“บิ๊กตู่” ส่งความปรารถนาดีวันผู้สูงอายุ อยากให้คนไทยทุกช่วงวัย เห็นคุณค่าการออม มีใช้ยามจำเป็นและยามชรา ยัน รัฐบาลเดินหน้าดูแลสังคมสูงอายุ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ (13 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังผู้สูงอายุ ครอบครัวพี่น้องชาวไทย รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานด้านกิจการผู้สูงอายุ โดยหวังให้คนไทยตื่นตัวเรื่องสังคมสูงอายุให้มากเพราะเกี่ยวข้องกับคนทุกคน รัฐบาลจึงได้กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ และสานต่อแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ (พ.ศ.2545-2565) เพื่อสร้างความพร้อมสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ที่คาดการณ์ปี 2564 จะมีประชากรไทย อายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี ปีละล้านคน รวมถึงในปี 2576 สัดส่วนผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 28 เข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด
 
สำหรับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุ รัฐบาลกำหนดให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (25-59 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในส่วนกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการออม การสร้างทัศนคติไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ การให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้สูงอายุ และการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ ส่วนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้สูงอายุ จะเน้นการเสริมทักษะการทำงานใหม่ การสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ การสร้างงานผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ สนับสนุนเงินทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพผู้สูงอายุ ในด้านสุขภาพ รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณสุขให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจ ป้องกัน และดูแลสุขภาพในระยะยาวที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็น
 
นอกจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลการรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ยังพบว่าคนไทยมีอายุยืนขึ้น และผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย ในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ดังนั้นเพื่อเชิญชวนให้คนไทยออมเงินจะได้มีใช้ในวัยเกษียณ ด้วยการเริ่มต้นการออมขณะที่อายุยังน้อย โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร รับจ้างทั่วไป พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอรไซค์ เป็นต้น รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการในหลายรูปแบบเพื่อสร้างหลักประกันในวัยเกษียณแก่ประชาชน คือ

...

1. การออมของผู้มีอาชีพอิสระ เริ่มออมได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) รัฐบาลช่วยสมทบด้วย ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกกว่า 2.4 ล้านคน

2. สำนักงานประกันสังคม เมื่อปีที่แล้วได้ปรับปรุงกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ขณะนี้มีจำนวนผู้ประกันตนกว่า 3.5 ล้านคน

3. ล่าสุด มี.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎหมายตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อการออมไว้ใช้ยามเกษียณของลูกจ้างในระบบทุกประเภท
 
“นายกรัฐมนตรีกล่าวในหลายโอกาสว่า อยากให้คนไทยทุกช่วงวัย เห็นคุณค่าของการออม ซึ่งถือเป็นการวางแผนชีวิตในระยะยาวสำหรับทุกคน เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ มีเงินพอใช้ในการดำเนินชีวิตในช่วงสูงอายุ และยามจำเป็น แม้เวลานี้เราจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายได้ลดลง ก็ขอให้คำนึงถึงการออมเพื่อบั้นปลายชีวิตด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเดินหน้าการกระจายการฉีดวัคซีน ซึ่งคาดว่าในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้น”.