหาทางแล้ว และมองเห็นว่าข้าราชการ แพทย์ ต้องการที่จะทำ พอร่างกายขยับแต่หัวไม่สั่งการก็ไปไม่ได้
ถ้าจะทำมันได้อยู่แล้ว อยู่ที่จะทำหรือเปล่า
ไม่ค่อยเห็นแอ็กชั่น หลังจากที่เคยถามกระทู้สดด้วยวาจาเรื่องนี้เป็นคนแรกในสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 2563 โดยวันนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นายสาธิต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาตอบกระทู้แทน นอกจากนั้นก็ยังไปถามย้ำต่อในคณะกรรมาธิการสาธารณสุขหลายครั้งว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประเมิน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเคยเป็นทหารประเมินว่าสิ่งนี้คือการสู้รบ ก็ต้องประเมินว่าจะยืดเยื้อเท่าไร ต้องใช้กำลังพล(ทรัพยากร) และกระสุน(อุปกรณ์)เท่าไร ถ้าประเมินก็ให้บอกพวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรจะต้องบอกประชาชนด้วยซ้ำ ทุกคนในประเทศนี้มีสิทธิ์รู้ว่าสต๊อกยาฟาวิพิราเวียร์ไว้เท่าไร จัดสรรอย่างไร สามารถจัดการได้อยู่แล้ว มีนักวิชาการในมืออยู่มากมาย สามารถประเมินให้ได้อยู่แล้วว่าจะใช้ต่อเดือน หรือต่อไตรมาสเท่าไร รวมเรื่องเตียง รพ.สนาม และการฉีดวัคซีนด้วยอัตราเร็วแค่ไหนถึงจะเพียงพอ ซึ่งทุกอย่างเป็นตัวเลข ข้อมูล สถิติ สามารถทำได้ ตามที่รัฐบาลแจ้งว่าจะได้รับวัคซีนมากสุดเดือนละ 10 ล้านโดส ที่แพลนจะทำอย่างไร เพราะต้องฉีดวันละ 300,000 กว่าเข็ม
“หลายคนบอกหมอเป็นฝ่ายค้าน เอาแต่พูด ไหนเสนอมาซิว่าทำอย่างไร ถ้าผมนั่งหัวโต๊ะ ผมถามจริงๆ เราจัดสรรกันไม่ได้จริงๆ หรือ ถ้าอยากจะฉีดวันละ 300,000 เข็ม อันดับแรกต้องรู้ข้อมูลว่าแต่ละจังหวัดมีบุคลากรเท่าไร มี รพ. หรือจะจัดสถานที่ตรงไหน จริงๆ ไม่จำเป็นต้องฉีดใน รพ. ฉีดสถานีอนามัยก็ได้ ต่างประเทศเขาฉีดกันตามห้างก็ยังสามารถทำได้ ถ้าในภาครัฐไม่พอก็เอาเอกชนมาร่วม เพราะเอกชนเขาก็จะตายอยู่แล้ว ถ้าท่านสามารถสนับสนุนกิจการของเอกชนได้ สามารถเปิดห้างหรือสถานที่ของเอกชน ฮอลล์ต่างๆ สามารถทำเป็นที่ให้วัคซีนได้ แล้วก็จ้างบุคลากรของภาคเอกชนมาร่วมด้วย มันทำได้อยู่แล้ว งบประมาณโควิด-19 มีตั้งเท่าไร ท่านใช้ไปนิดเดียวเอง มันประเมินได้อยู่แล้ว ประเทศนี้ถ้าจะทำให้มันได้ มันได้อยู่แล้ว อยู่ที่จะทำหรือเปล่า”
ส่วนเรื่องที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 เม.ย. วันเดียวประมาณ 150,000 เข็มนั้น ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่พอ คำนวณแล้วถ้าจะให้ดีที่สุดอยู่ที่ประมาณ 400,000 โดสต่อวัน แต่อย่างน้อยต้องอยู่ที่ประมาณ 300,000 กว่าโดสต่อวัน และจะครอบคลุมประชากรเพียง 50% และถ้าจะใช้ซิโนแวคต้องฉีดอยู่ประมาณ 70-80% ของประชากร แต่มองว่าได้ราว 60-70% ก็เก่งแล้ว อย่างไรก็ตาม 300,000 กว่าโดสต่อวันก็ยังไม่ทัน ต้อง 400,000 กว่าโดสต่อวันถึงจะทันกับวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน และที่สำคัญคือกังวลว่าเมื่อมีวัคซีนเข้ามาจำนวนมากแต่กลับไม่มีเข็มฉีด บางประเทศมีวิกฤตินี้เกิดขึ้น รวมถึงมองว่าแค่ถุงมือยางกับหน้ากากอนามัยก็ยังบริหารจัดการไม่ได้ และถ้าต้องใช้กันจริงๆ จะมีสต๊อกพอหรือไม่ ถามไปไม่รู้กี่รอบก็ไม่เห็นมีใครรายงานเรื่องนี้ออกมาให้ประชาชนมั่นใจ หากในอนาคตไซริงค์ (SYRINGE) ไม่พอต้องมาใช้ร่วมกัน ใช้วิธีการฉีดแบบกระมิดกระเมี้ยนแล้วเกิดการติดเชื้อขึ้นมาจะยุ่งยากกว่าเดิม และคิดว่าข้อมูลพวกนี้ไม่ใช่ข้อมูลลับ ทำไมถึงไม่บอก
ถ้ามีคนตายอยู่ที่บ้านโดยไม่ได้แอดมิต ต้องลาออกทั้งกระบุง
ส่วนตัวได้ฉีดวัคซีนซิโนแวค หลังการฉีดไม่มีผลข้างเคียงอะไร พยาบาลที่มาฉีดก็เชี่ยวชาญอยู่แล้ว ก็เหมือนฉีดวัคซีนปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหนืดกว่าปกติ วัคซีนบางชนิดเวลาฉีดจะปวดกล้ามเนื้อมาก แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการฉีดวัคซีนมี Risk (ความเสี่ยง) การฉีดวัคซีนหรือการได้รับการรักษาทางการแพทย์ทุกชนิด แม้แต่การกินพาราเซตามอลมันก็มีความเสี่ยง ไม่ได้มีแต่ Benefit (ประโยชน์) อย่างเดียว เพราะฉะนั้นต้องนำมาเทียบกันว่าเราควรจะรับการรักษาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในระดับนานาชาติก็ยังยืนยันว่าฉีดดีกว่าไม่ฉีด ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลค้าน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างกรณีที่ จ.ลำปาง เหตุการณ์บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีน ต้องมีการสอบสวนอย่างตรงไปตรงมาว่าสรุปแล้วเกิดจากสาเหตุอะไรแน่ ฟันธงออกมาให้รู้ว่าเกิดจากอะไร และต้องทำรายงานกลับไปด้วยว่าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่ช่วงอายุกลับน้อยลง และขณะป่วยก็มีอาการ เป็นข้อสังเกตที่เคยพูดตั้งแต่การระบาดสายพันธุ์อังกฤษมาใหม่ๆ การติดเชื้อตีวงใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ต่างจากรอบแรกและรอบที่ 2 ในรอบนี้ส่วนตัวก็ต้องไปตรวจหาเชื้อเช่นกันแต่ไม่พบเชื้อ และกักตัวจนครบ 14 วันแล้ว เนื่องจากไปร่วมงานเดียวกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของข้อสังเกตได้ไปค้นข้อมูลทางวิชาการมาพบว่าอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นจริง ซึ่งอาจารย์แพทย์บางท่านก็ยอมรับว่าอัตราการตายสูงขึ้น เกิดจากสายพันธุ์นี้ติดง่ายขึ้น 1.7 เท่า แพร่ง่ายขึ้น อย่างช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเตียงเต็ม คนไข้ที่มีผลเป็นบวกต้องติดต่อมาที่ ส.ส. ให้ช่วยจัดหาเตียงให้ บางรายติดเชื้อ 7 วัน มีอาการแต่ยังต้องอยู่ที่บ้าน ก็ไม่มี รพ.ที่จะรับเข้าไปรักษา
“ผมตั้งเอาไว้ว่าอย่านะ อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้วมีคนตายอยู่ที่บ้านโดยที่เขาไม่ได้แอดมิต ถ้าเกิดขึ้นมาคุณต้องลาออกทั้งกระบุงเลยนะ นี่เป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายมากที่คุณไม่สามารถจัดการได้ เพราะดันเอาคนที่ไม่จำเป็นไปอยู่ ทุกคนที่ตรวจได้ก่อนแล้วกองเข้าไปใน SQ หมด แบบนี้มันไม่ถูก”
อย่าให้เกิดวิกฤติขาดทรัพยากรเด็ดขาด
สิ่งที่อยากจะฝากถึงรัฐบาล เรื่องแรกคือวัคซีน การเจรจาไม่จำเป็นต้องงุบงิบ จะไปวันไหน เจรจากับใครก็ควรบอก เพราะเป็นผลงานแท้ๆ เรื่องที่ 2 การจัดการทรัพยากรในการฉีดด้วยอัตราเร็ว 300,000-400,000 โดสต่อวัน จะทำอย่างไร ทั้งบุคลากร สถานที่ ซึ่งการที่ฝ่ายค้านออกมาไม่ได้ตำหนิแต่เป็นการแสดงความกังวล เราต้องถามคนที่มีอำนาจบริหารว่าจะทำอย่างไร เรื่องที่ 3 อย่าให้เกิดวิกฤติในการขาดทรัพยากรเด็ดขาด เข็ม ไซริงค์ รวมถึงยา และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ
“ในส่วนของประชาชน ฝากว่ายังต้องระมัดระวังตัวเองมากๆ เพราะเมื่อเราไม่มั่นใจรัฐบาล ถ้าเขาดูไม่น่าไว้ใจ ไร้ศักยภาพ เราก็ไม่ไว้ใจเขาได้ แต่เราต้องติดตามว่าในระดับโลกตอนนี้ก็ยังออกมาว่าควรจะต้องฉีดวัคซีน นอกจากเป็น ส.ส.แล้ว ผมเป็นหมอ มีคนมาปรึกษาเยอะว่าจะฉีดดีไหม เอาไงดี ตัวไหน ทุกวันนี้ก็ยังต้องมานั่งตอบคำถามว่าตกลงฉีดหรือไม่ฉีด ซึ่งผมก็ยังย้ำอยู่ดีด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ปัจจุบัน ณ เวลานี้ว่า ในระดับโลก ฉีดก็ยังดีกว่าไม่ฉีด ฉีดตัวที่ห่วยที่สุดก็ยังดีกว่าไม่ฉีด และวัคซีนทุกตัวมี Risk หมด แต่ปัจจุบัน Benefit ก็ยังเยอะกว่า Risk อยู่ดี”
นายกฯ ยันเอง รัฐบาลพร้อมรับมือการระบาดเต็มที่
ล่าสุดช่วงค่ำว่านนี้ (23 เม.ย.) นายกรัฐมนตรีก็ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สรุปความได้ว่า รัฐบาลและ ศบค. มีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อยู่ตลอดเวลาโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับมาตรการให้เข้มงวดขึ้น จะมีการเร่งพิจารณาและประกาศล่วงหน้าให้ได้รับทราบโดยทันที เพื่อความไม่ประมาทก็ได้สั่งการให้มีความเตรียมพร้อมระบบสาธารณสุขของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เร่งรัดกระบวนการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง รวมทั้งพิจารณาการฟื้นฟูเยียวยาในอนาคตด้วย ยืนยันว่ามีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้อย่างเต็มที่
“ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผมขอให้คำมั่นสัญญาว่า ผมและรัฐบาลจะทำทุกทางเพื่อให้เราผ่านวิกฤติในระลอกนี้ไปให้ได้ พวกเราทุกคนจะสู้ไปด้วยกันอีกครั้ง และผมเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของเราทุกคนประเทศไทยจะต้องเอาชนะโรคร้ายในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน”
ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ก็มีสิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่พูดตรงกันคือเรื่องที่ประชาชนควรรับฟังข้อมูลให้มาก เพื่อประโยชน์ของตัวเอง การจะฉีดวัคซีนหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ที่เราเลือกได้ ในขณะที่แพทย์หลายท่านก็ออกมาให้ความเห็นว่าควรจะเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศ แต่อย่างไรก็ยังต้องติดตามกันต่อว่าสถานการณ์และแผนต่างๆ จะเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีและฟากฝั่งรัฐบาลออกมาแถลงรายวันหรือเปล่า แถมยังต้องลุ้นตัวเลขผู้ติดเชื้อว่าจะสูงขึ้นแค่ไหน นิวไฮอีกหรือไม่ จะฉีดวัคซีนได้ตามเป้าจริงไหม แต่สิ่งสำคัญคือเราทุกคนยังต้องดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดต่อไป ทั้งสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง รอคอยวันที่จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun