“ไพบูลย์” ยื่นหนังสือถึง กกต. ชี้ “พุทธิพงษ์ “ ยังเป็น ส.ส อ้าง ผูกพันตามคำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ 12/2562 ระบุ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ปชป. ก็เช่นเดียวกัน 

วันที่ 1 มี.ค.  นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เช้าวันนี้ ตนได้ยื่นหนังสือลงเลขรับที่ 2294 ถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกรณี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  พรรคพลังประชารัฐ ยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ด้วยไม่มีเหตุสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(6) ในหนังสือมีใจความว่า

ตามที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.247/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ.317 /2564 พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 4 (นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์) 7 ปี

ทั้งนี้ ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548 ข้อที่ 5 กำหนดว่า “ในคดีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 3 ปี เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา หากจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์มาก่อน ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่จำต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง”

ดังนั้น กรณีที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 4 (นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์) 7 ปี  ด้วยอัตราโทษตามคำพิพากษาข้างต้นเกินกว่า 3 ปี จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างอุทธรณ์ แต่เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 เป็นไปตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548 ข้อ 5

...

ซึ่งต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ความว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 4 เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมาก่อน ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 4 มีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือไม่มาศาลตามกำหนดนัด แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทง ก็ไม่สูงนัก อีกทั้งจำเลยที่ 4 มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างอุทธรณ์คดี ตีราคาประกันแปดแสนบาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป ห้ามจำเลยที่ 4 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นแจ้งสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองโดยเร็ว”

เมื่อเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 คดีระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง กับ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ผู้ถูกร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ปรากฏในหน้าที่ 6 ว่า “เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากศาลจังหวัดขอนแก่น มีคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาให้จำคุกผู้ถูกร้องไว้นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลซึ่งถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6)
ในส่วนที่ว่า “ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” อีกด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ถูกร้องต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น ให้ประหารชีวิต และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลจังหวัดขอนแก่นแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๒ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6)”

ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” ย่อมมีผลผูกพันว่า กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์

แต่ปรากฏว่า ในกรณีของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ และ ศาลชั้นต้นจึงไม่ได้ออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งแตกต่างจากกรณีของ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจังหวัดขอนแก่น จึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ดังนั้น ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562 จึงมีผลผูกพันให้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ยังคงมีสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ และไม่มีเหตุสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6)

นายไพบูลย์ จึงเห็นว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ด้วยไม่มีเหตุสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562 ที่มีผลผูกพันคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่

และนายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า จะนำสำเนาหนังสือที่มีถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทราบ และตนเห็นว่ากรณี นายถาวร เสนเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังไม่สิ้นสุดการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกันกับ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์