นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาฯ เพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช ให้ไต่สวน "บิ๊กตู่-จุรินทร์-อคส." เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด และติดตามเงิน อคส. คืน กรณี ทุจริตทำสัญญาลวง ซื้อขายถุงมือยาง มูลค่า 112,500 ล้านบาท 

วันที่ 10 มี.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เดินทางมาที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อยื่นหนังสือ จำนวน 32 หน้า พร้อมพยานหลักฐานสิ่งที่ส่งมาด้วย จำนวน 47 รายการ กล่าวหา พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และนายจุรินทร์ รมว.พาณิชย์ ผู้กำกับดูแล อคส. กับพวกอีกหลายรายต่อกรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนเป็นกรณีเร่งด่วน กรณีมีการทุจริตทำสัญญาลวงซื้อขายถุงมือยางของ อคส. มูลค่า 112,500 ล้านบาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสองพันห้าร้อยล้านบาท) ภายหลังที่ตนได้อภิปรายเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ดังนี้

บุคคลที่อยู่ในข่ายตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบ และพฤติการณ์ในการกระทำที่ขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวน ได้แก่
1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย กรณีจงใจร่วมกับนายจุรินทร์ปกปิดการกระทำทุจริตในหน่วยงานของรัฐ และละเว้นไม่ระงับยับยั้งความเสียหายอันเกิดจากการทุจริต ทำให้ผู้กระทำผิดยักย้าย ซ่อนเร้น จำหน่ายจ่ายโอนเงินที่ทุจริตไปจนสิ้น ทั้งที่อยู่ในวิสัยและอำนาจหน้าที่จะระงับยับยั้งความเสียหายได้แต่ละเว้นไม่กระทำการ ทั้งที่พลเอกประยุทธ์รู้เรื่องการทุจริตว่าก่อนหน้าวันที่ 14 กันยายน 2563 แต่กลับร่วมปกปิดการทุจริตในเรื่องนี้ ทำให้สูญเงินของรัฐที่จะระงับยับยั้งได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท

...

2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้กำกับดูแล อคส. เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีเอื้อประโยชน์แต่งตั้งคนสนิทและผู้ช่วย ส.ส. โดยไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถเฉพาะตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นประธานคณะกรรมการ อคส. และภายหลังแต่งตั้งมีการจัดทำสัญญาลวงซื้อขายถุงมือยางของ อคส. มูลค่า 112,500 ล้านบาท มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท โดยมีพยานหลักฐานเป็นรายงานการประชุมและคลิปเสียงของนายสุชาติ ประธาน อคส. พาดพิงนายจุรินทร์ และนายจุรินทร์ ละเว้นการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่อกรณีดังกล่าว แต่กลับร่วมปกปิดการทุจริตในเรื่องนี้ ทำให้สูญเงินของรัฐที่จะระงับยับยั้งได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมหลายประการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องสอบสวนว่านายจุรินทร์ ส่อว่ารู้เห็นเป็นใจกับประธานคณะกรรมการ อคส. อันเป็นความผิดต่ออำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535 และปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542

3. นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการ อคส. เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 โดยมีข้อเท็จจริงจากคำซัดทอดของ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ รักษาการแทน ผอ.อคส.

4. กรรมการ อคส. เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 กรณีทราบเรื่องการจัดทำสัญญาซื้อขายถุงมือยาง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 จากรายงาน พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ รักษาการแทน ผอ.อคส. แล้วกระทำผิดหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535

5. พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อคส. เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535 กับพวกอีกหลายรายในลักษณะแบ่งแยกหน้าที่กันกระทำ

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เห็นว่าระยะเวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าที่ พลเอกประยุทธ์ และนายจุรินทร์ ได้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายและให้ได้เงินคืน พฤติการณ์การกระทำของบุคคลทั้งหมดข้างต้น ตนเห็นว่า นโยบายปราบปรามการทุจริต ที่พลเอกประยุทธ์ แถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่มีการปฏิบัติจริง พลเอกประยุทธ์ และนายจุรินทร์ มิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 และตามกฎหมาย ตามหลักธรรมาภิบาลและหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จนเกิดเรื่องทุจริตดังกล่าว และจนขณะนี้พลเอกประยุทธ์ ยังได้ปล่อยให้นายจุรินทร์ และนายสุชาติ ประธาน อคส. ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ผู้กำกับ ควบคุม ดูแลงานใน อคส. ต่อไป ทั้งที่บุคคลทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มิได้เป็นคนกลาง เนื่องจากถูกกล่าวหาแต่ยังมีอำนาจครอบงำ อคส. ทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้าไปเกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและติดตามนำเงินคืนอีกต่อไปจนถึงวันนี้

"ตนเดินทางมาวันนี้เพื่อกล่าวหาตามกฎหมาย ในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย รักษาผลประโยชน์ของรัฐและตนเป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องนี้ ตนหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นบทพิสูจน์การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่ามีความกล้าหาญในการตรวจสอบทุจริตของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพื่อไม่ปล่อยให้คนผิดต้องลอยนวล และหน่วยงานของรัฐต้องสูญเสียเงินจากการทุจริตในครั้งนี้" นายประเสริฐ กล่าว...