บช.น.แถลงสรุปเหตุปะทะเดือดม็อบรีเดม 20 มี.ค. จับผู้ชุมนุม 20 ราย เป็นเยาวชน 4 คน คุมตัวส่ง ตชด.ภาค 1 แจ้ง 6 ข้อหาหลัก เผยมี 2 เยาวชนหญิงเจอ ม.112 เพิ่ม หลังวางเพลิงเผาทรัพย์ พร้อมแพร่ภาพหนุ่มเสื้อสกอตมือปาบึมใส่ตำรวจขอแรงนักสืบโซเชียลช่วย ยันมีแกนนำอยู่เบื้องหลังแต่ยังแอบอยู่ ศูนย์เอราวัณระบุยอดคนเจ็บ 33คน เป็นเจ้าหน้าที่ 13 คน ประชาชน 20 คน ม็อบรีเดมจัดแฟลชม็อบ 3 จุด อนุสาวรีย์ชัยฯ บีทีเอสบางนา ห้าแยกลาดพร้าว เผยยอดคนร่วมโหวตลดฮวบ ขณะที่อาชีวะปกป้องสถาบันพรึ่บหน้าหอศิลป์ หวิดป่วนชายสวมเสื้อ 3 นิ้วโผล่อ้างมีคนจ้างมาป่วน
จากเหตุปะทะเดือดระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนกับผู้ชุมนุมกลุ่ม Redem ที่นัดชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวง เมื่อเย็นวันที่ 20 มี.ค.64 เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก แก้ไข ม.112 และให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุม ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียม คฝ.รับมือ 22 กองร้อย พร้อมยกตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามสกัด เนื่องจากใกล้สถานที่สำคัญ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยกตู้คอนเทนเนอร์บริเวณถนนราชดำเนินใน ใกล้ศาลฎีกาออกจนตำรวจต้องใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาสกัดทำให้ผู้ชุมนุมโกรธแค้นขว้างปาสิ่งของและประทัดยักษ์ใส่เกิดการปะทะก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะถูกผลักดันไปอยู่บริเวณใกล้เคียง เกิดการจลาจลย่อยๆ โดยเฉพาะที่แยกคอกวัวมีการนำซากต้นไม้จุดไฟเผาระบายอารมณ์ และปะทะกันอีกรอบบริเวณแยกสะพานวันชาติจนบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนที่ตำรวจจะคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด เมื่อช่วงเที่ยงคืนเศษวันที่ 21 มี.ค. มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งถูกจับกุมนำตัวไปควบคุมที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จ.ปทุมธานี ตามที่เสนอข่าวไปนั้น
รองต๊ะแถลงสรุปม็อบ 20 มี.ค.
ความคืบหน้าจากการชุมนุมเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยเมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 21 มี.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงสรุปภาพรวมการชุมนุมของกลุ่ม Redem เมื่อวันที่ 20 มี.ค.64 ว่า มีการนัดชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Redem) กลุ่มศิลปะปลดแอก และกลุ่มเพื่อนอานนท์ ที่บริเวณท้องสนามหลวง มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน มีเหตุการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายเจ้าหน้าที่โดยใช้ไม้ แผงเหล็ก ใช้วัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) ทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ทุบตีรถตู้ของทางราชการ
...
จับกุม 20 รายแจ้ง 6 ข้อหาหลัก
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อว่า จากการชุมนุมดังกล่าวจับกุมผู้กระทำผิดได้ 20 ราย แจ้งข้อหาหลักๆคือ 1.ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 2.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 มาตรา 34 (6) และมาตรา 51 3.ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215
บางส่วนจงใจกระทำผิด ม.112
4.เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตามมาตรา 216 5.ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 6.ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามมาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก และมีผู้กระทำผิดบางส่วน ที่ได้กระทำผิดลักษณะกระทบจิตใจของพี่น้องประชาชนชาวไทยเป็นจำนวนมากอย่างจงใจ ได้ดำเนินคดีตามมาตรา 112
แพร่ภาพหนุ่มเสื้อสกอตมือบึมใส่ ตร.
ระหว่างแถลงข่าว พล.ต.ต.ปิยะ ได้นำภาพชายสวมเสื้อสกอต โดยระบุฝากประชาสัมพันธ์ถึงนักสืบโซเชียลให้ช่วยหาตัวบุคคลดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ขว้างระเบิดใส่ตำรวจจำนวนหลายลูก หากใครพบเห็นให้แจ้ง บช.น. หรือกองบังคับการสืบสวน สอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.)
“บิ๊กแรก” ยันตำรวจทำเพื่อรักษา ก.ม.
ด้าน พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) กล่าวว่า ขอย้ำว่าการชุมนุมในห้วงเวลานี้ ยังเป็นความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตำรวจจำเป็นต้องใช้เครื่องกีดขวางในพื้นที่การชุมนุม เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับสถานที่สำคัญของทางราชการ ไม่อยากให้ผู้ชุมนุมกระทำความผิดกฎหมายไปมากกว่านี้ การระงับยับยั้งไว้ระดับหนึ่ง ยังดีกว่าเกิดความเสียหายกับผู้ชุมนุม และสถานที่ราชการสำคัญ รวมทั้งการระงับยับยั้งผู้ชุมนุมไม่ให้ไปทำร้ายทำลายสถานที่สำคัญ เรามีมาตรการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ชุมนุม พยายามดูแลสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ ไม่ให้เกิดความรุนแรงให้มากที่สุด มีการแจ้งเตือนเป็นระยะๆ เพื่อควบคุมพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด สิ่งที่ทำลงไปยืนยันว่าทำไปเพื่อรักษากฎหมาย
20 รายที่ถูกจับมีเยาวชน 4 คน
จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนี้ มีรายงานว่า บช.น.สรุปรายงานคดีเบื้องต้นว่า จับกุมผู้กระทำผิดได้ทั้งสิ้น 20 ราย เป็นผู้ใหญ่ 16 ราย เยาวชน 4 ราย นำตัวส่ง ตชด.ภาค 1 จำนวน 19 ราย และส่ง รพ.ตร. 1 ราย
รวบตัวจากสนามหลวง 7 คน
สำหรับรายละเอียดผู้ที่ถูกจับกุม มีดังนี้ บริเวณรอบสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา 19.30- 20.00 น. วันที่ 20 มี.ค.จับกุม 7 ราย โดยกล่าวหาว่า 1.ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความใน ม.9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง
2.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 ม.34 (6) และ ม.51 3.ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.215 4. เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตาม ม.215 ให้เลิกแล้วไม่เลิกผิดตาม ม.216 5.ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 6.ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตาม ม.138 วรรคสอง ประกอบ ม.140 วรรคแรก
2 ด.ญ.เผาพระบรมฉายาลักษณ์
กรณีวางเพลิงเผาทรัพย์ บริเวณถนนราชดำเนินใน ปากทางเข้าซอยราชินี แขวงพระบรมมหาราชวังเขตพระนคร กรุงเทพฯ จับกุม ด.ญ.2 คน อายุ 14 ปี 1 คน 15 ปี 1 คน จับกุมได้ที่ถนนพระราม 6 แยกศรีอยุธยา เขตพญาไท แขวงทุ่งพญาไท กรุงเทพ– มหานคร โดยกล่าวหาว่า 1.หมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 2.ร่วมกันฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความใน ม.9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 3.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 ม.34 (6) และ ม.51 4.มั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.215 5.เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตาม ม.215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตาม ม.216
ล็อกอีก 8 ป่วนแยกสะพานวันชาติ
บริเวณแยกสะพานวันชาติ ถนนประชาธิปไตย แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 มี.ค.64 เวลา 00.30 น. 8 ราย โดย กล่าวหาว่า 1.ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความใน ม.9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 2.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 ม.34 (6) และ ม.51 3.ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.215 4.เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตาม ม. 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตาม ม.216 5.ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 6.ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตาม ม.138 วรรคสอง ประกอบ ม.140 วรรคแรก
อีก 5 รายจับที่แยกคอกวัว
ส่วนบริเวณแยกคอกวัว จับกุมได้อีก 5 ราย โดยกล่าวหาว่า 1.ร่วมกันฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 2.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 ม.34 (6) และ ม.51 3.ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 4.เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตามมาตรา 216 5.ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 6.ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามมาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก
หมอดูอาการสื่อสาวเหยื่อกระสุนยาง
ขณะที่ น.ส.พนิตนาฎ หรือแพรว พรหมบังเกิด อายุ 28 ปี ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ถูกกระสุนยางเข้าที่บริเวณขมับด้านขวา ระหว่างปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าว ถูกนำตัวเข้าห้องไอซียู ตรวจอาการที่ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น โดยขณะนี้ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล สำหรับอาการล่าสุด พูดคุยรู้เรื่องการตอบสนองดีจำรายละเอียดทุกอย่าง แต่ยังปวดหัวหนักข้างขมับจุดที่โดนกระแทก นอนไม่ได้แพทย์จำเป็นจะต้องให้ยาเพื่อให้หลับและพักผ่อน ผลการสแกนสมองเบื้องต้นบาดแผลภายนอก ไม่มีอะไรนอกจากหัวโนปูดบวม แต่ข้างในพบลักษณะเหมือนห้อเลือด เป็นผลให้ยังคงมีอาการปวดหัวต่อเนื่องไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ เบื้องต้นยังไม่พบว่าจุดห้อเลือดนี้จะเป็นอันตรายมากจนถึงขั้นต้องเจาะเลือดออก แต่แพทย์ยังคงต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ให้นอนโรงพยาบาลอีกเบื้องต้น 1-2 คืน ให้ยารักษาพร้อมดูอาการเป็นระยะ โดยช่วงเย็นจะออกจากห้อง ICU ไปอยู่ห้องพิเศษ
ญาติผู้ถูกจับแห่เยี่ยม ตชด.ภาค 1
ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีรายงานว่าเมื่อเวลา 12.00 น. ยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผลัดเปลี่ยนกันมาคอยยืนเฝ้าที่บริเวณริมถนนตรงสะพานข้ามคลองเข้า ตชด. โดยนำแผงเหล็กมากั้นและตรวจตราคนที่จะผ่านเข้าออก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองห้า ได้มาร่วมกันอำนวยการจราจรด้วย ทั้งนี้ ยังคงมีญาติของผู้ถูกคุมขังนำอาหาร น้ำ และขนม เข้ามาเยี่ยมบ้างเป็นบางส่วน
สรุปยอดคุมขังมี 18 คน
มีรายงานว่ายอดผู้ที่ถูกคุมขังมีทั้งหมด 18 คน ไปโรงพยาบาล 4 คน ยังคงเหลืออยู่ที่ ตชด.ภ.1 ทั้งหมด 14 คน แบ่งเป็นชาย 13 คน และหญิง 1 คน สำหรับเยาวชนถูกปล่อยตัวไปเมื่อช่วงเช้าตรู่ ส่วนผู้ที่ไปโรงพยาบาลทั้งหมด 4 คน แพทย์ให้ความเห็นต้องเข้าการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 2-3 คน ที่ไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้า อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาขอให้ส่งตัวไปรักษา และในวันที่ 22 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทนายความจะได้ไปยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง จะต้องดูก่อนว่าศาลจะรับคำร้องไหม และถ้าได้ก็ต้องรอดูอีกว่าถ้าให้ประกันจะใช้วงเงินในการประกันเท่าไร
ศูนย์เอราวัณสรุปคนเจ็บ 33 คน
ศูนย์เอราวัณ กทม.ได้สรุปรายงานข้อมูลผู้เจ็บป่วย ในพื้นที่การชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน วันที่ 20 มี.ค. ที่นำส่ง รพ. ข้อมูล ณ เวลา 09.30 น. วันที่ 21 มี.ค. รวม 33 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 13 นาย ประชาชน 20 คน ในจำนวนนี้นำส่ง รพ.กลาง 11 ราย รพ.วชิรพยาบาล 7 ราย (จนท. 2 ราย ปชช. 5 ราย) รพ.ศิริราช 2 ราย รพ.ตำรวจ 12 ราย (จนท. 11 ราย ปชช. 1 ราย) และ รพ.เลิดสิน 1 ราย
REDEM โพสต์นัดชุมนุมอีก
ส่วนความเคลื่อนไหวของม็อบ REDEM ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 04.42 น. ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของม็อบ REDEM บนเทเลแกรมที่ใช้เป็นกระบอกเสียง ว่า มีการโพสต์ข้อความ “เนื่องจากกลุ่มพูดคุย REDEM เสนอให้มีการจัดกิจกรรมวันอาทิตย์นี้ ชวนทุกคนร่วมกันตัดสินใจ ว่าต้องมีหรือไม่ ปิดโหวตวันนี้เวลา 11.00 น. จากนั้นแอดมิน REDEM เปิดโปรแกรมให้แนวร่วมโหวต ผลคือเมื่อถึงเวลาปิดโหวตข้อความว่า ต่อเลย 75% 1237 โหวต ไม่ควร 25% 430 โหวต
โหวตไม่ถึง 20% แต่นัดชุมนุมเองได้
เวลา 13.13 น. แอดมิน REDEM โพสต์อีกว่า “เนื่องจากจำนวนผู้ใช้สิทธิโหวตมีเพียงไม่ถึง 20% การชุมนุมในวันนี้ จะเป็นการทำกิจกรรมแบบกระชับและกระจายตัวเพื่อต่อต้าน ทรราช! โปรดติดตามสถานที่และเวลาไม่เกิน 17.00 น.ประกอบกับฝ่ายสนับสนุนของเราที่ทำให้เกิดการชุมนุม REDEM กำลังโดนกวาดเข้าห้องขังแทบทั้งหมดการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หากท่านใดต้องการนัดชุมนุมสามารถนัดหมายกันเองได้ หรือเข้าร่วมกับการชุมนุมที่จัดอยู่แล้ว เราจะยังคงเดินไปข้างๆ พร้อมกับทุกคน เพราะ REDEM นั้นไม่ใช่เรา แต่คือคุณทุกคน
จัดดาวกระจาย 3 จุด 6 โมงเย็น
กลุ่ม REDEMได้ประกาศเชิญชวนสมาชิกแนวร่วมทำกิจกรรมดาวกระจาย ชูสามนิ้วเคารพธงชาติ พร้อมกัน ในเวลา 18.00 น. และอวยพรวันเกิดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสห้าแยกลาดพร้าว สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางนา
มาตามนัดครึ่ง ชม.สลายตัว
กระทั่งถึงเวลานัดหมาย ในเวลา 18.00 น.ที่สกายวอล์ก สถานีบีทีเอส อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตัวแทนกลุ่มแนวร่วม REDEM จากกลุ่มต่างๆอาทิ กลุ่มราษฎรนนทบุรี กลุ่มวีโว่ กลุ่มการ์ดปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมฯ จำนวนหนึ่ง ได้มาจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ ชู 3 นิ้วเคารพธงชาติ และกล่าวประณามรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่สนามหลวง จับกุมเด็กเยาวชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 แกนนำและสมาชิกแนวร่วมกลุ่มราษฎร ที่โดนคดี ม.112 อย่างไม่มีเงื่อนไข เรียกร้องให้รัฐสภาผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่เอารัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ คสช. และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นเวลา 30 นาที ก่อนยุติกิจกรรม
แฟลชม็อบที่ 5 แยกลาดพร้าว
ที่สกายวอร์ก ทางเชื่อมบีทีเอส สถานีห้าแยกลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน แขวงและเขตจตุจักร กทม. เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 21 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มมวลชนราว 20 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมแฟลชม็อบยืนชู 3 นิ้ว ร้องเพลงเคารพธงชาติ พร้อมพากันเปล่งเสียง “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” รวม 3 ครั้ง เพื่ออวยพรวันเกิดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนแยกย้ายเดินทางกลับในทันที โดยไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงแม้แต่อย่างใด
อาชีวะป้องสถาบันพรึ่บหอศิลป์
อีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน นำโดยนายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือเต้ บูรณพณ และกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. กลุ่มฮาร์ดคอร์ 100% นัดจัดกิจกรรมปราศรัยเชิดชูสถาบันต่อต้านม็อบราษฎร โดยนำรถกระจายเสียงแทนเวทีปราศรัยมาจอดกลางลานหน้าหอศิลป์ บรรยากาศคึกคักเต็มไปด้วยประชาชนสูงอายุสวมเสื้อ ผ้าพันคอและแมสก์ สีเหลือง ถือธงชาติ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ เข้าร่วม สลับปราศรัยเนื้อหาเชิดชูพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อสังคมไทย และประกาศต่อต้านการปฏิรูปสถาบันให้ถึงที่สุด นอกจากนี้ ยังเชิญชวนผู้เข้าร่วมชุมนุมเขียนข้อความในใจถึงสถาบันบนผืน ผ้าดิบสีขาว ก่อนนำไปแขวนบนสกายวอล์ก
หวิดวุ่น 3 นิ้วโผล่อ้างมีคนจ้าง
ระหว่างการชุมนุมมีประชาชนที่เห็นต่างเข้ามาแสดงออกด้วยการชูสามนิ้วบนลานสกายวอล์ก และพื้นที่โดยรอบ 3 ราย ถูกการ์ดเข้าไปสอบถามและ เชิญตัวออกจากพื้นที่ แต่มีรายหนึ่งสวมเสื้อสีดำ มี สัญลักษณ์ 3 นิ้ว ถูกการ์ดเชิญตัวมาสอบถามที่รถเวทีปราศรัยต่อหน้าผู้ชุมนุม โดยถูกขอให้ถอดเสื้อแล้วเปลี่ยนเสื้อสีเหลืองให้ใส่แทน โดยชายรายนี้รับสารภาพว่าถูกคนจ้างให้สวมเสื้อสามนิ้วมาเดินในพื้นที่ชุมนุม ทำให้นายอัครวุธ แกนนำกลุ่ม ขอจ่ายเงินซื้อเสื้อที่มี สัญลักษณ์ชูสามนิ้วและให้ชูภาพพระบรมฉายาลักษณ์ เหนือหัวก่อนปล่อยตัวไป จากนั้นแกนนำม็อบปกป้องสถาบันนำเสื้อชูสามนิ้วที่ซื้อมาไปวางบนลังแล้วให้ มวลชนช่วยกันเหยียบ
ศาลนัดไต่สวนอานนท์–เพนกวิน
มีรายงานจากศาลอาญาว่า ในวันที่ 22 มี.ค. เวลา 09.00 น. และเวลา 13.30 น. ศาลนัดไต่สวน คดีละเมิดอำนาจศาลระหว่างผู้อำนวยการประจำสำนักอำนวยการศาลอาญากับนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน กับไต่สวนคำร้องที่นายอานนท์ นำภา จำเลยคดีดูหมิ่นสถาบัน มาตรา 112 รวม 2 เรื่องโดยในช่วงเช้าเป็นกรณีที่นายอานนท์เขียนหนังสือถึงศาลขอคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พยายามเข้ามาแยกตัวผู้ต้องขังในลักษณะผิดปกติอ้างว่าจะมาขอตรวจ covid ผู้ต้องขังทั้ง 3 แต่ไม่ยินยอมเกรงว่าจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เบิกตัวอานนท์ ไมค์ ภาณุพงศ์ ไผ่ จตุภัทร จากเรือนจำมาไต่สวน ส่วนเวลา 13.30 น. ศาลนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ผอ.ประจำสำนักอำนวยการศาลอาญา กล่าวหานายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำราษฎร จำเลยคดีดูหมิ่นสถาบันตาม ม.112 ละเมิดอำนาจศาล ด้วยการยืนอ่านแถลงการณ์บนม้านั่ง ขออดข้าวประท้วงจนกว่าจะได้รับการประกันตัวภายในห้องพิจารณา 701 เมื่อวันที่ 15 มี.ค.64
หนุ่มซึมเศร้าจะเผาอนุสาวรีย์ ปชต.
เย็นวันเดียวกัน พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผกก.สน.สำราญราษฎร์ เปิดเผยว่า ตำรวจสายตรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้ร่วมกันคุมตัวนายพรชัย ด้วง-แดงโชติ อายุ 59 ปี พร้อมแกลลอนบรรจุน้ำมัน 1 ใบ ขณะเจ้าหน้าที่ออกตรวจพบนายพรชัยกำลังใช้น้ำมันราดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ควบคุมตัวมายังโรงพัก เพื่อสอบปากคำจากการสอบถามญาติทราบว่าเจ้าตัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เสพข่าวความรุนแรงจากการชุมนุมมากเกินไป เบื้องต้นติดต่อญาตินายพรชัยให้มารับตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลและกำชับให้ดูแลพฤติกรรมให้ดีอย่าให้มีการตัดสินใจในลักษณะเช่นนี้อีก
เชียงใหม่เผาหุ่นขี้ผึ้งบูตทหาร
ส่วนความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด มีรายงานว่า เมื่อเวลา 18.30 น. ชาวเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งพร้อมนักศึกษาประมาณ 100 คน ได้รวมตัวกันที่ลานประตูท่าแพ อ.เมืองชียงใหม่ โดยใช้ชื่อว่ากลุ่มเชียงใหม่มูฟเมนต์ ได้จัดกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา และกล่าวโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมเรียกร้องให้เลิก ม.112 จากนั้นได้เผารองเท้าบูตทหารและหุ่นขี้ผึ้งชาย 3 คน จากนั้นพากันสาปแช่งก่อนที่จะแยกย้ายกันไปอย่างสงบ
องค์กรสื่อร่วมแถลงการณ์
วันเดียวกัน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ร่วมกันแถลงการณ์ กรณีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม จนทุกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนที่รายงานข่าว โดยมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะถึงฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ หากเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการยั่วยุ อาวุธและการใช้ความรุนแรง ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย 2. การปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ก่อนการปฏิบัติการต่างๆ ต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ 3. ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามแนว ปฏิบัติในการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤติโดยเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียอันอาจเกิดแก่ร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน 4.องค์กรสื่อมวลชนต้นสังกัดต้องร่วมประเมินสถานการณ์เพื่อให้การสั่งการต่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนและเน้นย้ำให้บุคลากรในสังกัดได้รับและใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องประเมินสถานการณ์และปฏิบัติตามแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤติด้วย