- Bubble and Seal ยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่เชื้อได้
- ไขคำตอบ ใส่หน้ากากเล่นสงกรานต์ทำได้จริงหรือ
- ฉีดวัคซีนไปแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อและปล่อยเชื้อได้
เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการมาระยะหนึ่ง หลายคนต่างจับตาว่าเดือนที่ร้อนที่สุดของปีอย่าง เม.ย. การจัดงาน “สงกรานต์” 2564 นี้ จะเป็นอย่างไร ได้เล่นน้ำไหม กิจกรรมจะออกมาในรูปแบบไหน หลังปีที่แล้วงดเล่นจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อย่าง “อิทธิพล คุณปลื้ม” บอกว่าจะเสนอเรื่องกิจกรรมช่วงสงกรานต์ การจัดโซนต่างๆ เพื่อความปลอดภัย หนึ่งในนั้นคือ “การสวมหน้ากากเล่นน้ำสงกรานต์ได้” ต่อที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาเพื่อเคาะเป็นมาตรการออกมาอีกครั้ง ก็เกิดคำถามตามมาว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ยังมองภาพไม่ออก รวมถึงการสวมใส่หน้ากากเล่นน้ำนั้นทำได้จริงหรือ
ต้องยอมรับ ไทยไม่ได้ตรวจเชิงรุก 100%
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เริ่มจากบอกเล่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบันของไทยให้ฟังว่า เรายังไม่ได้มีการตรวจเชิงรุกอย่างแท้จริง ที่จะทราบว่าคนปกติใน กทม. ปริมณฑล หรือจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แท้จริงแล้วมีคนติดเชื้ออยู่เท่าไร และคนที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถปล่อยเชื้อออกมาได้เท่าไร ซึ่งการประเมินจังหวัดเสี่ยงเป็นพื้นที่สีต่างๆ นั้น ไม่ได้เป็นการตรวจเชิงรุก 100% เพราะการตรวจเชิงรุก 100% หมายความว่า ต้องเข้าถึงคนในทุกพื้นที่ ช่วงวัยต่างๆ รวมถึงคนที่มีความแข็งแรงและเป็นหนุ่มสาว คนกลุ่มนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อได้ดีที่สุด แต่การตรวจคัดกรองในขณะนี้เป็นเพียงบางพื้นที่ที่ระบุว่ามีความเสี่ยง
...
ไวรัสโควิดยังมีการแพร่เชื้ออย่างเงียบๆ
แม้กระทั่ง จ.สมุทรสาคร เราทราบกันดีว่าหลังจากที่มีการปะทุขึ้นมาของการติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ประมาณ 18-19 ธ.ค. 2563 และข้อมูลที่เรามีในขณะนี้ที่ได้ทำงานประสานกันกับ จ.สมุทรสาคร พบว่า ในโรงงานขนาดไม่ใหญ่นักมีแรงงานประมาณ 2,200 คน การตรวจหาเชื้อด้วยการแยงจมูกเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2563 พบผู้ติดเชื้อ 300 คน ที่เหลือ 1,900 คน ยังคงให้ทำงานต่อ ส่วนที่พักอาศัยก็ไม่ได้มีการแยกระยะห่างกันอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน พื้นที่นี้ยังเรียกว่าเป็น Bubble and Seal โดยที่อาจจะไม่ได้ตระหนัก 100% ว่าการแยงจมูกครั้งเดียวไม่ได้เป็นข้อรับประกันว่าจะไม่มีการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ต่อมาวันที่ 14 ก.พ. 2564 (ครั้งที่ 1) มีการส่ง 1,900 คน มาตรวจว่ามีการแพร่เชื้อได้หรือไม่ เมื่อตรวจเลือดแล้วพบว่ามีหลักฐานการติดเชื้ออยู่ 283 คน และในจำนวนนี้มี 148 คน สามารถปล่อยเชื้อได้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 (ครั้งที่ 2) ตรวจอีกครั้งทั้ง 1,900 คน พบว่ามีเลือดบวก (มีการติดเชื้อเกิดขึ้น) 538 คน ในจำนวนนี้เป็นคนที่เลือดบวกทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จำนวน 230 คน แสดงว่ามีการแพร่เชื้ออย่างเงียบๆ ในโรงงานนี้
“การทำ Bubble and Seal มาตลอด ยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่เชื้อได้ แต่แรงงานตรงนี้อาจจะเป็นแรงงานที่แข็งแรง หรือว่าเป็นหนุ่มสาว ลักษณะอาการก็ไม่ปรากฏ ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ขณะที่มีการเฝ้าระวังและมีการตรวจถึงขนาดนี้ แต่กระบวนการและวิธีการนั้นยังไม่สามารถจำกัดหรือแยกตัวคนที่ติดเชื้อและแพร่เชื้อออกไปได้หมดจด ดังนั้น พื้นที่ต่างๆ ที่บอกว่าปลอดภัยแล้วก็ไม่มีการรายงาน แท้ที่จริงแล้วมีในลักษณะแบบโรงงานที่สมุทรสาครอีกหรือไม่”
เล่นสงกรานต์ต้องระวัง ยังเสี่ยงติดเชื้อได้
หากเราไม่รู้สถานการณ์ที่เป็นจริง ถ้าถามว่าจะเล่นสงกรานต์ได้ความปลอดภัยแค่ไหน ก็บอกไม่ได้ เพราะไม่รู้ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในทุกจังหวัดและทุกพื้นที่ในขณะนี้ แต่ถ้าถามว่าเล่นสงกรานต์ได้ไหม เห็นด้วย 100% ว่าควรเล่นได้ แต่ในขณะเดียวกันยังต้องรักษาระยะห่าง มีการล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และการเล่นน้ำก็ต้องมีความระมัดระวังเรื่องการสาดน้ำเข้าหน้าเข้าตา ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นการทำให้การปกปิดใบหน้าหรือดวงตาหย่อนยานไป จนไม่สามารถปกปิดได้อย่างมิดชิด ดังนั้น การที่มีการคลุกคลีกัน หรือมีการสนุกสนานถึงระดับหนึ่งก็อาจจะทำให้มีการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ใหม่ ตอนนี้ที่เราเห็นคนที่ไม่ค่อยมีอาการหนักอาจจะเป็นเพราะเชื้อยังมี ยังแพร่อยู่ได้ แต่ยังไม่ได้เจอะเจอคนที่มีความเปราะบาง คนที่มีโรคประจำตัวอยู่ อย่างที่ จ.สมุทรสาคร แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่สำหรับคนที่เข้าไป เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เวลาที่ติดแล้วมีอาการรุนแรงมากเหลือเกิน ถ้าคนที่แพร่เชื้อไม่รู้ตัวว่าแพร่ได้ แล้วเข้าไปใกล้ชิดสนิทสนมกับคนอื่นๆ อาจทำให้คนเหล่านั้นเกิดโรคและมีอาการหนักได้ ส่วนเรื่องความมั่นใจในวันสงกรานต์นั้น คงตอบไม่ได้ด้วยหลักฐานทางวิชาการ หรือข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้
หน้ากากมีประสิทธิภาพที่สุดตอนแห้ง
ส่วนหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้านั้น จะมีประสิทธิภาพที่สุดในตอนที่แห้ง ถ้าเปียกน้ำ ชุ่มโชก หลุดออกมา เปิดโอกาสให้ละอองฝอยต่างๆ ออกมาจากการพูด หัวเราะ หรือตะโกน ก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากคนเล่นสงกรานต์ในจุดนั้นไม่มีใครติดเชื้อ โดยที่แน่ใจว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สีเขียว 100% ก็ไม่มีปัญหา แต่ขณะนี้เราไม่ได้มีการตรวจเชิงรุกอย่างนั้น ส่วนเหตุผลที่เราไม่มีการตรวจเชิงรุกเช่นนั้นเพราะเราไม่มีเครื่องมือตรวจ ซึ่งขณะนี้เราตรวจด้วยการแยงจมูกและหาว่ามีชิ้นส่วนของพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ด้วยวิธีการตรวจด้วย RT-PCR ซึ่งมีราคาค่าตรวจสูงมาก กระบวนการแยงจมูกก็ทำด้วยความยากลำบาก ตกตัวอย่างหนึ่งประมาณ 2,200 บาท แม้ว่าการตรวจขณะนี้จะตรวจ 4 หรือ 5 ตัวอย่าง และตรวจ 1 ครั้งก็ตาม อาจจะประหยัดเงินไปเหลือ ตรวจ 4-5 คน แทนที่จะเป็นคนหนึ่ง 2,200 บาท อาจจะเป็นคนหนึ่งแค่ 500 บาทเท่านั้นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะตรวจได้เป็นวงกว้าง ไม่สามารถตรวจได้เป็น 100,000 - 200,000 คน หรือการตรวจในพื้นที่ที่จะมีการชุมนุม หรือสถานที่ที่มีกิจกรรมบันเทิงได้ตลอด 100%
“น้ำ” นำพาเชื้อโควิดแพร่ได้หรือไม่
ในคำถามที่ว่า หากมีผู้ติดเชื้อไปเล่นสงกรานต์ น้ำที่คนผู้นั้นเล่นหรือมีการฉีดการสาดใส่ผู้อื่นจะทำให้ติดเชื้อไปด้วยหรือไม่ หมอดื้อ ให้คำตอบว่า หากละอองฝอยออกมาปนอยู่กับน้ำ โอกาสที่จะสามารถซึมหรือเข้าที่เยื่อบุตา เยื่อบุปาก เยื่อบุจมูก จะมีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่ปล่อยออกมา คงคาดการณ์ไม่ได้ ถ้าเราพูดถึงเรื่องการคาดคะเนโดยไม่มีข้อมูลชัดเจน ทำให้คาดคะเนไม่ได้ เราเพียงแต่พูดตอนปลายเหตุเท่านั้นว่า หน้ากากถ้าชุ่มน้ำป้องกันได้หรือไม่ ถ้าปล่อยเชื้อไปแล้วก็มีละอองฝอยแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือเปล่า อาจจะเป็นเช่นนั้นได้
“แต่ตัวสำคัญคือเรายังไม่รู้ว่าคนที่อยู่ในทุกพื้นที่ อยู่ในทุกจังหวัด ณ ขณะนี้เป็นคนที่ยังปล่อยเชื้อได้มากมายแค่ไหนหรือไม่ ตรงนี้อาจจะสำคัญกว่าที่เราพูดถึงปลายทางของการเล่นสงกรานต์”
แนะรัฐสื่อสารด้วยข้อมูลจริง ไม่ใช่เพื่อให้สบายใจ
ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่สามารถมอบการตรวจเชิงรุกให้ประชาชนทุกคนได้ด้วยราคาประหยัดและสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ต้องแจ้งสถานการณ์จริงให้คนไทยทุกคนทราบ อย่างเช่น จ.สมุทรสาคร ที่กล่าวไปข้างต้นว่า Bubble and Seal ดีขนาดไหนก็ตาม แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ดีนัก เพราะยังมีการแพร่ในกลุ่มแรงงานอยู่ ซึ่งเมื่อมีการปล่อยแรงงานออกไปก็จะมีการแพร่อยู่เรื่อยๆ จึงยังไม่สามารถประกาศได้ว่าสถานการณ์ขณะนี้มีความบรรเทาเบาบางลง การประกาศต้องไม่ได้เอาใจมาก จะบอกว่าขณะนี้เรียบร้อยดี ไม่มีคนเข้าโรงพยาบาล เป็นการอธิบายให้สบายใจ แต่ข้อมูลจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อประชาชนฟังแล้วก็รู้สึกสบายใจไปด้วย เราฟังเรื่องของความสบายใจตรงนี้มาประมาณ 2 สัปดาห์ และถ้าไปสำรวจดูจะพบว่าคนที่ใส่หน้ากาก คนที่รักษาระยะห่าง ภายในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้เรื่องของวินัยลดลงมาก
“ต้องสื่อสารด้วยความเป็นจริง ไม่ใช่สื่อสารเพื่อให้สบายใจเฉยๆ ถ้าเกิดมีการระบาดขึ้นมาใหม่ จะบอกว่าประชาชนการ์ดตกไม่ได้ เพราะมีการอธิบายสถานการณ์ทุกวันว่าดีมาตลอด ตัวเลขก็น้อยลง จากเป็นร้อยเหลือเป็นสิบเท่านั้นเอง เพราะไม่ได้มีการตรวจจริงๆ ต้องยอมรับว่าการตรวจที่ผ่านมาเป็นลักษณะการตรวจจับผู้ต้องสงสัยสูงสุด ไม่ได้เป็นการตรวจเชิงรุกที่แท้จริง ไม่มีใครทราบเลยว่าคนที่เดินไปเดินมาอาจจะมีเชื้ออยู่ก็ได้ ต้องพูดสาระที่เป็นความจริง ข้อมูลที่เป็นจริง เราไม่ได้บอกว่ารัฐบาลพูดไม่จริง แต่ต้องพูดว่ายังคงต้องมีความระมัดระวังอยู่ ถามว่าสถานการณ์ดีขึ้นไหม ดีขึ้นแน่ๆ”
ย้ำ แม้ฉีดวัคซีนก็ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อได้
การใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ยังต้องทำต่อ แต่อาจจะมีความสบายใจหรือหลวมขึ้นได้บ้าง และอีกเรื่องที่สำคัญคือ วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้อยู่ขณะนี้ แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม ไม่มีวัคซีนตัวใดเลยที่การันตีว่าจะไม่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น เพราะมีการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ แต่ความรุนแรงจะผ่อนหนักเป็นเบา และเมื่อติดเชื้อแล้วก็ยังปล่อยเชื้อได้ แม้เชื่อว่าคนที่ฉีดวัคซีนไม่มีการติดเชื้อ ไวรัสที่ปล่อยออกมาจะไม่มีปริมาณมากนัก หรือมีระยะในการปล่อยเชื้อสั้นลงก็ตาม แต่ปล่อยออกมาได้แน่ๆ ดังนั้น การฉีดวัคซีนไปแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อและปล่อยเชื้อได้ เพียงแต่ตัวเองอาจจะไม่มีอาการหนักถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อเข้าโรงพยาบาลทุกราย
หลายครั้งหลายคราเราจะได้ยินซ้ำๆ จากแพทย์หลายท่านว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้การันตีว่าคนคนนั้นจะไม่ติดโควิด-19 อีก เพียงแต่ถ้าติดเชื้อโควิดขึ้นมา อาการก็อาจจะไม่ได้หนักจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต เพราะฉะนั้นแล้วการปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่เสมอ และสิ่งที่ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์” กล่าวมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเราไม่ได้มีการตรวจเชิงรุก 100% จริงๆ ใครจะรู้ว่าคนที่เดินสวนกันผ่านไปมา คนที่อยู่รอบตัวเรานั้นมีใครติดเชื้อโควิดหรือไม่ สิ่งที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขอนามัยของตัวเราเอง แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว หรือยังไม่ได้ฉีดก็ตาม ส่วนมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีอะไรบ้าง ไม่นานเกินรอ ศุกร์หน้า (19 มี.ค. 2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมเป็นประธานการประชุมในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ถึงเวลานั้นเราคงได้รู้กันว่า สงกรานต์แบบ “New Normal” จะเป็นอย่างไร
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Varanya Phae-araya