รมว.ศึกษาธิการ สั่งลงดาบครูอัตราจ้างใช้ไม้บรรทัดตีเด็กอนุบาล 3 พร้อมทบทวนมาตรการสกัดความรุนแรงทั้งในและนอกสถานศึกษา
วันที่ 4 เม.ย. 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่มีครูโรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.หนองขวาว อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ใช้ไม้บรรทัดตีศีรษะใบหน้าและด้านหลังของเด็กชายชั้นอนุบาล 3 จนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ไม่นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าวและได้รับทราบรายละเอียดเบื้องต้นจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุรินทร์ เขต 1 แล้ว โดยเบื้องต้นทราบว่า ครูผู้ก่อเหตุเป็นครูอัตราจ้างที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จึงได้สั่งการให้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ติดตามการให้ความช่วยเหลือนักเรียน และพิจารณาสั่งให้ครูคนดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที พร้อมทั้งติดตามผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีความผิดจริง ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก จึงได้ให้เลขาธิการ กพฐ. ซักซ้อมเเนวปฏิบัติในการจ้างครูผู้สอนว่าจะต้องเป็นผู้ที่ต้องมีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนเท่านั้น และกำหนดไว้ในสัญญาจ้างด้วยว่าครูจะต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพครู พร้อมทั้งเน้นย้ำเป็นพิเศษว่าจะต้องปฏิบัติต่อศิษย์ด้วยความเมตตา ไม่กระทำการรุนแรงต่อศิษย์ ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดก็ตาม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ นายพันยศ เจริญภักดี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ถูกยิงที่ศีรษะบริเวณถนนเลี่ยงเมืองพิษณุโลก-สุโขทัย เนื่องจากมีปัญหากับเพื่อนร่วมชั้นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้ประชุมด่วนกับเลขาธิการ กพฐ. เพื่อหารือถึงมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยเห็นว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงเป็นสิ่งไม่อาจยอมรับได้ นอกจากต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรมแล้ว จะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องจิตวิทยา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการรู้จักตนเอง รู้จักวิธีการแสดงออกที่ถูกต้องเหมาะสมต่อผู้อื่นและสังคม
...
พร้อมกันนี้ได้หยิบยกนโยบาย Youth Counselor ของ สพฐ. ที่มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งเเล้ว มาทบทวนการทำงานใหม่ โดยเพิ่มบทบาทของนักจิตวิทยาประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ให้มีการทำงานเชิงรุกในสถานศึกษามากขึ้น ขณะเดียวกันต้องให้สถานศึกษาจัดระบบการเฝ้าระวังดูแลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะก่อเหตุทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรง รวมถึงการเข้าป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาการก่อเหตุรุนแรง นอกจากนี้จะมอบหมายให้ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาทบทวนระบบการดูแลความประพฤติของนักเรียนนักศึกษา ในปัจจุบันว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด ควรจะมีการรื้อฟื้นระบบสารวัตรนักเรียนที่ยุบเลิกไป หรือจะมีระบบอื่นๆ ที่สร้างความมั่นใจในการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
“จะมีความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับกรณีอื่นๆ และสร้างความมั่นใจร่วมกันระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต่อจุดเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้เรียนว่า การมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา หรือ Student Centricity ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของรูปแบบการทำงาน TRUST จะต้องเริ่มจากการที่สถานศึกษาทุกแห่งมีความพร้อมที่จะเป็นบ้านหลังที่สองให้แก่เด็กๆ ทุกคน เพราะถ้าบ้านยังไม่ปลอดภัยแล้ว เราก็ไม่อาจที่จะพูดถึงการพัฒนาผู้เรียนในเรื่องอื่นๆ ได้อีกเลย”.