ศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบ ปรับ สมุทรสาคร จากโซนสีแดงเป็นสีส้ม (พื้นที่ควบคุม) รวมมีสีส้ม 9 จังหวัด ขณะพื้นที่สีเหลือง (เฝ้าระวังสูง) มี 14 จังหวัด -หมอทวีศิลป์ เผย นายกฯ กำชับกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ปรับเวลากักตัว ตั้งแต่ 1 เม.ย.
วันที่ 19 มี.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับเขตพื้นที่สถานการณ์ของ จ.สมุทรสาคร จากพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) เป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ทำให้ขณะนี้มีพื้นที่ควบคุมรวมเป็น 9 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กทม. สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก และราชบุรี
ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) มี 14 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระยอง ชลบุรี ระนอง ชุมพร สงขลา ยะลา และนราธิวาส
สำหรับมาตรการผ่อนคลายในพื้นที่สีส้มกับสีเหลือง มีความใกล้เคียงกัน โดยพื้นที่สีส้ม ร้านอาหาร สถานบันเทิง ผับ บาร์ ให้เปิดถึง 23.00 น. แต่พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) ให้เปิดถึง 24.00 น. ส่วนกิจกรรมอื่นให้เปิดบริการตามปกติ.
นายกฯ กำชับกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงแผนการจัดการหาวัคซีนในประเทศไทย โดย วันที่ 24 ก.พ. ไทยได้วัคซีนจากซิโนแวคมาแล้ว 2 แสนโดส เดือน มี.ค. จะได้อีก 8 แสนโดส เดือน เม.ย.จะได้มาอีก 1 ล้านโดส ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา ภายในเดือน มิ.ย.จะได้ 6 ล้านโดส จากนั้นเดือน ก.ค.-พ.ย. จะได้เดือนละ 10 ล้านโดส และเดือน ธ.ค.จะได้มาอีก 5 ล้านโดส รวมทั้งสิ้น 63 ล้านโดส
...
สำหรับแผนการฉีดแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่หนึ่ง ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. กลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งรัฐและเอกชน บุคคลที่มีโรคประจำตัว บุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีตัวเลขผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 62,941 คน และวันที่ 20 มี.ค. ไทยจะได้วัคซีนซิโนแวคมาเพิ่มอีก 8 แสนโดส จะกระจายให้กลุ่มเป้าหมายใน 18 จังหวัด ส่วนระยะที่ 2 ช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค. ที่มีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ จะกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายในระยะที่หนึ่ง บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่นอกเหนือด่านหน้า ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว ผู้เดินทางระหว่างประเทศ ประชาชนทั่วไป ซึ่งนายกฯ ให้แนวคิดว่ากลุ่มนี้ให้ตีความไปถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้บริหารภาคราชการที่ต้องเดินทาง พระ ผู้นำศาสนา นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจต่างชาติ ชาวต่างชาติที่อยู่ระยะยาว รวมถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการการกักตัวนั้น เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้จำนวนมาก บางคนมีการเข้าออกประเทศถึง 7 ครั้งต่อปี ดังนั้น จะมีการปรับรูปแบบ โดยให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาออกค่าใช้จ่าย โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป จะปรับสถานที่กักตัวให้เหลือเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ที่คาดว่าจะมีการกระจายวัคซีน แล้วจะปรับรูปแบบเป็นสถานที่คุมไว้สังเกต โดยผู้ที่จะเดินทางเข้ามา จากเดิมที่ต้องมีใบรับรองการบิน (FIT TO FLY) กับผลการตรวจโควิด-19 จะเหลือเพียงผลการตรวจโควิด-19 เพียงอย่างเดียว และตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. จะให้ผู้ที่เข้าสถานที่กักตัวของรัฐ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่ ใช้ห้องฟิตเนสได้ ออกกำลังกายกลางแจ้งได้ ใช้สระว่ายน้ำได้ ปั่นจักรยานในพื้นที่ปิดได้ และซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอกได้ จากนั้นวันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. สามารถรับประทานอาหารในห้องอาหารของโรงแรมได้ รวมถึงใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพได้ และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จะกำหนดให้มีการกักตัวเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการปรับลดระยะเวลากักตัวสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป ให้ลดระยะเวลากักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน เว้นแต่กรณีผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่กระทรวงสาธารณสุขยังกำหนดว่าต้องกักตัว 14 วัน