"อัครเดช" อภิปรายย้ำขอกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ระดับจังหวัดบริหารตำรวจท้องที่ ชี้ต้องลดอำนาจการรวมศูนย์ที่ ผบ.ตร. ถึงจะเห็นการปฏิรูปตำรวจจริง
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.64 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายตำรวจที่ทางรัฐบาลได้เสนอกฎหมายในชั้นรับหลักการ ในวาระที่ 1 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ เป็นกฎหมายปฏิรูปในการที่เราจะได้ร่วมกันพิจารณากฎหมายเพื่อที่ได้ปฏิรูปวงการตำรวจ ตำรวจถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญ และอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุดอาชีพหนึ่ง
"เห็นได้จากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ใน 365 วันไม่มีวันไหนหน้าหนึ่งไม่มีตำรวจ หรือไม่มีการพูดถึง เพราะว่าตำรวจนั้นถือว่าเป็นอาชีพที่มีผลกระทบแล้วก็อยู่ในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นการที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอกฎหมายเข้ามาในชั้นรับหลักการ ในวาระที่ 1 เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาในรายละเอียดนั้น ส่วนตัวในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชนขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตำรวจ ปัจจุบันถามว่าการเมืองเข้าแทรกแซง ตามที่มีสมาชิกรัฐสภาได้อภิปราย เรื่องของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติในฉบับนี้ส่วนตัวมองว่าการแทรกแซงค่อนข้างยากในปัจจุบัน" นายอัครเดช กล่าว
นายอัครเดช กล่าวด้วยว่า ที่พูดแบบนี้เพราะปัจจุบันตนก็เป็นนักการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเห็นว่าปัจจุบันนี้ตำรวจอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายการเมืองเพียงคนเดียว แม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็เข้าไปแทรกแซงตำรวจค่อนข้างยาก หรือกระทั่งแทรกแซงไม่ได้เลย ฉะนั้นการที่มีข้อกล่าวหาว่าการเมืองเข้าไปแทรกแซงตำรวจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ด้วยความลำบากในกฎหมายปัจจุบันนี้ ในขณะที่ยังไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นปัญหาในปัจจุบันนี้อยู่ตรงที่ ปัจจุบันการบริหารตำรวจเกิดการรวมศูนย์อยู่ที่ ผบ.ตร.เพียงคนเดียว ไม่ได้มีการกระจายอำนาจไปที่ผู้บัญชาการภาคต่างๆ อย่างแท้จริง
...
การรวมศูนย์นั้นเกิดจาก ม.44 สมัยที่ คสช.ได้มีการออก ม.44 ในการที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้าย ในเรื่องของการปรับปรุงตำรวจ สิ่งที่ตนจะแสดงความคิดเห็นจากนี้ไปก็คงจะเลยในส่วนที่ทาง ครม.ได้เสนอกฎหมายในการรับหลักการไปแล้ว ในเรื่องนี้ตนขอตั้งข้อสังเกต 3 เรื่อง
นายอัครเดช กล่าวด้วยว่า เรื่องแรก เราจะเห็นว่าเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายในอดีต เราจะเห็นผู้บัญชาการภาคนั้นมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ในปัจจุบันนี้รวมศูนย์อยู่ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เราเคยเห็นการศึกษา เราเคยบอกว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลนั้น การศึกษานั้นให้นักการเมืองท้องถิ่นดูแล แต่เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ปัจจุบันนี้การกระจายอำนาจการศึกษาให้ท้องถิ่นดูแลหลายโรงเรียนได้รับความนิยมมากกว่าโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการและหลายโรงเรียนบริหารได้ดีกว่าที่ สพฐ. ซึ่งสังกัดสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการบริหารจัดการอีก ดูได้จากจำนวนเด็กที่เข้าไปเรียน ส่วนตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะอำเภอบ้านโป่งโรงเรียนเทศบาล 1 2 3 ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะเทศบาลเมืองบ้านโป่งบริหารนั้นมีเด็กเข้ามาเรียนมาก การที่มีข้อกล่าวหาในสมัยก่อนว่าการกระจายอำนาจให้นักการเมืองท้องถิ่นนั้นหรือนักการเมืองเข้ามาดูการศึกษาเป็นการถอยหลังเข้าคลอง แต่ปัจจุบันนี้ระยะเวลาผ่านมาหลายปี กลับทำให้เห็นว่านักการเมืองท้องถิ่นนั้นสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้ดี ตนก็อยากจะเห็นว่าการกระจายอำนาจให้กับตำรวจ ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายว่า ต้องการเห็นนายก อบจ. เข้ามามีส่วนร่วมในการโยกย้ายบริหารตำรวจ
สิ่งเหล่านี้ตนอยากจะเห็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลโดยเฉพาะ อบจ. นั้นได้เข้ามาดูแลตำรวจในพื้นที่ และเราก็จะได้เห็น ผบ.ตร. ดูแลจากส่วนกลางลงไป เวลามีการแต่งตั้งโยกย้ายก็ย้ายกัน แล้วก็บริหารจัดการจังหวัดนั้นๆ ด้วยตัวเอง และหากมีคดีสำคัญก็มีตำรวจจากส่วนกลางเข้าไปร่วมดำเนินการสอบสวนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง คดีสำคัญ คดีร้ายแรง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะเห็น การบริหารจัดการดูแลกันเองในท้องถิ่น โดยมีการคณะกรรมการจังหวัด โดยมีผู้ว่าการจังหวัดมีนายก อบจ. แล้วก็ให้ อบจ.นั้นบริหารจัดการตำรวจแต่ละจังหวัดเอง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นข้อเสนอที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการกระจายอำนาจในการบริหารองค์กรตำรวจ
นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 ก็คือเรื่องการทำสำนวน ซึ่งในปัจจุบันนี้มีข้อร้องเรียนจากประชาชนว่าสำนวนที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการเมื่อไปถึงชั้นอัยการแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตนจึงอยากเสนอว่า ในชั้นของการแปรญัตติหากเป็นไปได้ ก็อยากให้อัยการนั้นสามารถเข้ามาทำสำนวน ในคดีที่มีผู้ร้องเรียนหรือเป็นลักษณะคดีพิเศษ โดยเปิดโอกาสให้อัยการสามารถเข้ามาร่วมพิจารณาและร่วมทำสำนวนได้ตั้งแต่ชั้นต้น ซึ่งก็จะสามารถทำให้เกิดเรื่องของการคานอำนาจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้
ส่วยประการที่ 3 ที่ตนได้อภิปรายไปในชั้นต้นว่ามีมาตรา 44 มาตั้งแต่ปี 2553 ส่วนตัวได้มีโอกาสเป็นคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร จึงอยากชี้แจงว่า มีการบริหารจัดการที่ค่อนข้างดี มีการบริหารแบบสายหลัก สายรอง สายหลักก็คือสายบริหาร สายรองก็คือสายชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการเติบโตในหน้าที่การงานที่มีความชำนาญการ แต่ในปัจจุบันนี้ สายหลักกลับไปอยู่สายรอง สายรองกลับมาอยู่สายหลัก ก็คือนำพนักงานสอบสวนมาจับปืน และนำตำรวจที่จับปืนมาทำเอกสาร ซึ่งที่ผ่านมาจากข่าวสารที่เผยแพร่ก็จะพบว่าตำรวจเกิดความเครียดเพราะถูกจับไปวางอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ชำนาญ ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นผลกระทบกับชีวิตข้าราชการตำรวจ และสิ่งที่สำคัญก็คือสาเหตุเหล่านี้ได้กระทบถึงประชาชนด้วย เพราะว่าตำรวจที่เป็นสายปราบปรามมาอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ส่งผลให้คดีต่างๆ ไม่มีความคืบหน้า ส่วนตัวจึงอยากเห็นการปฏิรูปตำรวจ ที่มีกฎหมายใหม่เข้ามา จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เกิดประโยชน์กับตำรวจ.