นับเป็นนักการเมืองอีกคนที่ขึ้นชื่อว่า “ใจนักเลง” ผู้มีอิทธิพลใหญ่มักเรียกขานว่าพี่ มีคอนเนกชันทั้งในและนอกสภา บารมีทางการเมืองบานสะพรั่ง นั่งอยู่เบื้องหลังช่วยคุมเสียงในสภา

วันนี้ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังถูกทำแท้ง จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ไปแย้มมุมมองรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

โดยขอเริ่มภารกิจในกระทรวงเกษตรฯ กำกับดูแลสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวง และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรรม (อ.ต.ก.)

ตั้งแต่เข้ามาบริหารงานเกือบ 2 ปี เน้นทำงานเชิงรุก ทั้ง ส.ป.ก. เดิมแค่มอบหนังสือเข้าทำประโยชน์ ไม่มีการต่อยอด เกษตรกรไม่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิต ใช้ประโยชน์จากที่ดิน ส.ป.ก.ไม่เต็มประสิทธิภาพ

ไม่กล้าใช้เงินกองทุน ส.ป.ก.ปีละกว่า 1 พันล้านบาท จากการเก็บค่าเช่าการทำประโยชน์พื้นที่ ส.ป.ก. ก็กล้าใช้เอาไปช่วยเหลือเกษตรกร โดยเมื่อมอบที่ดิน ส.ป.ก.ให้เกษตรกร พร้อมให้ อาชีพอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย โดยบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

...

เช่น เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก. ทำเกษตรแปลงใหญ่ ก็วางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งแหล่งน้ำ ไฟฟ้าครบวงจร หลังจากนั้นกรมพัฒนาที่ดินเข้าไปพัฒนาที่ดินให้พร้อมสรรพ ใช้เลี้ยงสัตว์ ทำประมง ปลูกพืชไร่ พืชสวน

อย่างโครงการกระบี่น้อยสมาร์ทซิตี้ จ.กระบี่ เป็นพื้นที่ที่ยึดจากนายทุน ทำพื้นที่ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ที่เหลือทำเป็นพื้นที่ส่วนกลาง โครงสร้างพื้นฐานครบครัน

การสร้างอาชีพใหม่ เน้นปลูกสมุนไพร ประกอบด้วย กระชายขาว ขมิ้น ฟ้าทะลายโจร เริ่มคิกออฟที่ จ.ลำปาง ต่อไปเตรียมจัดโซนนิงทุกจังหวัด เพื่อปลูกสมุนไพรให้เหมาะสมกับสภาพดินและภูมิอากาศ

อ.ต.ก.ทำหน้าที่กระทรวงพาณิชย์เล็กๆ เป็นตัวกลางรับซื้อสมุนไพรและส่งออกตลาดยุโรป

ขณะที่กรมฝนหลวงเตรียมรับมือภัยแล้ง แก้ปัญหาหมอกควัน ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บอยู่ตลอดเวลา

ภารกิจในกระทรวงลุยทำงานเชิงรุก ภารกิจทางการเมืองก็ถูกมอบหมายให้ทำงานสำคัญๆมาตลอด

ย่อมมองทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกว่า จากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น หลังที่ประชุมรัฐสภาทำแท้งก่อนคลอด

โดยเมื่อถูกถามถึงความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นเท่าไหร่

สาระสำคัญที่สุดก่อนตัดสินใจเดินหน้า ทีมกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐต้องศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม หากทำนอกเหนือจากคำวินิจฉัย หมิ่นเหม่ทำผิดกฎหมายได้

เห็นได้จากก่อนโหวตวาระ 3 ในที่ประชุมรัฐสภา ส.ส.หลายคนในพรรคพลังประชารัฐก็กังวล ต่างเป็นห่วงสถานะของตัวเอง ในที่สุดพรรคถึงมีนโยบายโหวตฟรีสไตล์

และคงต้องเชิญพรรคร่วมมาหารือกัน ให้เดินไปทิศทางเดียวกัน

หลังปรับ ครม.ก็ต้องลงพื้นที่ ประชาชนถามมาก็ชี้แจงได้ว่า เราปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ประชาชนลำบาก เราจะเร่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เป็นสาระสำคัญกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทีมการเมือง ถามว่า “กลุ่ม 3 ช.” ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส รมช.เกษตรฯ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ขอขยับขึ้นระดับรัฐมนตรีว่าการ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับโอกาสดีๆจากนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และจากรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มอบหมายให้ทำงานพิเศษแก้ปัญหาประชาชนทุกกลุ่ม

ใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่ขลุกอยู่กับประชาชน ไม่มีเวลาไปคิดถึงเรื่องอื่น เราพอใจในจุดที่เป็นอยู่

“ถามว่าการปรับ ครม.แทนตำแหน่งที่ว่างลง ตัวเองไม่เคยคิดไม่เคยฝันจะไปอยู่ตรงนั้น

รู้ตัวเองดีว่าไม่เหมาะ พอใจอยู่ที่เดิม ไม่เคยสร้าง เงื่อนไขให้ผมไปเป็นรัฐมนตรีว่าการ

แม้แต่คำว่า 3 ช. ก็ไม่มี คนเข้าใจกันเองว่า 3 ช. ประกอบด้วย สันติ-ธรรมนัส-นฤมล ความจริงไม่ใช่”

การเข้าไปช่วยแก้ปัญหากลุ่มความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย ถูกมองว่าต้องการขยับไปเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า นายกฯ แต่งตั้งรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร เป็นประธานแก้ปัญหาของขบวนการ ประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ

ผมเป็นรองประธานฯ ก็ต้องเข้าไปช่วย พอเข้าไปในฐานะคนกลาง ก็ไม่ได้ขัดกับ รมต.ท็อป (นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ) เราต้องการแก้ไขปัญหาให้ได้ เพื่อให้เหตุการณ์สงบ

บทบาท “กลุ่ม 3 ช.” ทำไมมีบารมีมากในพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า ความจริงมันไม่ใช่

ภายในพรรคอาจจะเข้าใจผิด เช่น ทำไมผมเข้าไปยุ่งเกือบทุกเรื่อง เพราะเคยทำมาตั้งแต่ก่อตั้งรัฐบาล พอมีปัญหาเกิดขึ้น ก็มอบหมายให้เข้าไปเป็นตัวประสาน

ถามว่า 3 ช. มีบทบาทหรือไม่ สำหรับผมก็ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ในพรรคพี่สันติก็ไม่ค่อยมีบทบาท ก็เอามาเขียนโยงเป็นเรื่องเป็นราว ผมกับพี่สันติก็แทบไม่ได้ดีลอะไรกัน

งานในสภาส่วนใหญ่มีพี่วิรัช (นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ) เป็นตัวหลัก งานดูแลการเลือกตั้ง มีผมเป็นหลัก

ดูแลการเงินในพรรค มีอาจารย์แหม่ม เหรัญญิกพรรคเป็นหลัก พี่แฮงค์ (นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ) ก็มีบทบาทเหมือนกันหมด

แต่งานภายในพรรคส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอะไรทำ เป็นงานภาคสนามมากกว่า ผมถึงดูโดดเด่นกว่าเพื่อน

ภายในพรรคพลังประชารัฐมีหลายกลุ่มก๊วน สุ่มเสี่ยงพรรคแตก หรือสามารถเดินต่อไปได้ถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า เป็นไปไม่ได้ เชื่อมั่นทุกคนทุกกลุ่มอยู่เหมือนเดิม

หลายคนคาดการณ์พรรคแตก ผมเชื่อมั่นไม่มีหรอก

แม้พรรคนี้เกิดจากการรวมตัวกันแบบหลวมๆ มีกลุ่มคนที่หลากหลายสไตล์

ยามว่างหาเรื่องชวนทะเลาะ พอเกิดศึกก็หันหน้ามารักกัน

ทุกครั้งเวลาถึงคราวสู้ศึก สังเกตได้ว่าผนึกพลังกันแน่น

จะปรับโครงสร้างพรรคใหม่ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงอย่างไร ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า หัวหน้าพรรครักทุกคนโดยเท่าเทียม ไม่เชื่อว่าท่านปันใจให้ใครมากกว่าใคร คงเตรียมวางคนสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ทั้งตำแหน่งรองหัวหน้า เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค

ผมอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้ เพราะรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้ง

ตำแหน่งเลขาธิการพรรคที่อาจถูกเปลี่ยนตัว ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า หลายคนมองว่าเป็นพี่แฮงค์เหมือนเดิม ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว อาจดีกว่าคนใหม่ที่ขึ้นมาเป็นต่อไป ใครจะไปรู้ แต่หลายคนก็มองว่าเป็นพี่สันติ ท้ายสุดท่านหัวหน้าพรรคเป็นคนตัดสินใจ

มีชื่อ ร.อ.ธรรมนัสขยับเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า ไม่คิดไปแย่งตำแหน่งของใคร ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีเปล่าๆ ขณะนี้เป็นรองหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ รับผิดชอบการเลือกตั้ง

ขณะนี้เริ่มกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการเลือกตั้งใหญ่

ดึงนักวิชาการ นักธุรกิจ ช่วยวางนโยบายสำหรับการหาเสียง

มีแผนขยายฐานเสียงคนรุ่นใหม่ มีนโยบายจับต้องได้

และหลังปรับ ครม.เรียบร้อย พรรคจะเริ่มวางทิศทางให้ชัดเจน ไล่ดูตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงอะไรไปแล้วบ้าง มีนโยบายด้านไหนที่ยังไม่ได้ทำอีก

เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ลองผิดลองถูกมาเยอะ พรรคต้องกลับมาทบทวน

เพื่อเดินหน้าสร้างประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน

และขอมองไปข้างหน้าว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปสู้ศึกอย่างไร

มอบหมายวางคนรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ให้พร้อม

พรรคพลังประชารัฐต้องเตรียมตัวล่วงหน้า.

ทีมการเมือง