ตอนแรกผมตั้งใจจะเล่าเรื่องตั๋งโต๊ะ ผู้นำคนเดียวในสามก๊กที่ “ยาขอบ” นักเขียนผู้มองโลกในแง่ดี ให้สมญาไว้ใน “สามก๊กฉบับวณิพก” ว่า ผู้ถูกสาปแช่งทั้งสิบทิศ แต่ก็เบื่อว่าจะเป็นเรื่องหนัก ในยามบ้านเมืองมีแต่เรื่องไม่สนุก จึงขอเบนเป็นเขียนเรื่องสะดือตั๋งโต๊ะ ที่ดูจะเบาสมองกว่า
ในหนังสือเกร็ดโบราณคดี ประวัติศาสตร์ไทย (สำนักพิมพ์รวมสาส์น พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2539) ส.พลายน้อย ค้นคว้าเรื่องสะดือไว้ยืดยาว
ธรรมเนียมบางบ้านเมือง อย่างนางอัปสร ปราสาทนครวัดของเขมร นุ่งผ้าใต้สะดือ จงใจโชว์สะดือ
อินเดียโบราณ ในเรื่องวาสิฏฐี ลักษณะของสะดือ ถ้าลึกบิดไปทางขวา บอกฐานะเป็นเบญจกัลยาณี ลักษณะสะดือ มหาบุรุษ สะดือลึก ไม่เบี้ยว มีกลีบเป็นชั้นๆ
แต่ธรรมเนียมไทย สมัยรัตนโกสินทร์ ไม่นิยมให้เห็นสะดือ สุภาษิตสอนหญิง ตอนหนึ่ง
“อย่านุ่งพกใหญ่ใต้สะดือ เขาจะลือว่าเล่นไม่เห็นควร”
คนหลายๆชาติเชื่อว่าคนเราเมื่อแรกเกิด ถือว่าสะดือสำคัญมาก ถ้าทำไม่ดีผีจะกินสะดือ ผีนั้นคือผีรก เมื่อทารกเกิดมาวันสองวัน ห้ามนำรกไปฝัง เพราะพรายกุมภัณฑ์จะได้กลิ่น แล้วจะตามมากิน
คนญี่ปุ่นมีเรื่องเล่า กามินาริซาน มีเขาบนหัว ปากมีเขี้ยว หลังมีกลอง 12 ใบ เวลานาริซานตีกลอง เสียงจะดังเหมือนฟ้าร้องคนจะกลัวจนตัวสั่น เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้อง จะเอามือกุมท้อง ป้องกันไม่ให้นาริซานมากินสะดือ
ถ้าเห็นเด็กแก้ผ้าวิ่งซน ผู้ใหญ่ก็มักขู่ ให้นุ่งผ้าเสียนะ ไม่งั้น นาริซานจะมากินสะดือ เด็กก็กลัวรีบนุ่งผ้า
ชาวพม่านับถือพระอุปคุต ที่เชื่อว่าท่านจำพรรษาอยู่ในสะดือ ทะเล เมื่อเห็นพระแปลกหน้าจีวรเปียกน้ำ มาบิณฑบาตก็จะรีบตักบาตรเพราะเชื่อว่าได้บุญมาก
...
สะดือทะเลของชาวมลายู เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของปูยักษ์เวลาที่มันออกจากสะดือทะเล (วันละสองครั้ง) น้ำก็จะไหลลงรู นี่คือที่มาของน้ำขึ้นน้ำลง
ชาวเกาะเชื่อว่าสายสะดือเป็นเหมือนน้องเล็ก เขาจึงเอาใส่หม้อขี้เถ้าเอาไปวางไว้บนคบไม้ เชื่อจะช่วยคุ้มครองเด็กนั้น
คนเม็กซิกันโบราณ จะฝากสายสะดือเด็กผู้ชายให้ทหารเอาไปฝังไว้ในสนามรบ เชื่อว่าเด็กโตขึ้นมาจะเป็นนักรบเก่งกล้า ถ้า เป็นสายสะดือเด็กหญิง จะเอาไปฝังไว้ข้างเตาไฟในบ้าน เพื่อให้เด็กหญิงโตขึ้นมารักบ้านและชอบการครัว
เรื่องสะดือที่ ส.พลายน้อย ตั้งใจเขียนไว้ตอนท้าย คือเรื่องตั๋งโต๊ะ จอมเผด็จการสมัยสามก๊ก ที่ผู้คนชิงชังกันทั้งเมือง เมื่ออ้องอุ้นวางแผนซับซ้อนให้แต่งตัวเต็มยศเดินเข้าวัง เข้าไปรับตำแหน่งฮ่องเต้ แทนพระเจ้าเหี้ยนเต้
ทันทีนั้น ลิโป้ที่เคยเรียกตั๋งโต๊ะว่า พ่อบุญธรรม ก็โผล่เข้ามาพร้อมทวนคู่มือ อ่านประกาศราชโองการประหารจบ แล้วก็แทง ตั๋งโต๊ะจนตาย
มีเรื่องเล่าต่อว่า ศพตั๋งโต๊ะถูกแก้ผ้าล่อนจ้อนทิ้งไว้กลางถนน ประชาชนพลเมืองที่แห่กันมามุงดู บางคนหมั่นไส้ เห็นพุงอ้วนขึ้นอืด ไม่สนใจว่าสะดือตั๋งโต๊ะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษหรือไม่
เอาด้ายไส้ตะเกียงแยงเข้าไปในรู แล้วจุดไฟทำเป็นตะเกียง
เล่ากันว่า เพราะไขมันพุงตั๋งโต๊ะมีมาก ไฟตะเกียงสะดือตั๋งโต๊ะสว่างอยู่หลายวัน
ฉากสุดท้ายของจอมเผด็จการในประวัติศาสตร์มีมากมาย แต่ตายน่าอนาถแบบตั๋งโต๊ะ ดูเหมือนว่าจะมีอยู่คนเดียว.
กิเลน ประลองเชิง