“พล.อ.ประยุทธ์” สั่งเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วและมากที่สุดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เผยสาเหตุสั่งมาน้อยในระยะแรก แง้ม กำลังเจรจาไฟเซอร์อีก 5-10 ล้านโดส พร้อมสต๊อกยาฟาวิพิราเวียร์ให้ได้ 3.5 ล้านเม็ด
วันที่ 20 เม.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามถึงเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลถูกกระแสโซเชียลโจมตีอย่างหนักกรณีอยากให้เอกชนนำเข้าวัคซีน ว่า ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาดำเนินการมาโดยตลอด แต่ต้องการให้เกิดความชัดเจน จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาซึ่งมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน มีการหารือกับสมาคม โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงผู้รู้ทั้งหลายเพื่อมาให้ข้อมูลว่าจะดำเนินการได้อย่างไรให้ได้วัคซีนทางเลือกเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งวัคซีนผลิตโดยบริษัทเอกชน การจะส่งออก-นำเข้าต้องขออนุญาตรัฐบาล โดยเราก็ติดต่อรัฐบาลต่อรัฐบาลด้วย
“ที่เรารับวัคซีนมาในช่วงแรกนั้น เราจัดซื้อสั่งมาในฐานะที่เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีมากในระยะที่ 1 เราก็จัดหาวัคซีนมาตามความจำเป็น เราก็ไม่อยากให้ประชาชนมีความเสี่ยงในกรณีที่วัคซีนเหล่านั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทราบ วันนี้เมื่อพิสูจน์ทราบมาแล้วผมก็เปิดโอกาสช่องทางให้หลายๆ ยี่ห้อเข้ามาเสนอความต้องการจะขายวัคซีนให้กับเรา ก็ต้องหาช่องทางว่าเราจะซื้อได้อย่างไร เนื่องจากเป็นการติดต่อระหว่างรัฐต่อรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องไปดูว่าภาคเอกชนของเขากับรัฐของเขาด้วย แล้วเราถึงจะพร้อมที่จะรับวัคซีนของเขามา ขอให้เข้าใจตรงนี้แล้วกัน ไม่ใช่เพราะเราจองช้า ช้าเกินไป จำนวนน้อยเกินไป ทุกอย่างมันพัฒนาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่อยากให้ประชาชนมีความเสี่ยงในตอนแรกที่มีการเริ่มผลิตวัคซีนออกมา”
...
ส่วนเรื่องกระบวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 นายกรัฐมนตรี ระบุเพิ่มเติมว่า ได้เร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดและทั่วถึง สั่งการเร่งรัดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว ให้ทุกจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนที่ได้รับไปให้เร็วที่สุดและมากที่สุดจนครบ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเตรียมวัคซีนสำรองไว้ในระยะต่อๆ ไปเพื่อให้ทั่วถึงและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ ขณะที่การเข้าถึงวัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2564 เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทั้งประเทศโดยเร็ว และดูว่ามีผู้สมัครใจฉีดวัคซีนเท่าใด พร้อมขอให้รวบรวมแพทย์ พยาบาล มาช่วยกันฉีดวัคซีนด้วย
ทางด้านวัคซีนที่ติดต่อไว้และประมาณการว่าจะเข้ามาคือวันที่ 24 เม.ย. 2564 วัคซีนซิโนแวคจะเข้ามาอีก 500,000 โดส เดือน พ.ค. วัคซีนซิโนแวคอีก 1,000,000 โดส แต่ต้องรอนโยบายของรัฐบาลจีนด้วย ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย จะทยอยส่งตั้งแต่ มิ.ย. 4,000,000-6,000,000 โดส และจะเพิ่มจำนวนไปจนถึงสิ้นปีจนครบ 61,000,000 โดส น่าจะเพียงพอ อีกทั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก็กำลังเจรจากับทางไฟเซอร์ (Pfizer) มีความเป็นไปได้ที่จะส่งมาในช่วง ก.ค. ถึงสิ้นปี 5,000,000-10,000,000 โดส ขณะนี้อยู่ระหว่างรอใบเสนอราคาและเงื่อนไข โดยยังมีวัคซีนอีกหลายยี่ห้อ แต่ยังไม่อยากพูดไปล่วงหน้า เพราะอยู่ในขั้นตอนการติดต่อ ยืนยันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันเรื่องรัฐบาลผูกขาดวัคซีนว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เคยคิดเรื่องนี้ คิดแต่เพียงทำอย่างไรจะปลอดภัย จะจัดหาได้ รวมถึงการดำเนินการ เนื่องจากไม่สามารถทำได้เหมือนกับการซื้อยาตามปกติทั่วไปได้ และบริษัทผู้ผลิตเอกชนไม่รับผิดชอบกรณีที่เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียง จึงต้องเป็นรัฐจัดหาในขณะนี้ ซึ่งต่อไปคงจะคลี่คลาย
สำหรับกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด-19 จำนวนมากจนกระทบกับการรักษาผู้ป่วยนั้น ต้องเห็นใจ รวมถึงทหาร ตำรวจ ที่ดูแลด่านตรวจสกัด ดูแลผู้ชุมนุม หรือดูแลในแหล่งที่มีการแพร่ระบาด เขาติดเชื้อมาต้องเห็นใจและดูแล ไม่อยากให้สร้างภาระให้เขาอีกในเรื่องที่ไม่จำเป็น ที่ต้องใช้คนจำนวนมากลงไปดูแลใกล้ชิด ก็จะเป็นการแพร่เชื้อขยายกันต่อไป เราต้องรักษาบุคลากรทางการแพทย์ให้มากที่สุด ให้ความสำคัญ รักษาพยาบาล ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการดูแลอยู่แล้ว ขณะที่เรื่องการดำเนินคดีแหล่งแพร่ระบาด รัฐบาลก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้กำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีการพิจารณาโทษและลงโทษไปบ้างแล้ว รวมถึงตรวจสอบถึงเจ้าของที่แท้จริงของสถานบริการต่างๆ และจะดำเนินคดีต่อไปทุกกรณี
นอกจากนี้ เรื่องแผนการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หลายคนเข้าใจว่าเราขาดแคลน แต่รัฐบาลจัดเตรียมแผนสำรองในการจัดหาไว้แล้วโดยกระทรวงสาธารณสุข และต้องเข้าใจตรงกันว่าไม่ใช่ยาที่กินแล้วจะป้องกันโควิด-19 ส่วนวัคซีนก็เพื่อสร้างภูมิต้านทาน และยังต้องควบคู่ไปกับใช้มาตรการทางสาธารณสุขด้วย อีกทั้งเห็นหลายจังหวัดเริ่มมีบทลงโทษผู้ที่ไม่ใส่หน้ากาก ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่บางครั้งก็จำเป็น เพราะมีคนประมาทเลินเล่อ ทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นเรื่อยๆ โทษใครไม่ได้อยู่แล้ว และเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องไม่โทษซึ่งกันและกัน พร้อมขอบคุณกำลังใจที่ให้มายังนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ครม. เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ ให้กำลังใจรัฐบาล ยืนยันว่าจะไม่หยุดที่จะคิด บริหาร จัดการ แต่ทั้งนี้ต้องฟังความคิดเห็นบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ในช่วง เม.ย.-พ.ค. มีการจัดหาเพิ่มเติมอีก 2,000,000 ล้านเม็ด และช่วง พ.ค.-มิ.ย. 1,000,000 ล้านเม็ด และ มิ.ย.-ก.ค. อีก 500,000 เม็ด โดยจะสั่งซื้อมาสำรองให้มีในสต๊อก 3,500,000 เม็ด ให้ได้เร็วที่สุด ตอนนี้ยายังพอเพียงในการรักษา และจะต้องมอนิเตอร์รายวัน หากสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นก็เพิ่มไปอีก ต้องมีแผนเป็นขั้นตอน
“เรื่องใดก็ตามที่นายกฯ พูดออกไป พูดในฐานะผู้นำรัฐบาล บางครั้งผมก็ต้องเอาข้อมูลจากหน่วยงาน เป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ ขอให้ฟังช่องทางอื่นๆ ด้วย วันนี้ผมเน้นย้ำในเรื่องของโรงพยาบาลสนาม ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าต้องเตรียมให้ได้ทุกพื้นที่ ตรงไหนจำเป็นต้องเปิดก่อนก็เปิด ถ้าไม่พอก็จะเปิดเพิ่มเติม ขอความร่วมมือประชาชนให้เข้าใจตรงกัน หลายคนอยากจะเข้าโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน แต่เนื่องจากขีดความสามารถในการรองรับมันไม่พอ และจำเป็นต้องรักษาเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย อาจจะอยู่ไกลบ้านท่านบ้าง แต่ขอให้ทำความเข้าใจว่าเราจะไปดึงดันเข้าโรงพยาบาลรัฐทำไม มันไม่ได้ในขณะนี้ ต้องนึกถึงคนอื่นด้วย รัฐบาลพยายามจะพยายามทำอย่างเต็มที่ ขอขอบคุณภาคธุกิจที่สนับสนุนสิ่งของต่างๆ ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งอุปกรณ์ อาหารและเครื่องดื่ม เราจะต้องชนะไปด้วยกัน ชนะโควิดให้ได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอโทษที่พูดเร็วที่ผ่านมา พูดถูกบ้างผิดบ้าง วันนี้พยายามจะพูดช้าๆ ขอให้เข้าใจ พยายามเต็มที่เพราะค่อนข้างทำอะไรเร็ว คิดเร็ว พูดเร็ว หลายเรื่องอยู่ในสมองนายกรัฐมนตรีเยอะ พยายามจะทำให้ดีที่สุดด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน อะไรไม่ดีก็ขอโทษ อะไรที่ดีก็ขอให้ร่วมมือ นายกรัฐมนตรีไม่เคยเป็นอื่น ยังคงยึดมั่นในหลักการมาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยของเราดีขึ้น ดีที่สุดในอนาคต แก้ปัญหาอุปสรรคเดิมๆ ที่มีอยู่ ปัญหาเข้ามาทุกวัน แสดงว่าเรายังแก้ไขปัญหาได้ไม่หมด ยืนยันว่าต้องเร่งดำเนินการให้จงได้ พร้อมขอบคุณพ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกคนที่รักยิ่ง.