มติศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 เสียง ไฟเขียวรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ร่าง รธน.ฉบับใหม่ได้ ตั้งเงื่อนไขต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ฝ่ายกฎหมายสภาฯถกด่วนฟันธง 17 มี.ค. ลุยโหวตร่าง รธน.วาระ 3 ได้ แต่งานงอกตั้ง ส.ส.ร.ติดเงี่ยงประชามติ “ชวน” มั่นใจแก้ รธน.ไม่เป็นโมฆะ “ไพบูลย์” เห็นต่างอ้างโหวตวาระ 3 ไม่ได้แล้ว พท.-ก้าวไกล ยืนกรานไม่มีอะไรขัดหรือแย้งคำวินิจฉัย “สุทิน” มึนทิ้งบอมบ์ตีความได้คนละทิศละทาง “สุดารัตน์” แนะแขวนไว้รอทำประชามติ 90 วัน “ประยุทธ์” สยบก๊วนล่าเก้าอี้ส่ง “ชัยวุฒิ” เสียบดีอีเอส อุ้ม “ตรีนุช” นั่งเก้าอี้ใหญ่ รมว.ศธ. เผยหลังบ้านปลื้มแถมได้ใจ 3 ป. “ธรรมนัส” โอดไม่คิดมักใหญ่ใฝ่สูง “เสี่ยหนู” รอดีลแลก รมช. “เสี่ยต่อ” โบ้ยคุย ภท.เรื่องอื่นไม่ใช่โยกเก้าอี้ ปชป.ฝุ่นตลบชง 4 ชื่อ ส.ส.ใต้ชิง รมช.คค. กลุ่มเลือดใหม่ดันพ่วงปรับ “กัลยา”

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้ขาดว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องทำประชามติก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง จนนำซึ่งการตีความแตกต่างกันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในสภาฯจะถือเป็นโมฆะไปหรือไม่

มติศาล รธน.รัฐสภามีอำนาจแก้ รธน.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 มี.ค. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและนายสมชายแสวงการ ส.ว. เสนอให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ของอำนาจของรัฐสภาตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ต่อมาเวลา 15.00 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงผลการพิจารณาคำร้องดังกล่าว โดยระบุว่า คดีนี้เป็นคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้อง จึงไม่มีการออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 76 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน

...

8 ต่อ 1 ให้ทำประชามติ 2 ครั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงมติของคณะตุลาการศาล รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มีการลงมติด้วยเสียง 8 ต่อ 1 เสียง

ทีม ก.ม.สภาฯฟันธงโหวตวาระ 3 ได้

เมื่อเวลา 17.00 น. ที่รัฐสภา ฝ่ายกฎหมาย สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรียกประชุมด่วนเพื่อหารือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้รัฐสภามีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องทำประชามติก่อนว่าประชาชนจะยอมให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ทำให้เกิดการตีความว่าการประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 มี.ค. เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะทำได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีการทำประชามติสอบถามประชาชน จึงต้องหารือกันอย่างเคร่งเครียด โดยเห็นว่าการลงมติวาระ 3 ดำเนินการต่อไปได้เพราะขั้นตอนการทำประชามติจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3

มึนตึ้บตั้ง ส.ส.ร.ติดเงี่ยงประชามติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่ปรากฏว่ามีปัญหาสำคัญอยู่ที่มาตรา 5 ของร่างฯที่เพิ่งผ่านวาระ 2 ไประบุว่า “ในวาระเริ่มแรกให้ตรา พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการรับสมัครการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ภายใน 30 วัน นับจากรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ” หมายความว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 และมีผลบังคับใช้จะต้องตรา พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ใน 30 วัน โดยที่ยังไม่มีการทำประชามติถามประชาชนตามคำวินิจฉัยฯจะผิดเงื่อนไขของศาลรัฐธรรมนูญทันที หรือหากจะจัดให้ทำประชามติสอบถามประชาชนจะมีเวลาแค่ 30 วัน ซึ่งไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ จึงเป็นเงื่อนสำคัญที่ฝ่ายกฎหมายยังหาทางออกไม่ได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมหารือกันนานถึงเวลา 19.00 น. แต่ยังไม่สามารถหา ทางออกได้ โดยจะรายงานให้ประธานสภาฯรับทราบในวันที่ 12 มี.ค. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

“ชวน” มั่นใจแก้ รธน.ไม่เป็นโมฆะ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งคำวินิจฉัยมาให้เพียง 4-5 บรรทัด ขณะนี้ความเห็นยังไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่นัก ยังคงตีความกันอยู่ ดังนั้นต้องรอรายละเอียดของคำวินิจฉัยก่อน เมื่อถามว่า จะสามารถโหวตในวาระ 3 ได้หรือไม่ นายชวนตอบว่า ตนได้สั่งบรรจุระเบียบวาระก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา เมื่อถามย้ำว่า การโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 2 จะเป็นโมฆะหรือไม่ นายชวน ตอบว่า ไม่เป็น เพราะผ่านไปโดยเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร ส่วนวาระ 3 เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าโหวตผ่านวาระ 2 แล้วให้ทิ้งเวลา 15 วันจึงโหวตวาระ 3 ขณะนี้วาระ 2 ได้พ้น 15 วันไปแล้ว

“ไพบูลย์” ยันโหวตวาระ 3 ไม่ได้แล้ว

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ยังงงในคำวินิจฉัยดังกล่าว เชื่อว่าวันที่ 17 มี.ค. ที่ประชุมรัฐสภาต้องถกเถียงในความหมายดังกล่าวว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะตีความอย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐสภาไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้แล้ว เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นถือว่าโมฆะใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ตอบว่า ใช่ เพราะต้องไปถามประชาชนก่อน และถามประชาชนได้เพียงว่าประสงค์จะให้แก้ทั้งฉบับหรือไม่

“อนุทิน” ขออย่าหาเรื่องมองยื้อเวลา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่า ดี เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยด้วยหรือไม่ นายอนุทินตอบว่ามีทางเลือกอื่นหรือไม่ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลและเคารพคำสั่งศาล ทุกอย่างจะได้เดินหน้าไปได้ เมื่อถามว่า การทำประชามติจะยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ไม่ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ อย่าไปคิดอะไรมาก ถ้ายื้อเวลาคงไม่ต้องบรรจุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาแบบนี้แล้วไปบอกว่ายื้อเวลาก็คงไม่ใช่ อย่างนี้ก็หาเรื่องแล้ว

พท.ชี้ที่ทำมาสอดคล้องลุยวาระ 3

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้คือการสอบถามประชาชนว่าเห็นสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง เนื่องจากเมื่อผ่านวาระ 3 เราต้องทำประชามติเสียก่อนว่าจะเห็นชอบให้มีจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เมื่อประชาชนเห็นชอบก็นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จากนั้นต้องเลือก ส.ส.ร.ตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แล้ว ส.ส.ร.ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อได้ร่างฉบับใหม่แล้วไปทำประชามติอีกครั้ง ถ้าประชาชนเห็นชอบจึงเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ ทั้งหมดที่ทำอยู่สอดคล้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนี้ต้องเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไป

“สุทิน” เซ็งมติตีความได้คนละทาง

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า คำวินิจฉัยที่ออกมาทำให้ประชาชนตีความไปคนละทิศละทาง บ้างบอกว่าวันที่ 17 มี.ค. ไม่สามารถโหวตวาระ 3 ต่อไปได้ บ้างว่าเดินหน้าต่อไปได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าคำวินิจฉัยที่บอกว่าการยกร่างทั้งฉบับต้องไปถามประชาชน โดยทำประชามติ 2 ครั้งนั้นหมายถึงฉบับที่ ส.ส.ร. จะยกร่างขึ้น แต่ฉบับที่คาสภาฯอยู่นี้เป็นการแก้เพียงมาตราเดียวคือมาตรา 256 ไม่ใช่การยกร่างทั้งฉบับ จึงคิดว่าเดินหน้าโหวตวาระ 3 ได้ตามปกติ ที่หลายคนอ้างว่าจะแตะต้องพระราชอำนาจนั้นคือฉบับที่ ส.ส.ร.จะยกร่างขึ้นไม่ใช่ฉบับนี้ ฉบับนี้แค่เพียงวิธีแก้รัฐธรรมนูญมาตราเดียว คงต้องรอประธานรัฐสภาวินิจฉัย แต่ถ้ามีคนไม่เชื่อ อาจต้องวกไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง

“โรม” ย้ำไม่มีอะไรขัดคำวินิจฉัย

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญที่ทำมาตกไป และการลงประชามติต้องมีอยู่แล้ว ถ้าประชาชนเห็นชอบก็เท่ากับเห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย ต้องย้ำก่อนว่าการดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภาทำมาถึงตอนนี้เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ทำมาทั้งหมดจึงไม่สิ้นผลต้องดำเนินการต่อไป กระบวนการที่ทำอยู่นี้ยังเป็นเพียงการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังมิได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มขึ้นจริงๆ

“เจ๊หน่อย” ให้เลื่อนวาระ 3 รอประชามติ

วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กแถลงการณ์กลุ่มสร้างไทยต่อกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า รัฐสภาควรเลื่อนการลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ออกไปก่อนเพื่อรอการทำประชามติสอบถามประชาชนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณาในรัฐสภาเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล นายกฯโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีควรเร่งปรึกษาประธานสภาฯและประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติ ดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในไม่เกิน 90 วัน ตามกฎหมายประชามติที่ยังมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ปัญหาทางการเมืองของประเทศคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีต่อไป ทางออกเดียวที่จะนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองคือการคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันและกติกาทางการเมืองของประเทศนี้ใหม่ โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“ธรรมนัส” บอกไม่คิดมักใหญ่ใฝ่สูง

อีกเรื่อง เมื่อเวลา 11.45 น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการปรับ ครม.ว่า ยังไม่รู้ว่าใครจะไปนั่งตำแหน่งไหน สำหรับตำแหน่งรัฐมนตีที่ว่างลงทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายกฯจะเป็นผู้พิจารณาเลือกใครให้นั่งเก้าอี้ไหน พร้อมฝากถึงนักการเมืองที่กำลังมีการวิ่งเต้น สำหรับเก้าอี้รัฐมนตรีที่จะมีการปรับ ครม.ครั้งนี้ว่าอย่าคิดมักใหญ่ใฝ่สูงให้ตั้งใจทำงาน และเวลาทำงานควรคิดว่าจะทำประโยชน์อะไรให้ประชาชน เมื่อถามว่าจะไปเป็น รมว.แรงงานเตรียมตัวพร้อมหรือยัง ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ได้คิดไปไกลถึงขนาดนั้นกระทรวงแรงงานไม่ใช่ทางของตน เพราะมาจากดินอยู่กับเกษตรกร พี่น้องประชาชน หากให้ไปที่กระทรวงแรงงานคงไม่แน่นอน ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรทั้ง 4เก้าอี้จาก 4 พรรคเชื่อว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกคนยังคงอยู่ในเก้าอี้เดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

“เสี่ยหนู” ชี้ รมต.ค่ายเดียวได้งานเต็มที่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ว่า จะโยกย้ายหรือสลับเปลี่ยนกันหรือไม่อยู่ที่การพูดคุยเจรจา แต่คุยในหลักการแล้วคล้ายๆกับข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ เมื่อถามว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ายังอยู่ที่เดิมไม่มีการสลับ นายอนุทินกล่าวว่า “ก็คุยกันแล้วนี่ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยกับเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คุยกันแล้ว ในหลักการไม่มีปัญหา ผมก็คุยกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คร่าวๆ หลักการไม่มีปัญหา” คนของใครคนนั้นมาดูแลทำงานได้เต็มที่ คนที่ได้ประโยชน์จากการทำงานได้เต็มที่ ไม่ใช่รัฐมนตรีแต่คือประชาชน แต่คนตัดสินใจคือนายกฯ เราก็เสนอไป แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ส่ง ซองจดหมายอยู่ในตู้ มีชื่อนายบุญลือประเสริฐโสภา ส.ส.ราชบุรี หรือไม่ จำไม่ได้

“เสี่ยต่อ” โบ้ยคุยเรื่องอื่นไม่ใช่แลกเก้าอี้

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันที่ 12 มี.ค.จะประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และจะพิจารณารายชื่อผู้ที่ไปเป็น รมช.คมนาคมในโควตาพรรค จากนั้นจะสรุปและส่งรายชื่อไปให้นายกฯ พิจารณาแต่งตั้งต่อไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายกฯ เมื่อถามว่าได้มีการคุยสลับตำแหน่งกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทย ตามที่มีกระแสข่าว จนถึงขณะนี้ไม่มีพรรคไหนคุยกันถึงเรื่องนี้ ทุกอย่างเป็นไปตามโควตาของพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่การพูดคุยเรื่องสลับตำแหน่งกัน ในส่วนพรรคภูมิใจไทยคุยเรื่องอื่นในฐานะเพื่อน ไม่ใช่เรื่องนี้

“นิพนธ์” ชง 4 ชื่อ ส.ส. 5 สมัย เข้า กก.บห.

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานการประชุม ส.ส.ภาคใต้ นานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นนายนิพนธ์เปิดเผยว่า ที่ประชุมหารือกรอบข้อบังคับพรรคการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นรัฐมนตรี เห็นร่วมกันว่าควรเน้นหลักความอาวุโสและความรู้ความสามารถตามข้อบังคับพรรค มี ส.ส. รุ่นปี 2544 ที่เป็น ส.ส.ติดต่อกัน 5 สมัย มี 4 คน คือนายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง และนางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา ได้เปิดโอกาสให้ทั้ง 4 คน แสดงวิสัยทัศน์เบื้องต้น รวมถึงหารือกันถึงปัญหาพื้นที่ภาคใต้ มี ส.ส.บางส่วนเห็นควรว่าคนที่จะขึ้นเป็นรัฐมนตรีควรจะมีบารมีและประสบการณ์ทางการเมืองพอสมควร เพื่อจะนำพาพรรคและรองรับสถานการณ์ในภาคใต้ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันต่อการนำเสนอรายชื่อ 4 คนนี้ ตนจะนำรายชื่อทั้งหมดนำเสนอต่อที่ประชุม กก.บห.วันที่ 12 มี.ค. เวลา 14.00 น. และที่ประชุมร่วม กก.บห. กับ ส.ส.เวลา 16.00 น. มั่นใจเมื่อที่ประชุม กก.บห.มีมติเลือกใครแล้วจะเป็นที่ยอมรับของทุกคน ไม่มีแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นภายในพรรคแน่นอน

ส.ส.ใต้ค้านแลก รมช.เลือดใหม่บี้ปรับ “กัลยา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแลกกระทรวงระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะยิ่งสร้างกระแสต่อสังคมให้จับตามองว่าเป็นช่วงท้ายของรัฐบาล หากเจ้ากระทรวงกับรัฐมนตรีช่วยเป็นพรรคเดียวกันจะมีการจับมือทำอะไรก็ได้ อีกทั้งตำแหน่ง รมช.คมนาคมยังสามารถทำผลงานให้เห็นในพื้นที่ภาคใต้ได้ดีกว่าไปนั่งดูแลกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรมจับต้องได้ นอกจากนี้กลุ่มเลือดใหม่ได้เสนอว่าในเมื่อจะปรับ ครม.แล้วและครบ 2 ปีที่ต้องประเมินผลงานรัฐมนตรี ขอเสนอให้ปรับรัฐมนตรีโลกลืม ผลงานไม่ปรากฏ เช่น คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาฯออกด้วย ซึ่งนายนิพนธ์รับไว้เป็นข้อสังเกต จะนำไปพิจารณาในที่ประชุม กก.บห. แต่ชี้แจงว่าการปรับ ครม.เที่ยวนี้ได้รับสัญญาณจากพรรคหลักว่าไม่ต้องการให้เกิดแรงกระเพื่อมมากเกินไป ทางกลุ่มเลือดใหม่จึงเสนอว่าหากมีการปรับ ครม.ครั้งหน้า ขอให้รับข้อเสนอนี้ไปพิจารณาด้วย

กลุ่ม ส.ส.สุราษฎร์ดัน “สินิตย์” เต็มสูบ

นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตนและเพื่อน ส.ส.สุราษฎร์ธานี 4 คน ได้ทำหนังสือถึง กก.บห.เพื่อเสนอชื่อนายสินิตย์ให้เป็น รมช.คมนาคม ระบุเหตุผลเป็น ส.ส.อาวุโสสูงสุด 5 สมัย ตั้งแต่ปี 44 ถึงปัจจุบัน มีประสบการณ์ทำงานหลายด้าน เป็นกรรมาธิการและที่ปรึกษากรรมาธิการหลายคณะ ทำงานให้พรรคเต็มความสามารถ สนองนโยบาย สร้างชื่อเสียงให้พรรค จนเป็นที่ยอมรับในพื้นที่ และเป็นที่เคารพรักของ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เพราะเป็นกำลังสำคัญสนับสนุนให้ ส.ส.ในพื้นที่ทุกคนทำงานอย่างแข็งขันภายใต้การนำของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ประธานที่ปรึกษาพรรค และเป็นจังหวัดเดียวของภาคใต้ที่ได้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยกจังหวัด พวกตนจึงสนับสนุน และขอให้ กก.บห. พิจารณาข้อนี้ด้วย

“บิ๊กตู่” ปรับเล็กปราบพยศก๊กก๊วน

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/4 ว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้จะเป็นการปรับเล็ก เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม โดยในหมู่แกนนำพรรค พปชร.มีการมองว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้มีนัยทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม แสวงภาวะผู้นำ ใช้อำนาจสิทธิ์ขาดความเป็นนายกฯ ปรามบางกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐ อาทิ กลุ่ม “3 ช่วย” ที่เคลื่อนไหวอย่างหนักภายในพรรค ต้องการขยับอัปเกรดเก้าอี้ตัวเองขึ้นชั้น รมว.ไม่ว่าจะเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ที่ถูกจับตามองว่าพยายามสร้างผลงานวิ่งเข้าหา พล.อ.ประวิตรอย่างหนัก และจะกลายเป็นประเพณีปฏิบัติที่ถนนทุกสายจะต้องวิ่งเข้าหา พล.อ.ประวิตรเท่านั้น นายกฯจึงตัดสินใจปรับ ครม.แบบปรับเล็กจัดวาง 2 ส.ส.ที่ถูกเสนอชื่อไปจะเข้าไปเสียบตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างอยู่เท่านั้น

“ตรีนุช” เหาะนั่ง รมว.ศธ.–“ชัยวุฒิ” ดีอีเอส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำคัญคือมีเซอร์ไพรส์ คือการให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว ซึ่งแม้จะถือเป็นว่าที่ รมต.หน้าใหม่กลับได้ตำแหน่งใหญ่แบบไม่มีใครคาดคิด ส่วนนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรค พปชร.จะไปดำรงตำแหน่ง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จากแรงสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตรที่เคยรับปากว่าจะให้ตำแหน่งรัฐมนตรี ขึ้นบัญชี Waiting List อันดับ 1 และมีผลงานในตำแหน่งเลขานุการวิปรัฐบาลเข้าตา พล.อ.ประวิตรมาตลอด รวมทั้งได้รับการผลักดันจากนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ที่ทำงานทีมเดียวกันด้วย

แรงหนุนปึ้ก “ประวิตร–หลังบ้านบิ๊ก”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ตรีนุช ที่ก่อนหน้านี้มีชื่อเป็น รมว.วัฒนธรรม จะสลับกับนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ที่มีข่าวจะไปนั่ง รมว.ดีอีเอส ถือเป็นเซอร์ไพรส์ที่สร้างความแปลกใจให้กับ ส.ส.พรรค พปชร.ไม่น้อย เนื่องจากตระกูลเทียนทองสายสัมพันธ์อันดีกับพี่น้อง 3 ป.ทั้ง พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตั้งแต่ครั้งยังรับราชการทหารที่ จ.ปราจีนบุรี ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมายาวนาน โดยเฉพาะกับครอบครัว น.ส.ตรีนุช ที่มีนางขวัญเรือน เทียนทอง นายก อบจ.สระแก้ว มารดา และเมื่อตอนเลือกตั้ง 2562 ตระกูลเทียนทอง โดย น.ส.ตรีนุช และนายฐานิสร์ เทียนทอง พลิกขั้วย้ายข้ามฟากมาจากพรรคเพื่อไทย โดยการประสานงานของ พล.อ.ประวิตร ถึงขั้นทะเลาะแตกหักกับนายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย จึงได้ใจ พล.อ.ประวิตรไปเต็มๆเมื่อพรรคพปชร.เสนอตำแหน่งประธาน กมธ.ให้ถึง 2-3 ครั้ง น.ส.ตรีนุชที่มีดีกรีเป็น ส.ส.ถึง 5 สมัยกลับไม่รับแต่ยกโควตากลับไปให้พรรคและอีกเหตุผลหนึ่งคือ น.ส.ตรีนุชและครอบครัวมีความสัมพันธ์อันดีกับนางนราพร จันทร์โอชา ภริยานายกฯถือเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนสำคัญทำให้คว้าตำแหน่งใหญ่มาครอง

“บุญลือ” โผล่ลุ้น ภท.–ปชป.แลกเก้าอี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อยู่ระหว่างเจรจาตกลงจะสลับเก้าอี้กัน ระหว่าง รมช.พาณิชย์โควตาพรรคภูมิใจไทยกับ รมช.คมนาคม โควตาพรรคประชาธิปัตย์ โดยในพรรคภูมิใจไทยมีกระแสข่าวอีกทางหนึ่งออกมาว่านายบุญลือ ประเสริฐโสภา ส.ส.ราชบุรี มีชื่อจะมาชิงเก้าอี้ รมช.คมนาคม เบียดกับนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์

ทุ่ม 6 ล้านซ่อมหลังคาตึกสันติไมตรีรั่ว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า กรณีฝนตกหนักทำให้น้ำรั่วผ่านหลังคาตึกสันติไมตรีน้ำเจิ่งนองพื้นระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม แถลงข่าวหลังประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น.เจ้าหน้าที่กรมยุทธโยธาทหารบกมาสำรวจก่อนใช้งบฯ 6 ล้านบาทซ่อมแซมหลังคาตึกสันติไมตรี ทำหลังคาสำเร็จรูปครอบแยกเป็นส่วนๆ ซึ่งเหตุหลังคารั่วเกิดจากการตั้งเสาอาคาร เจ้าหน้าที่ขึ้นไปบนหลังคาตึกกระทบรอยยาแนวเชื่อมหลังคากับโครงสร้างตึก ทำให้เกิดรอยรั่วซึม และมีเชิงชายตึกไทยฯบางส่วนเสียหายด้วย