กมธ.ประชามติไม่ติดใจกฤษฎีกาปรับแก้ ยังคงหวงอำนาจให้ครม.ชี้ขาด มั่นใจ พ.ร.บ.ประชามติฉลุย “สุรชัย”ห่วงให้อำนาจ กกต.เกินขอบเขต พท.ดักคอยึกยักหวังสืบทอดอำนาจ “ปิยบุตร” เตรียมคิกออฟแคมเปญเดินสายทั่วประเทศล่าล้านชื่อรื้อ “ระบอบประยุทธ์” “อนุชา” ยัน พปชร.พร้อมดันญัตติแก้ รธน.รายมาตรา ตั้งธงรื้อ 5 ประเด็น “สิทธิเสรีภาพ-ปฏิรูปประเทศ-คืนอำนาจ ส.ส.สั่งหน่วยงานราชการ-เปิดปากถุงงบ-ประมาณ-แก้กติกาเลือกตั้ง” เพื่อไทยฉะ 2 นโยบายใหม่รัฐบาลหน่อมแน้ม “บิ๊กตู่” คุยสถานะการเงินยังแข็ง แต่จ้องหาเงินลงทุนหลายแหล่ง
สืบเนื่องจากปัญหาการล้มกระดานแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล และเกือบทำให้ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประชามติเกิดปัญหา ล่าสุดนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เตรียมเปิดตัวแคมเปญรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตั้งเป้าล่ารายชื่อประชาชน 1 ล้านคน รื้อนั่งร้านระบอบสืบทอดอำนาจ
ส.ว.มั่นใจ ก.ม.ประชามติฉลุย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 เม.ย. ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (พ.ร.บ.ประชามติ) กล่าวว่า เท่าที่ดูเนื้อหาการปรับแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 9 เบื้องต้น ปัญหาว่าอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญน่าจะหมดไป ลดข้อขัดแย้งแต่ละมาตราให้ไปด้วยกันได้ การแก้ไขครั้งนี้ไม่แตะมาตรา 9 ที่ให้อำนาจรัฐสภาและประชาชนยังให้เหมือนเดิม แต่ปรับปรุงเสริมเติมให้สอดรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 และมาตรา 156 ที่กำหนดว่ารัฐสภาต้องประชุมร่วมกันมีเฉพาะ 16 เรื่องเท่านั้น แต่เรื่องประชามติไม่มีในรัฐธรรมนูญ เวลามาปรับประเด็นนี้ต้องปรับให้สอดรับรัฐธรรมนูญ แปลว่าอำนาจรัฐสภาตามมาตรา 9 ยังเดินได้ตามปกติ เชื่อว่าเมื่อทำความเข้าใจกันแล้ว ทั้งกรรมาธิการเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ฝ่ายรัฐบาล ส.ส. ส.ว. แนวโน้มร่าง พ.ร.บ.ประชามติจะผ่านไปด้วยดี ไม่มีข้อวิตกกังวล
...
ห่วงให้อำนาจ กกต.เกินขอบเขต
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไขเนื้อหามาตรา 9 มีการแก้ไขเฉพาะมาตรา 10-11 เป็นการระบุถึงรายละเอียดวิธีทำประชามติ ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถึงมติที่มาจาก ครม. มติรัฐสภา และกฎหมายอื่นที่ระบุให้ทำประชามติ เนื้อหาที่ปรับปรุงแก้ไขบางประเด็นยังมีรายละเอียดไม่เพียงพอ เป็นความยากระดับหนึ่ง จึงต้องเขียนกฎหมายให้สอดคล้อง เช่น การให้ประชาชนเสนอทำประชามติแต่ไม่ได้บอกว่าต้องใช้จำนวนประชาชนเท่าใด เขียนให้อำนาจ กกต.เป็นผู้กำหนด จึงต้องคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้ กกต.มีอำนาจเกินขอบเขต และควรกำหนดจำนวนประชาชนที่จะเข้าชื่อทำประชามติ ต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนที่ใช้เป็นเกณฑ์การเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เชื่อว่าตัวร่างที่ปรับแก้แล้วนี้จะผ่านวาระ 3 ได้ แต่ต้องดูก่อนว่า กมธ.เสียงข้างมากเห็นด้วยกับตนหรือไม่
กมธ.ไม่ติดใจกฤษฎีกาปรับแก้
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายวันชัย สอนศิริ แถลงผลการประชุม กมธ.ประชามติ ว่า กมธ.ทั้งเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย เข้าใจดีต่อเป้าหมายที่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน ทุกคนพยายามหาทางออกร่วมกัน ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าเนื้อหาที่ปรับแก้ไขมาลดปัญหาดังกล่าวได้ มีเพียงประเด็นภาคประชาชนเท่านั้นที่กำลังถกแถลงกันอยู่ ภาพรวมดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหา ไม่มีประเด็นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป้าหมายทุกคนเห็นตรงกันคือต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน
ยอมรับอำนาจชี้ขาดยังอยู่ที่ ครม.
ผู้สื่อข่าวถามว่าเนื้อหาที่กฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไข สุดท้ายแล้วอำนาจชี้ขาดทำประชามติ ยังเป็นดุลพินิจของ ครม. นายวันชัยตอบว่า การแก้ไขยังยึดมาตรา 166 คือการจัดทำประชามติให้เป็นอำนาจของ ครม. พิจารณาจะเห็นสมควรให้ทำประชามติหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งมา ภาคประชาชนเข้าชื่อ และกรณีตามที่กฎหมายกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติ ประเด็นเหล่านี้ต้องให้ ครม.ใช้ดุลพินิจอีกครั้ง โดยเป็นมติ ครม.เห็นชอบ อาจไม่จำเป็นต้องทำตามที่เสนอมาก็ได้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เป็น กมธ.วิสามัญฯ ผู้เสนอให้แก้ไขมาตรา 9 ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเห็นว่าเนื้อหาที่แก้ไขควรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
กำหนดต้องเข้าชื่อหมื่นคนขึ้นไป
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองประธาน กมธ.ประชามติ กล่าวว่า แม้ยังคงให้อำนาจ ครม.ชี้ขาดในการทำประชามติ แต่อย่างน้อยเป็นการเปิดทางให้รัฐสภาและประชาชนเสนอเรื่องที่จะทำประชามติได้ แตกต่างจากของเดิมที่ให้อำนาจเฉพาะ ครม.เท่านั้น ถ้า ครม.จะไม่ทำประชามติตามที่ประชาชนเข้าชื่อ ต้องมีเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วย ส่วนการกำหนดจำนวนประชาชนที่จะเช้าชื่อ ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกำหนดจำนวนประชาชนต้องเข้าชื่อ 10,000 คนขึ้นไป
“อนุทิน” ยันหนุน ก.ม.ประชามติ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า คงไม่ต้องกำชับ ส.ส.ของพรรค วันประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่าง พ.ร.บ.ประชามติวาระ 3 เป็นหน้าที่อยู่แล้ว ถ้าเป็นเรื่องของรัฐบาลและรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันก็ต้องให้ความมั่นใจว่า ส.ส.จะให้การสนับสนุน เมื่อถามว่าเชื่อมั่นว่าการโหวตจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันใช่หรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ไปพูดคำนี้คงไม่ได้ เพราะ ส.ส.ทุกคนมีเอกสิทธิ์ ไปบังคับไม่ได้ ถ้าทำได้คงไม่มีการงดออกเสียงโหวตไม่ไว้วางใจแบบที่ผ่านมา เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่า พ.ร.บ.ประชามติถูกคว่ำไม่ได้ นายอนุทินตอบว่า เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ ในนัยต้องสนับสนุน
พท.ดักคอตั้งใจสืบทอดอำนาจ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติเป็นกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ เกี่ยวโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นทางออกให้ประเทศ เป็นกฎหมายที่รัฐบาลจะปล่อยให้ตกไปไม่ได้ แม้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจะปรับแก้เนื้อหาบางส่วนในมาตรา 9 ต่างจากที่รัฐบาลเสนอมา แต่กฤษฎีกานำไปปรับปรุงเนื้อหาในส่วนที่เหลือให้สอดคล้องกันแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่กฎหมายนี้จะมีปัญหาในการพิจารณาวาระ 3 อยากเรียกร้องต่อรัฐบาลว่าอย่าสร้างเงื่อนไขให้ พ.ร.บ.นี้ต้องตกไป หากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ที่สำคัญเมื่อประชาชนผิดหวังกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว หากกฎหมายนี้มีปัญหาอีกจะยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลไม่จริงใจรับฟังเสียงเรียกร้องประชาชน และตั้งใจสืบทอดอำนาจเท่านั้น
“อนุดิษฐ์” หวังว่าจะผ่านไปด้วยดี
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กฎหมายประชามติเป็นกฎหมายที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่มักมีการแอบอ้างความต้องการของประชาชนจากหลายฝ่าย จะได้ไม่ต้องมีใครมาแอบอ้างความต้องการแทนประชาชนอีก และถือเป็นกติกาสากลที่ประเทศที่เจริญแล้วมีใช้กันทุกประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีใครมาขัดขวาง และคงไม่มีใครมายื้อเวลาเอาไปตีความให้ประชาชนต้องรออีก แต่ถ้าสุดท้ายเรื่องนี้เกิดสะดุดขึ้นมาอีก รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบคือการลาออกเท่านั้น เหมือนรัฐบาลของประเทศที่เจริญแล้วทำกัน
“ปิยบุตร” ล่าล้านชื่อรื้อ “ระบอบตู่”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เตรียมเปิดแคมเปญรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในวันที่ 6 เม.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายใต้สโลแกน “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” โดยช่วงเวลา 6 เดือนนับจากนี้ นายปิยบุตรจะนำทัพคาราวานเดินสายทั่วทุกภาค ตั้งเป้าล่า 1 ล้านรายชื่อชูประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรารื้อนั่งร้านระบอบสืบทอดอำนาจ อาทิ ยกเลิก ส.ว. ปฏิรูปที่มาศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองจัดการฝ่ายตรงข้าม รวมถึงยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายปฏิรูปประเทศ เป็นต้น หลังเปิดตัวเเคมเปญที่ กทม.แล้ว นายปิยบุตรจะเริ่มเดินสายไป 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น และปัตตานี หากได้ครบ 1 ล้านรายชื่อตามเป้า ช่วงปลายปี 2564 นายปิยบุตรจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ารัฐสภาต่อไป
พปชร.พร้อมลุยแก้รายมาตรา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ว่าพรรคพลังประชารัฐจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จะยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 7 เม.ย. ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคอยู่ระหว่างหารือกับประธานวิปรัฐบาล ส่วนจะเสนอแก้ไขกี่มาตรานั้นยังไม่ได้ลงรายละเอียด เมื่อถามว่าจะยื่นร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายอนุชาตอบว่า คงต้องพูดคุยกันบ้างแต่ทางพรรคยืนยันและมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีประเด็นแอบแฝง นายกฯก็สนับสนุนมาตลอด ไม่มีเรื่องที่เป็นข้อขัดแย้ง หรือไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา
ตั้งธงแก้ 5 ประเด็น ส.ส.เข้าชื่อครบ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จำนวน 5 มาตรา ได้แก่ 1.ขอแก้หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพปวงชนชาวไทย ตามมาตรา 29 โดยให้ประชาชนมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือตามกระบวนการยุติธรรมในการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ 2.ขอแก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ จากเดิมที่ให้ ส.ว.ทำหน้าที่ติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศแก้ไขเป็นให้รัฐสภามีหน้าที่ปฏิบัติแทน 3.แก้ไขมาตรา 185 ให้ ส.ส.ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ถือเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ 4.มาตรา 144 แก้ไขเกี่ยวกับบทบัญญัติเรื่องงบประมาณ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้น เนื้อหาเดิมรัดกุมมากเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรคการทำงาน 5.การแก้ไขกระบวนการเลือกตั้ง ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ 1.ส.ส.ระบบเขตมี 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิมมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน และให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน จากเดิม 60 วัน ขณะนี้มี ส.ส.เข้าชื่อขอแก้ไขครบ 100 คนแล้ว
รัฐบาลยันคงแวตไว้ที่ร้อยละ 7
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยืนยันรัฐบาลยังไม่มีแนวคิดในการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมคงเป้าหมายจีดีพีปีนี้ที่ร้อยละ 4 แม้จะกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 10 ตามประมวลรัษฎากร แต่ที่ผ่านมา ครม.มีการบรรเทาการบังคับใช้เป็นระยะๆ มติ ครม.เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2563 ยังคงจัดเก็บอยู่ที่ร้อยละ 7 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งอัตราส่วน 1 ใน 9 ของภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกันไป อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น จัดเก็บที่ร้อยละ 10 สิงคโปร์ที่ร้อยละ 7 มาเลเซียที่ร้อยละ 6 ไทยที่ร้อยละ 7 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจ ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินจำเป็น และช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
อัด 2 นโยบายใหม่สุดหน่อมแน้ม
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคและผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย แถลงถึง 2 มาตรการทางการเงินใหม่ของรัฐบาล ได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้ ภายใต้วงเงิน 350,000 ล้านบาท ว่า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาแทนที่เพื่อแก้ไข Soft Loan ที่ล้มเหลว ปัญหาสำคัญสุดของ Soft Loan คือตัวธนาคารพาณิชย์ที่ไม่คุ้มเสี่ยงจึงไม่ปล่อยกู้ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ขณะที่มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ พูดง่ายๆคือ การตีโอนทรัพย์ค้ำประกันให้เจ้าหนี้หรือธนาคาร เพื่อตัดหนี้คงค้าง ตรงนี้ไม่มีอะไรใหม่ เป็นกระบวนการปกติของธนาคารอยู่แล้ว ที่เพิ่มมาคือเงื่อนไขซื้อคืนโดยลูกหนี้มีสิทธิ์คนแรก และสามารถเช่ากลับมาดำเนินกิจการได้ เงื่อนไขที่เพิ่มมาไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร ตราบใดที่คนตัดสินใจจะรับตีโอนทรัพย์คือธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้ ที่สุดแล้วก็จะเลือกรับโอนเฉพาะสินทรัพย์คุณภาพดี ลูกหนี้กลุ่มนี้คงไม่ต้องการเข้าโครงการ เพราะมีสายป่านยาวกว่า ทุนใหญ่กว่า และมีช่องทางระดมทุนแบบอื่นนอกจากสินเชื่ออยู่แล้ว โดยสรุปมองว่า “สินเชื่อฟื้นฟู” เหมือนเอา Soft Loan มาเกา แต่ไม่ถูกที่คัน “พักทรัพย์พักหนี้” ไม่มีอะไรใหม่ เกิดปัญหาสินทรัพย์แย่งรอคิว แต่ธนาคารไม่อยากได้ ไม่รับตีโอน และธุรกิจที่ไม่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันถูกลอยแพ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ
แนะ “บิ๊กตู่” อย่าดื้อจนชาติพัง
น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ผลออกมาคือเศรษฐกิจล้มเหลว ส่งผลกระทบกับประชาชนมาต่อเนื่องยาวนาน ไร้เงินไร้งาน รายได้ครัวเรือนลดลง ประชาชนอดทนกับ พล.อ.ประยุทธ์มานานมาก แต่ไม่มีวี่แววว่าจะรู้ตัวว่ากำลังพาประเทศไปสู่การล่มสลาย มาตรการเยียวยาผ่านโครงการโปรยทานต่างๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน การเป็นนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์กำลังทำประเทศจมปลัก การที่เยาวชนส่งเสียงให้พล.อ.ประยุทธ์ลงจากอำนาจ เพื่อให้ประเทศมีทางออก แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์คิดคือมีคนจัดฉาก จึงยัดข้อหาจับเยาวชนยัดคุกเป็นร้อยคน เพราะมองคนที่เห็นต่างเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาล ทุกวันนี้พล.อ.ประยุทธ์มีความสุขกับการใช้กฎหมายจับคนขังคุก ทั้งที่ควรฟังคำแนะนำจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน หากทำไม่ได้ก็ควรลาออกไป เปิดทางให้คนที่มีความสามารถเข้ามาแทน อย่าดื้อดึงจนพาชาติพัง
นายกฯกระตุ้น ขรก.สร้างศรัทธา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ได้มีสารเนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2564 ว่า ข้าราชการคือผู้ปฏิบัติงานราชการโดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนและผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ต้องเป็นข้าราชการที่ดี เสียสละ อุทิศตนเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน นำความรู้ ความเชี่ยวชาญให้ บริการสาธารณะ บูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาของประชาชน ดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรี ประพฤติปฏิบัติตน เป็นข้าราชการที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน
จ้องหาเงินลงทุนหลายแหล่ง
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงโครงการรับมือภัยแล้งว่า จากการศึกษามีหลายโครงการแล้ว เช่นประตูน้ำสกัดกั้นน้ำเค็มลงแม่น้ำระหว่างประเทศ เป็นโครงการหลายหมื่นล้านที่ศึกษาและตั้งโครงการไว้ เมื่อมีงบฯจะเร่งดำเนินการโครงการใหญ่ต้องใช้เวลานานพอสมควรแต่ต้องทำ หาเงินมาลงทุนจากหลายแหล่ง เพราะช่วงนี้เงินรายได้มีจำกัด แต่สถานการณ์การเงินเรายังดีอยู่ ยังมีสถานะที่ยังแข็งแกร่งพอ
“เฉลิมชัย” จี้ช่วยเกษตรกรฤดูร้อน
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในหน้าร้อน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาราคายางพาราไม่ให้กลับไปตกต่ำอีก ทั้งนี้นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่าราคายางพาราในปีนี้ไม่น่ามีปัญหา จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะโรงงานผลิตถุงมือยาง ทำให้ตอนนี้ต้องขยายกำลังการผลิตของโรงงานขนาดใหญ่ คาดว่าจะใช้น้ำยางข้นเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือประมาณ 3-4 แสนตัน จากเดิมที่ใช้อยู่ 1-2 แสนตัน ไม่ต้องห่วงเรื่องราคายางจะตกต่ำแบบที่ผ่านมาและในอนาคตโรงงานผลิตถุงมือยางจะเปลี่ยนมาใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่ายางสังเคราะห์ แต่มีกำไรสูงกว่า
นายกฯยันพร้อมรับคนไทยกลับ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกองทัพอากาศเตรียมเครื่องบินพร้อมรับคนไทยในเมียนมากลับประเทศ ว่า เขาประสานกันอยู่ เมื่อสถานการณ์จำเป็นค่อยว่ากัน ตอนนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น เมื่อถามว่า การค้าระหว่างประเทศไทยและเมียนมายังปกติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า เป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ คงไม่ใช่รัฐบาลไปขายตรงให้เขา การขนส่งยังถือเป็นปกติ เพียงแต่เขาต้องการมากขึ้น ต้องแยกแยะเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม มันคนละเรื่องกัน รัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญต้องเข้าใจบริบทไทย ช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องการดูแลผู้อพยพ วันนี้เราต้องระมัดระวังที่สุด แต่เรามีมนุษยธรรม
ทอ.สแตนด์บายซี-130 ขนคนไทย
พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ (ทอ.) โฆษก ทอ. เปิดเผยว่า พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. สั่งการให้กองบิน6 เตรียมพร้อมเครื่องบินลำเลียง C-130 และเครื่องบินของ ทอ.ไว้รองรับภารกิจหากรัฐบาลสั่งการให้บินไปรับคนไทยในเมียนมา สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้ในภารกิจหากเกิดสถานการณ์ขั้นวิกฤติ ทั้งนี้ ผบ.ทอ.สั่งการให้เตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ไม่ว่าวิกฤตการณ์ ไหน ภัยพิบัติใด ทอ.พร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนตามคำสั่งของรัฐบาล
กต.ขอเมียนมาพูดคุยอย่างสันติ
ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา ว่า ประเทศไทยไม่สบายใจอย่างมากต่อรายงานการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น ขอให้ทางการเมียนมาใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างมาก ในการดำเนินการใดๆรวมถึงการคลี่คลายสถานการณ์ ยุติความรุนแรง และปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวเพิ่มขึ้น และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามร่วมกันหาทางออกโดยสันติวิธี ด้วยการพูดคุยผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์ ส่วนการให้ความช่วยเหลือคนไทยในเมียนมา ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ นครย่างกุ้ง ว่ายังมีการประท้วงและการปะทะกันเป็นจุดๆ แต่ยังสามารถจัดหาอาหารและข้าวของได้สะดวก ไม่ขาดแคลน พร้อมจัดทำแผนเตรียมพร้อมช่วยเหลืออพยพคนไทยไว้แล้ว มีการประเมินสถานการณ์ทุกวัน จากการประเมินสถานการณ์ยังไม่ถึงระดับที่ต้องเตือนให้มีการอพยพกลับไทย
สหรัฐฯเตรียมคืนทับหลัง 2 ชิ้น
นายธานียังกล่าวถึงการติดตามทวงคืนทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว และโบราณวัตถุอื่น กลับคืนสู่ไทย ว่า ขณะนี้คดีความเสร็จสิ้นแล้ว โดยพิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ถอดถอนรายการทับหลังทั้งสองออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์แล้ว จากนั้นรัฐบาลกลางสหรัฐฯจะนำส่งคืนให้ผู้แทนรัฐบาลไทยตามขั้นตอนต่อไป คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างในการติดตามคืนโบราณวัตถุชิ้นอื่นของไทยในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์ต่างๆในสหรัฐฯต่อไป นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่ายินดีคือ ไทยจะได้รับโบราณวัตถุ คือ พระพุทธรูปคืนจากสหรัฐฯอีก 13 รายการ โดยทั้ง 13 องค์เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ศิลปะสุโขทัยและอยุธยา หลายชิ้น เป็นงานโลหะสำริด รวมถึงรูปเคารพศิลปะศรีวิชัย ที่ถูกลักลอบนำออกไปอย่างผิดกฎหมาย
อัยการยันคดี “วิรัช” ไม่มีหมดอายุ
วันเดียวกัน นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนคดีทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอลที่เหลืออีก 5 สำนวน ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ มาให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องแล้วยังไม่ทราบจำนวนคดีที่แน่ชัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมของคณะทำงานอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวน และสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาอีกไม่นาน ก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายวิรัช ไปแล้ว 1 สำนวนคดีเป็นสำนวนหลัก ที่เหลือต้องพิจารณาให้เสร็จทั้งหมดก่อนค่อยยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคดีเดียวกันเพื่อให้คดีต่อเนื่องเชื่อมโยง ไม่เกิดความยุ่งยากในการนำสืบ ส่วนการนับอายุความคดีต้องนับตามข้อหา ยืนยันว่าคดีนี้ไม่มีทางหมดอายุความอย่างแน่นอน