โครงสร้างหลัก การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องประกอบด้วยอำนาจ 3 ฝ่าย นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อ ถ่วงดุลอำนาจ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสพอำนาจตามอำเภอใจ เพราะถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจได้แล้ว ประชาธิปไตยก็จะเอียง และ เป็นเครื่องมือของอำนาจที่ไม่พึงประสงค์ในระบอบการปกครองประชาธิปไตย ทันที
หรือ ถ้าอำนาจ 3 ฝ่ายฮั้วกันเมื่อไหร่ ประชาธิปไตย ก็จะถูกจำกัดพื้นที่ ปล่อยให้อำนาจที่ไม่พึงประสงค์ออกมาเพ่นพ่าน เต็มบ้านเต็มเมือง คนที่เดือดร้อนคือ ชาวบ้านตาดำๆที่มีแต่มือเปล่า แล้วจะเอาอะไรไปสู้อำนาจที่ได้มาจากปลายกระบอกปืน
ความขัดแย้งที่เกิดจาก รัฐธรรมนูญ ตอนจบไม่เคยสวย แม้แต่ครั้งเดียว รวมทั้งครั้งนี้ด้วย ทางออกมีอยู่สองทางด้วยกัน คืออยู่อย่างไทย ผู้มีอำนาจต้องการอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น อยากจะคว่ำก็คว่ำ อยากจะแก้ก็แก้ ไม่ต้องไปแสดงภูมิรู้กันให้เมื่อยตุ้ม เพราะทางออกที่มีการเสนอขึ้นมาไม่ว่าจะ งดออกเสียง หรือ คว่ำร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แล้วค่อยไปตายเอาดาบหน้า หรือโหวตรับหลักการไปก่อน แล้วค่อยไป ทำประชามติ หลังจากที่ขั้นตอนการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้วก็ไม่มีอะไรที่ต่างกัน
คำว่า ประชาชนผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการทำประชามติก่อนที่จะแก้ไข และหลังจากที่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว
อะไรคือคำตอบของวิกฤติรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
และสิ่งที่จะตามมาก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ หรือการขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หรือการที่จะมาเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หรือมีประเด็นอื่นที่งอกเงยมาอีกมากมาย แล้วแต่ใครจะเป็นคนตีความและตีความเพื่อใคร
...
จนกว่าจะไปสู่คำถามที่ว่า จุดประสงค์ของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อใครเพื่ออะไร และ ประชาชนเป็นผู้สถาปนา รัฐธรรมนูญ จะได้อะไร ในเมื่อไม่สามารถตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
มีนักกฎหมายบางคนก็อ้างว่า ทางออกที่ดีที่สุดปล่อยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆียะไปก่อน ทำประชามติแล้วค่อยมารับรองให้ถูกต้องหรือเลื่อนการลงมติวาระ 3 ไปก่อนได้ไหม อีกฝ่ายบอกว่าไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ลงมติในวาระที่ 3 หลังจากลงมติวาระ 2 ไปแล้วภายใน 15 วัน (แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น)
บรรทัดสุดท้ายจบด้วยข้อความของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นบทส่งท้าย 1.รัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับปราบโกง (ได้จริงหรือ) จะไปแก้ทำไมหรือ 2.เมื่อแก้ยากจะไปยุ่งทำไม
“ประชาธิปไตยนั้นเป็นรูปแบบการปกครองที่อยู่ในสวรรค์ ที่มีเทวดาเป็นพลเมือง การปกครองแบบนี้ไม่มีวันตกลงมาอยู่ในโลกมนุษย์” คิดได้อย่างนี้ก็ปลงได้ ปลงเสียเถอะนะแม่จำเนียร.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th