แหยงกันขึ้นมาดื้อๆ คิวการยกเลิกฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในวันที่ 12 มี.ค.ที่เซตโปรแกรมไว้อย่างดี แต่ต้องเลื่อนไปก่อน หลังมีรายงาน 6 ประเทศในยุโรปสั่งระงับการฉีดวัคซีน “แอสตราเซเนกา” เนื่องจากพบผลข้างเคียงอาจทำให้ลิ่มเลือดอุดตัน

ต่างประเทศวิตก ประเทศไทยก็เลยระแวงตามไปด้วย

แต่ก็คงไม่ส่งผลกระทบอะไรมากมายต่ออารมณ์ขวัญหนีดีฝ่อของคนไทย ตามคิวที่มีการฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” นำร่องไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวนหนึ่งแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้อยู่พื้นที่เสี่ยง

ผลที่ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ ส่วนใหญ่ปกติ ไม่มีอาการข้างเคียงแทรกซ้อน มีเพียงส่วนน้อยที่พบอาการข้างเคียงเพียงแค่เล็กน้อย ไม่น่าวิตก

ภาพรวมวัคซีนโควิดช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดความมั่นใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างที่เห็นจังหวะเร่งเครื่องของรัฐบาล เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ

อาทิ ข้อเสนอ “วัคซีนพาสปอร์ต” ลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยเหลือ 7 วัน หากมีใบรับรองผลการฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม รอนำเข้าที่ประชุม ศบค.ในเร็วๆนี้

เตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ปั่นรายได้เข้าประเทศช่วงไฮซีซัน

หรือการเสนอผ่อนปรนให้เล่นน้ำสงกรานต์ได้ในบางพื้นที่แบบแบ่งโซน เพื่อเรียกความคึกคักให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจรับวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ไทย
ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านค้า ไปจนถึงหาบเร่ แผงลอย พอลืมตาอ้าปาก มีเงินไหลเข้ากระเป๋าบ้าง

“ลุงตู่” เร่งหาเงินเข้าประเทศมือเป็นระวิง เพื่อชุบชีวิตเศรษฐกิจไทย อาศัยวัคซีนโควิดเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่น ช่วยให้เห็นแสงสว่าง

...

ตรงกันข้ามกับวัคซีนรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำลังดื้อยา เกิดผลข้างเคียงรุนแรง ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้การเมืองเข้มแข็งได้ หนำซ้ำยังทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น

โดยเฉพาะช็อตอันตรายล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้รัฐสภามีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ต้องผ่านการทำประชามติได้รับความยินยอมจากประชาชนก่อน

ศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียวยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ไม่ปิดทางแก้ไข แต่ให้ไปขอฉันทานุมัติจากประชาชนก่อน ลากการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่จะลงมติในวันที่ 17 มี.ค.เข้าสู่โซนอันตราย

อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะยังไม่ได้ทำประชามติสอบถามความเห็นชอบจากประชาชน

การโหวตแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 สัปดาห์หน้า ส่อแววถูกล้มโต๊ะ ยังไม่รู้จะลงมติได้หรือไม่

ยิ่งคำวินิจฉัยไม่ระบุชัด ให้ทำประชามติตั้งแต่วาระแรก หรือหลังเสร็จวาระสาม ก่อนที่ ส.ส.ร.จะยกร่างแก้ไข ก็ยิ่งสร้างความคลุมเครือ ต่างฝ่ายต่างตีความเข้าข้างตัวเอง

ปมแก้รัฐธรรมนูญหนีไม่พ้นถูกนำมาสุมไฟขัดแย้ง

หากเสี่ยงโหวตวาระ 3 อาจถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ อย่างที่ ส.ว.ตัวจี๊ดหลายคนทุบโต๊ะเปรี้ยง การแก้รัฐธรรมนูญเป็นโมฆะไปแล้ว เพราะไม่ได้ถามฉันทามติจากคนไทยตั้งแต่ต้น

สวนทางกับความเห็น ส.ส.ฝ่ายค้าน และทีมกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ยืนยันสามารถโหวตลงมติวาระ 3 ได้

ไม่ว่าจะออกหน้าไหนก็มีปัญหาตามมาทั้งขึ้นทั้งล่อง

ถ้ายื้อรอการโหวตวาระ 3 เพื่อรอความชัดเจนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกรอบ ก็ไม่แคล้วถูกด่าเรื่องถ่วงเวลา เตะถ่วงซ้ำซากแก้กติกาประเทศ

แต่ถ้าเสี่ยงลงมติตามกระบวนการก็มีโอกาสสูงถูกคว่ำกระดานล้มแก้รัฐธรรมนูญ ตามทิศทางลมที่หยั่งรู้กันล่วงหน้า เป็นไปได้ยากที่จะมีเสียง ส.ว.เกิน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ยิ่งมีความคลุมเครือประเด็นสำคัญเรื่องประชามติเข้ามาเพิ่มเติม ยิ่งเป็นเงื่อนไขที่มีน้ำหนักมากขึ้นให้ ส.ว.ตีตกร่างรัฐธรรมนูญ

ผลักประเทศเข้าสู่การลุยไฟ ม็อบราษฎรคงใช้เป็นข้ออ้างรวมพล ยกระดับชุมนุม ปลุกมวลชนที่ทำท่าแผ่วปลายออกมาฮึดสู้ใหญ่อีกระลอก

ทุกโจทย์ทางเลือกล้วนมีปัญหา ทั้งการแช่แข็งค้างวาระ 3 ไว้เฉยๆ การส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความใหม่ การคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขรายมาตรา ออกรูปไหนก็ปั่นป่วนไม่แพ้กัน

เดินหน้าก็เสี่ยงขัดแย้ง ถอยหลังก็โดนโห่ จะเลือกถอดชนวนหรือลุยไฟก็สาหัสพอกัน!!!

ทีมข่าวการเมือง