นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข เผย กระจายวัคซีนโควิด-19 จ.ท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รับ ภูเก็ตต้องการ 9 แสนโดส เปิดรับนักท่องเที่ยว ก.ค.เป็นไปได้-ยันวัคซีนมีเพียงพอ
วันที่ 22 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการทบทวนมาตรการสงกรานต์ หลังพบคลัสเตอร์ระบาดใหม่ ที่ จ.สมุทรปราการ ว่า ขณะนี้ยังสามารถควบคุมได้ ต้องดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ส่วนเรื่องการกระจายวัคซีน 8 แสนโดส ที่เพิ่งเข้ามาจะกระจายลงไปในพื้นที่ โดยรอบนี้จะลงไปที่ จ.ภูเก็ต 1 แสนโดส เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 5 หมื่นโดส และ จ.สมุทรสาคร เพื่อให้เห็นว่าจัดสรรไปแล้วผลตอบสนองอย่างไร โดยการกระจายเป็นไปตามหลักระบาดวิทยา หากต้องการเปิดให้เคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ก็ต้องลงไปในเมืองที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและเศษฐกิจ ส่วน จ.ที่มีการระบาด เช่น สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ก็ต้องจัดสรรไปด้วยให้ไปถึงประชาชน ตลาด ไม่เฉพาะแค่กลุ่มแพทย์ ทั้งนี้ ทางกรมอธิบดีควบคุมโรคจะสรุปให้ชัดเจนอีกครั้งว่าจะกระจายไปที่ใดบ้าง ไม่ต้องกังวลเพราะในเดือน เม.ย.จะเข้ามาอีก 1 ล้านโดส หากเจรจาจัดหาเพิ่มได้จากจีน ถ้าเขาสามารถจัดส่งได้ก็จะมีเพิ่มเข้ามาต่อเนื่องเดือน เม.ย.ไปถึงเดือน มิ.ย.นี้ จนถึงวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทยได้มาต้นเดือน มิ.ย.
นายอนุทิน กล่าวว่า ไทม์ไลน์ที่วางไว้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. จะจัดฉีดได้ตามกำหนด แต่พอมีคลัสเตอร์ระบาดใหม่เข้ามาเรื่อยๆ จำเป็นต้องหาวัคซีนอื่นเข้ามาก่อน ยืนยันว่าเราไม่ได้ขาดแคลน และในสถานการณ์ขณะนี้ที่ถามว่า ทำไมไม่เอาเข้ามาหลายยี่ห้อ เพราะทำไม่ได้ เข้ามามากก็ไม่ไหว เพราะแต่ละยี่ห้อมีคุณสมบัติต่างกัน เช่น ระยะเวลาการฉีดและการตอบสนอง ทำให้บริหารจัดการลำบาก บางยี่ห้อมาขวดเดียวใช้เข็มเดียว บางยี่ห้อ เช่น แอสตราเซนเนกา ขวดเดียวแต่ใช้ 10 เข็ม ดังนั้นวัคซีนจากสองยี่ห้อถือว่าเพียงพอ
...
ผู้สื่อข่าวถามว่า จ.ภูเก็ต ต้องการวัคซีน 9 แสนโดส สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาภายในเดือน ก.ค.นี้ เป็นไปได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นไปได้ สมมติเดือน มิ.ย.วัคซีนแอสตราเซนเนกาส่งให้ 5 ล้านโดส จากนั้นส่งให้เดือนละ 10 ล้านโดส ถ้าภูเก็ตต้องการ 9 แสนโดสไม่ใช่เรื่องใหญ่ เราจะกระจายให้ประชาชน จัดให้ทหาร ตำรวจ ตามแนวชายแดน ซึ่งได้แจ้งกับทางเสนาธิการทหารบกอย่างไม่เป็นทางการไปแล้วว่าจะให้ทั้งลอตไปบริหารจัดการ วัคซีนวันนี้มีเพียงพอ เรื่องประหยัดเงินไม่สำคัญเท่ากับสามารถกระจายได้ ครอบคลุมจำนวนคนที่จะได้รับมากขึ้น เมื่อได้รับวัคซีนแล้วแนวโน้มก็จะดีขึ้น ป่วยน้อยลง ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อก็ลดลง ไม่ได้คาดหวังว่าจะไม่มีคนติดเชื้อ แต่คนที่ติดจะมีจำนวนน้อยลง เมื่อน้อยลงก็ควบคุมสถานการณ์ได้ ทุกอย่างก็จะกลับมาได้.