- จับตา เปิดสภา 17 มี.ค.นี้ เตรียมถกกันเดือดว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่รอโหวตวาระ2-3 ในสภา ตกลงให้ทำประชามติถามประชาชนได้ หรือต้องตกไป
- แต่ที่เสียงเป็น "เอกฉันท์" คือ ไม่ว่าร่างแก้รธน.ค้างในสภาจะโหวตได้หรือไม่ ก็ต้องกลับไปทำประชามติถามประชาชน อยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่เสียก่อน
- สุดท้ายหากโหวตร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ไม่ได้จริง ก็มีการเสนอให้กลับไปใช้แก้ รธน.แบบรายมาตรา
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยเสียงข้างมากชี้ว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่า ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบอีกครั้ง
แน่นอนว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีผลผูกพันทุกองค์กร ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงการเมืองไม่มากก็น้อย เพราะปรากฏว่า มีทั้งฝ่ายที่ตีความว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะลงมติวาระที่ 3 ในสภากลางมีนาคมนี้ เป็นอันตกไป เพราะไม่ได้ทำประชามติมาก่อน
...
ขณะที่อีกหลายฝ่ายตีความว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเข้าสู่ วาระที่ 2- 3 ที่ค้างอยู่ในสภา ยังไม่ตกไป และเชื่อว่ายังสามารถเดินหน้าลงมติต่อไปได้
ถึงขั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กเสนอแนะ 3 ข้อ ขอให้สภาเลื่อนลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ออกไปก่อน แล้วเร่งทำประชามติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พาชาติออกจากวิกฤติขัดแย้ง
หรือมาที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เชื่อเช่นกันว่า แนวทางที่ทำอยู่สอดคล้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ บอก ถามประชามติ ประชาชนแก้ไม่แก้รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว เห็นว่าขาดเหตุผล
ตบท้ายที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เชื่อว่าสภาเดินหน้าแก้ รัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไปได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่คาสภาอยู่แก้เพียงมาตรา 256 มาตราเดียว ไม่ใช่ฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะยกร่างขึ้น และให้รอฟังคำวินิจฉัยประธานรัฐสภา
แม้แต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนตัวก็ยังมองว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภาเดินผ่านมา ไม่โมฆะ แต่คงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะส่งมา เพื่อพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้ง
หรือนักวิชาการอย่าง รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็มองว่า จากคำวินิจฉัยของศาล ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินอยู่ ยังเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ได้ เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการทำประชามติอยู่แล้ว จึงสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถรวมคำถามในการทำประชามติว่า จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รวมไปกับคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพราะการจัดทำประชามติครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่แล้ว ส่วนตัวจึงเห็นว่าสามารถตั้งคำถามไปในคราวเดียวกันได้
ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นต้นเรื่องผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความปม "รัฐสภามีอำนาจ ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่" เมื่อผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว จะส่งผลอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่น่าจับตาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งประเด็นชวนสงสัยว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยังลงมติวาระ 3 ได้อีกหรือไม่ และร่างรัฐธรรมนูญที่ยังค้างอยู่ในสภา ให้ถือว่าตกไปหรือยังอยู่ ที่แน่ๆ ปมปัญหาที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ คือ "ต้องไปถามประชามติกับประชาชน" ว่าเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
เรามาฟังทัศนะคนแรก นายสมชาย แสวงการ กันเลย
ร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ วาระ 3 ยังเดินหน้าต่อได้ หรือต้องหยุดไว้แค่นี้
ผมดูว่ามันไปไม่ได้แล้ว เพราะคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญใช้คำว่า รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องถามประชามติเสียก่อน ประเด็นคือเรายังไม่ได้ทำประชามติเลย มันก็ไปไม่ได้ หลักตามกฎหมายก็มีแค่นี้ ส่วนมันจะตกหรือไม่ตก ผมให้ความเห็นไม่ได้ หลายท่านบอกมันตกไปแล้ว อีกฝ่ายก็บอกยังไม่ตก แต่ผมตีความว่ามันต้องทำประชามติให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ก่อน เพราะมันมีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 อยู่ ต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อนว่า จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
คราวนี้ใครมีหน้าที่ รัฐสภามีหน้าที่ สภาจะไปมอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ, มอบกรรมการยกร่างฯ หรือรัฐสภาร่างฯ เอง มันเป็นคนละเรื่องนะ อันนั้นเป็นเรื่องถัดไป เรื่องอันแรก คือ ต้องทำประชามติก่อน อันนี้ ดูตามศาลรัฐธรรมนูญ ตามตัวบท ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแถลงมา ก็ตีว่าต้องทำประชามติก่อน ถ้าไม่ผ่านก็ตก ถ้าประชามติบอกผ่านไปร่างรัฐธรรมนูญได้ ก็ไปทำรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนจะออกมาแบบไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อำนาจจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นอำนาจของสภาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จริงหรือไม่
ยืนยันว่าไม่ใช่ รัฐสภาจะมอบให้กรรมการยกร่างฯ หรือจะร่างรัฐธรรมนูญเองก็ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วว่าสภามีอำนาจทำได้ แต่จะทำเอง หรือจะไปมอบให้กรรมการยกร่างฯ ก็ได้ เพราะสภามีอำนาจ พอผ่านประชามติ สภาจึงไปเขียนหรือร่างให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ
แล้วที่รัฐสภาผ่านร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1-2 มาทั้งหมดในสภา จะเดินไปอย่างไรต่อ
คือมันตีความอยู่นะ แต่ผมไม่อยากไปฟันธง เห็นหลายคนก็ฟันธง ถ้าเอาตามข้อกฎหมายมันก็พูดได้ว่ามันเดินมาไม่ถูก ซึ่งก็ไม่อยากไปบอกว่ามันผิดหรือไม่ผิด วิธีการคือ ศาลมีคำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร ก็ต้องกลับไป หรือจะไปเริ่มตรงไหนแล้วแต่ ไปทำประชามติก่อน พอทำประชามติแล้ว จะใช้ได้หรือเปล่าก็ต้องเป็นขั้นที่ 2 หรือจะใช้ว่าสภาทำเอง งั้นสภาแก้เอง หรือสภาจะไปตั้งกรรมการยกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ก็ได้ เพราะอันนั้นเป็นหน้าที่
เปิดสภา 17 มี.ค. นี้ ส.ส.จะทำอะไรได้หรือไม่
ความเห็นส่วนตัวนะ เหมือนปี 2555 คือ พอเปิดสภามา มันโหวต วาระ 3 ไม่ได้ ท่านอื่นอาจตีความคนอีกอย่าง แต่ผมเห็นว่า มันโหวตไม่ได้แล้ว เพราะมันมาผิดขั้นตอนตั้งแต่แรก ขั้นตอนมันไม่ใช่ เพราะต้องไปถามประชามติ ก่อน
ส่วนที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย เสนอแนวทางให้สภา ค้างลงมติวาระ 3 ไว้ก่อน แล้วให้รัฐบาลรีบไปทำประชามตินั้น นายสมชาย กล่าวว่า ก็เคารพความเห็นของคุณหญิงสุดารัตน์นะ แต่บางคนเขาตีว่า มันตกไปแล้ว พี่ไม่ขอตีดีกว่า พี่ก็พยายามให้มันเดินได้ สุดแล้วแต่สภา คือ มันต้องเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผูกพันหมด ประเด็นคือ ถ้าจะมองอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ ก็มองได้ว่า ยังไม่ตกแล้วไปค้างไว้ ก็มีความเห็นอย่างนั้นได้ แต่บางฝ่ายมองว่ามันตกไปแล้ว เพราะต้องไปทำประชามติก่อน ประชามติยังไม่รู้เลยว่า เขาจะให้ทำอะไร แต่คุณไปลัดขั้นตอน ตีว่ายังไงก็ต้องทำประชามติก่อน
"ประชามติ" ตั้งคำถามนอกเหนือจาก"เห็นควรให้มี รธน.ฉบับใหม่" ได้หรือไม่
อันนี้ต้องไปดู พระราชบัญญัติประชามติ แต่ว่าหลักการสำคัญ ศาลวินิจฉัย ใช้คำว่า "ประชาชนเห็นควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่" มันก็ควรถามแค่นั้น ไม่ควรถาม ถ้ามี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาร่างได้ไหม หรือมีรัฐธรรมนูญใหม่ สภาร่างฯ เอง หรือถามว่า มีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ให้สภาสนามม้า ร่างฯ มันเขียนอย่างนั้นไม่ได้ มันควรเขียนคำถามง่ายๆ ตรงๆ สั้นๆ อย่าง "ให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อมาแทน รัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่" มากกว่า ถ้าประชาชนบอกว่า ไม่เอาละ รัฐธรรมนูญ 2560 อยากจะล้ม ก็อนุมัติไปล้มได้ แต่ถ้าประชาชนบอกว่า ให้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 อยู่ต่อไป มันก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญมันตันนะ ก็กลับไปแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราไง นี่ยืนยันมาตลอดว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วการแก้ทำได้เลย โดยหน้าที่ของสภาอยู่แล้ว ตามที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รัฐสภามีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้น วิธีแก้รัฐธรรมนูญขณะนี้ คือ ต้องไปถามประชามติก่อน
จะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน
วันที่ 17 มี.ค. นี้ มองว่า มันโหวตร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไม่ได้ แต่ร่างพระราชบัญญัติประชามติ เข้ามาวันที่ 17 มี.ค.เช่นเดียวกัน เข้ามาแล้วก็ควรโหวตให้ผ่านไปเลย แล้วอยากทำประชามติ ก็ไปทำประชามติ เรื่อง แก้รัฐธรรมนูญ แต่พระราชบัญญัติประชามตินี้ ไม่ใช่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวนะ มันแก้เรื่องอื่นได้ด้วย อย่างจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไหม ทำแท้ง-กาสิโนเสรีหรือไม่ ก็ทำประชามติได้ ก็ใช้พระราชบัญญัติประชามติให้เป็นประโยชน์ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ อยากใช้พระราชบัญญัติประชามติก็ทำได้ ถ้าไม่อยากทำประชามติ อยากแก้ปัญหาให้ถูกฝา ถูกตัว ก็กลับไปแก้รธน.แบบรายมาตรา ซึ่งผมก็พร้อมจะเสนอเข้าสู่สภาอีกครั้ง เพราะเคยทำไว้แล้วตั้งแต่กันยายน ปี 63
"ยืนยันการแก้ไขรธน.รายมาตราทำได้อยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเราคิดว่าประเทศไทยเดินหน้าได้มีช่องทางไปได้ทั้งคู่ คือไปประชามติก็ได้ แล้วจะค้างไว้ หรือตกไปก็ได้ ผมคงไม่ไปก้าวล่วง แต่ส่วนตัวผมเห็นว่า มันตกไปแล้วละ คุณหญิงก็ไม่มีอะไร รู้จักกัน" นายสมชาย กล่าว...
เสนอทางออกแก้รธน.รายมาตราเถอะ แก้ปัญหาลุล่วง ถูกต้อง ตรงตัว เห็นด้วยแก้รายมาตรา ก็จะไม่ทำให้เกิดวิกฤติการเมืองก็ได้
คิดว่าม็อบจะรุนแรงขึ้นไหม
มันก็มีโอกาสอยู่แล้ว แต่ก็ต้องทำตามกฎหมาย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็ควรเคารพ ผมน้อมรับคำวินิจฉัยนะ แล้วถ้าเราไม่พอใจ วันนี้เราล้มรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้โดยไม่ถามประชามติ เกิดวันหน้า มีม็อบอีกกลุ่มหนึ่งมาล้มอีกมันก็ไม่จบ ฉะนั้นอยากให้ทุกคนใช้เหตุใช้ผล น้องนิสิตนักศึกษา เยาวชนที่อยากแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นว่ารายมาตราตรงไหนมีปัญหาก็ลองเสนอดู โดยภาคประชาชนยื่น 5 หมื่นชื่อก็ได้ ให้ ส.ส. ส.ว. หรือ คณะรัฐมนตรีเสนอก็ได้ หรือยังอยากทำประชามติก่อน ก็เสนอทำได้ครับ ไม่ได้ตัน ไม่ต้องไปใช้ความรุนแรง มันไม่มีใครพอใจไปทั้งหมดหรอก แต่ให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ตามที่ศาลท่านวินิจฉัย ให้ถูกต้องชอบธรรม
ด้าน นายไพบลูย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย "สภามีอำนาจในการแก้ไขรธน." ว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญถือว่ามีผลผูกพันทุกองค์กร และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ออกมาแบบนี้ เห็นว่าร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญในวาระ 1 วาระ 2 จนที่จะมาลงมติใน วาระที่ 3 ซึ่งตอนนี้ค้างอยู่ในสภา เป็นอันจบ คือตกไป เนื่องจากไม่ได้มีการทำประชามติสอบถามประชาชน มาตั้งแต่แรก ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สรุป คือ ต้องไปเริ่มต้นนับ 1 ใหม่
"ส่วนตัวยังตีความว่า คำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญยังชี้ให้เห็นว่า อำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภาเท่านั้น ไม่ว่าจะแก้ไขแบบบางมาตรา หรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ไม่สามารถเอาไปให้ใครแก้ไขได้ ในที่นี้หมายถึงการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรธน.ฉบับใหม่ ไม่น่าจะสามารถกระทำได้แล้ว" นายไพบูลย์ กล่าว
งานนี้ คงต้องจับตาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่ฝ่ายนักการเมือง และอาจรวมไปถึงม็อบ ที่พยายามชงกันมาตั้งแต่ต้น จะเข้าตำรา "กลับตัวก็ไม่ได้ จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง" หรือไม่ หรือต้องตัดสินใจไปใช้บริการ แก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เป็นคำตอบ อีกไม่นานเกินรอคงได้รู้
ผู้เขียน :เดชจิวยี่
กราฟิก :sathit chuephanngam