โควิดรอบที่แล้ว รัฐบาลต้องใช้เงินกู้ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้าน ไม่รวมงบประมาณฉุกเฉิน งบความมั่นคง งบกระทรวงทบวงกรมที่ตัดเอามาแปะ แก้ปัญหาโควิด-19 บานตะไทไปพอสมควร ถึงบ้างไม่ถึงบ้าง เข้ากระเป๋าบ้าง ทำให้การเยียวยาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำหนดเป็นนโยบายออกมาไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เอาไปอบรม ส่งเสริมความรู้ สารพัด เงินเยียวยาเลยไปติดกับดักอยู่ข้างบน ไม่มีการสร้างงานและใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

ที่สำคัญคือเกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม

มารอบนี้หนักกว่าทุกรอบที่ผ่านมาหลายเท่า ผลกระทบไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นปัญหาระยะยาว ที่จะเกิดกับสภาพเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ทุนใหญ่ๆย้ายฐานการผลิต เม็ดเงินลงทุนไม่เข้าประเทศ การจ้างงานไม่มี ส่งผลถึงการอุปโภคบริโภคภาคประชาชนลดลง สภาพคล่องการเงินการคลังมีปัญหา ตามมา ลามไปถึงจุดสำคัญมีการเลิกจ้าง ปิดกิจการ กระทบกับรายได้ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวการบริการ รายได้จากภาษีบุคคล นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม วิกฤติเศรษฐกิจซ้อนเป็นวงกลมหลายวง

รายได้มาจากประตูเดียวคือการกู้

เฉพาะการเยียวยาโควิด-19 รอบนี้ ที่มีข่าวว่ารัฐบาล จะต้องกู้เงินเพิ่มอีกจำนวน 3 แสนกว่าล้านบาท เพื่อเอามาเยียวยา ซึ่งถ้ามองในภาพรวมแล้ว การกู้เงินมาใช้จ่าย ก็เท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับชาวบ้าน จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นของรัฐบาลเอง เพราะในที่สุดแล้ว ประชาชน ก็จะต้องเป็นคนรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดขึ้น ประชากร มีกี่หัวก็เอาไปหารจำนวนหนี้ทั้งหมด เด็กที่เกิดมายังไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็ต้องรับภาระหนี้สินไปด้วย

มีการคำนวณ ทางเศรษฐศาสตร์ จากนักวิชาการด้วยซ้ำไปว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด จะต้องใช้เงินถึง 2.4 ล้านล้านจึงจะได้ผล เพราะพื้นฐานและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปและได้รับความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบของโควิด-19 การส่งออก อุตสาหกรรม ตลาดเงินตลาดทุน ได้รับผลกระทบหมด

...

จะไปเอางบประมาณขนาดนี้มาจากไหน ก็ต้องกู้อย่างเดียว

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จะเข้าสภาในต้นเดือน พ.ค.นี้ ต้องจับตาว่า การจัดสรรงบประมาณ จะสอดคล้องกับ สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 หรือยังทุ่มเทให้กับ วัตถุต่างๆในกองทัพจะรับรู้ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านในยุคข้าวยากหมากแพงค่าแรงถูก หรือจะสนองความต้องการของกลุ่มทุนกลุ่มอำนาจ

ชาวบ้านคงไม่อยากได้อาวุธยุทโธปกรณ์ แต่อยากได้วัคซีนโควิด-19 มากกว่า

ข้อความที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โพสต์เอาไว้ รัฐสามารถที่จะบริหารกระจายวัคซีนให้กับชาวบ้านได้กว่า 10 ล้านเข็มต่อเดือน เงิน จาก พ.ร.บ.เงินกู้ที่ค้างอยู่อีก 2.5 แสนล้าน ต้องเอามาแก้ปัญหาปากท้องเฉพาะหน้าให้ชาวบ้านด้วยการจ่ายเงินเดือนให้ร้อยละ 50 แลกกับการที่นายจ้างไม่เลิกจ้างและผู้ที่ได้รับผลกระทบรายละ 3,000 บาทถ้วนหน้า

ข้อสุดท้ายเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหาร ไม่ควรมองว่าประชาชนคือภาระ แต่ประชาชนคือผู้แบกรับภาระ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th