กรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนดให้ นับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ เปิดทำการศาลปกครอง คือวันที่ 9 มี.ค.2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ เหตุผลเพราะเป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีการพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 โดยไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง ทำให้มีผลต่อการที่ กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถรื้อคดีใหม่ หลังจากที่ ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ทั้ง 2 หน่วยงานปฏิบัติตาม อนุญาโตตุลาการ รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายหรือ ค่าโง่ ให้กับ โฮปเวลล์ กว่า 24,000 ล้านบาท

คดีความเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้ โฮปเวลล์ จริงหรือ ยังไว้วางใจอะไรไม่ได้ เพราะคดีนี้ค้างกันมาหลายช่วงรัฐบาลตั้งแต่ปี 2533 มีความซับซ้อนมากมายและคงไม่มีใครเป็น ฮีโร่ จากเรื่องนี้

มาถึงปัญหาข้อพิพาทการประมูลสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อเร็วๆนี้ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ชี้แจงว่า BTS ได้ยื่นหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบการดำเนินงานของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ หรือ รฟม. เกี่ยวกับการประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี เนื่องจากพบว่ามีความพยายามที่เบี่ยงเบนข้อเท็จจริง อาจทำให้ BTS เสียหาย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน หลังจากขายซองเอกสารประกวดราคาไปแล้ว

...

ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการปรับเกณฑ์จากการพิจารณาคะแนนด้านราคา 100 คะแนน เป็นเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน ที่อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการประกวด ราคา ทีมกฎหมายของ BTS อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีนี้และกำลังจะมีการยื่นฟ้องศาลปกครองเพิ่มเติม 2 ประเด็น คือการยกเลิกการประมูลและการเปิดฟังความเห็นเพื่อเริ่มกระบวนการประมูลใหม่

ก่อนอื่น รฟม. ก็อยู่ในการกำกับดูแลของ กระทรวงคมนาคม ที่มีข้อพิพาทการขึ้นราคาในส่วนต่อขยายกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. ในสังกัด กระทรวงมหาดไทย คาราคาซังอยู่

แล้วก็มาถึงคิว การบินไทย แผนฟื้นฟูการบินไทยแก้แล้วแก้อีก ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการผู้อำนวยการใหญ่หรือ DD การบินไทยออกมายอมรับว่า การฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ครั้งนี้ จะต้องเร่งหา เงินทุน เข้ามาเสริมสภาพคล่อง เพราะเงินสดที่มีอยู่ในมือเหลือใช้ได้ถึงเดือน ก.ค.นี้เท่านั้น

ทำกันทุกอย่าง ขอลดมูลค่าหนี้คงค้าง ปรับผ่อนจ่ายยืดหนี้ออกไป แปลงหนี้เป็นทุน และมีแผนที่จะเพิ่มทุน หรือไม่ก็กู้เพิ่ม สรุปแล้วจะต้องหาเงินเพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาทตามแผนฟื้นฟู ไม่ว่าจะมาจากการขายหุ้นเพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้านใน 1 ปี ขอรับการสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินอีก 2.5 หมื่นล้าน ประคองไปจนถึงปี 2568 คาดว่าการบินไทยจะมีรายได้รวม 1.4 แสนล้านบาท การบินไทยก็อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่จะต้องสะสางกันอีกนาน เมื่อย้อนกลับไปดูโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่มีปัญหาคาราคาซังทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลง คนกำกับดูแลและนำไปสู่การที่รัฐต้องเสียค่าโง่ หรือประสบการขาดทุน ก็เพราะความเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th