- วัคซีนโควิด-19 ลอตแรก พร้อมฉีดทันทีหลังผ่านตรวจสอบ
- ตอบให้หายสงสัย ทำไมไทยซื้อวัคซีนแพงกว่าชาวบ้านเขา
- สธ. ย้ำความพร้อมกระจายวัคซีน 63 ล้านโดส ทั่วถึงในปีนี้
นับถอยหลังอีกเพียง 6 วันเท่านั้น “วัคซีนโควิด-19” ลอตแรกของซิโนแวค (Sinovac) จำนวน 2 แสนโดส จะถูกขนส่งโดยเครื่องบินของการบินไทย ที่ได้รับภารกิจระดับชาติจากกระทรวงสาธารณสุขในการนำวัคซีนซิโนแวคกลับมายังประเทศไทย ด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้า (Cargo) TG 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ทำการบินด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ออกเดินทางจากจีนในเวลา 06.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) วันที่ 24 ก.พ. 2564 และมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 11.05 น. วันเดียวกัน และเมื่อได้มาแล้วก็จะรีบส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตามขั้นตอนทันที
หลายคนตั้งตารอการมาของวัคซีนโควิด-19 ในครั้งนี้ เพราะเป็นครั้งสำคัญที่คนไทย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ จะได้รับวัคซีนเป็นครั้งแรกของประเทศ และใครกันที่จะได้ฉีดวัคซีนนี้เป็นคนแรก ทางด้าน เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล ที่เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี ควบเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ก็ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ในช่วงนี้แทบทุกวัน รวมถึงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 2 ด้วยว่า วัคซีนซิโนแวคไม่ได้อยู่ในแผนของไทยตั้งแต่แรก ที่จัดซื้อจัดหามาเพิ่มก่อนที่เราจะผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาออกมาได้นั้น เนื่องจากการระบาดในระลอกใหม่ รวมถึงรัฐบาล สถาบันวัคซีนแห่งชาติ บุคลากรทางการแพทย์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่มาตลอด ไม่เพียงเท่านั้น ไทยยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาอีกด้วย เป็นเรื่องที่แสนจะน่าภูมิใจ
...
อีกทั้งประเทศเราเองก็ไม่หยุดวิจัยและพัฒนาวัคซีน มีการเปิดเผยไปเมื่อ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรมก็ได้ร่วมวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบัน PATH ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ที่พัฒนามาตั้งแต่กลางปี 2563 ทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง ผลปรากฏว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดีและปลอดภัย ขั้นตอนต่อจากนั้นคือการศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
ตั้งเป้าเกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
วานนี้ (17 ก.พ. 2564) ทีมแพทย์ก็ตั้งโต๊ะแถลงที่รัฐสภา คู่ขนานการอภิปรายไม่ไว้วางใจในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงความคืบหน้าล่าสุดการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 และตอบข้อสงสัยต่างๆ ที่ยังคงเป็นประเด็นในขณะนี้ เริ่มด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี แม้เฟส 2 จะควบคุมได้ล่าช้า แต่ก็สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น และขณะนี้ก็เป็นไปด้วยดี ซึ่งสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือเรื่องการใช้วัคซีนโควิด-19 ซึ่งในช่วงแรกต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อให้ได้คุณภาพและความปลอดภัย เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขคือต้องการใช้วัคซีนเพื่อป้องกัน ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับประเทศ โดยไทยได้เตรียมการเพื่อให้ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงมีการจองวัคซีนโควิด-19 แล้วถึง 63 ล้านโดส ซึ่งที่ผ่านมาเคยฉีดวัคซีนเพียงปีละ 10 ล้านโดส จึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อฉีดให้ครบทั้ง 63 ล้านโดสในปีนี้ เพราะหากไม่เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ เราก็เปิดประเทศไม่ได้ แต่เมื่อมีภูมิคุ้มกันระดับประเทศก็สามารถทำให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
“คนไทยที่อยากจะฉีดและอยู่ในเกณฑ์จะได้ฉีดทุกคน ประเทศไทยขณะนี้ควบคุมโรคได้ดีด้วยวิธีทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ไทยมีแพร่เชื้อต่ำมาก อัตราการตายต่ำกว่าหลายประเทศ แต่เราก็ต้องการวัคซีนซึ่งเป็นอีกเครื่องมือเข้ามาช่วยควบคุมโรค ซึ่งไทยวางแผนเป็นอย่างดี ไม่มีความล่าช้า จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศต่อไป และแม้จะฉีดวัคซีนหรือไม่ ก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ สแกนไทยชนะ เพื่อช่วยกันลดการแพร่เชื้อและกระจายเชื้อต่อไป”
ไทยได้รับเลือกเป็น Hub ผลิตวัคซีน
ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยืนยันเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามและการวางแผนดำเนินการตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 พร้อมๆ กันทั้ง 3 ช่องทาง คือ 1. การสนับสนุนการวิจัยในประเทศ 2. การแสวงหาความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาวัคซีนร่วมกันในรูปแบบของการทำความร่วมมือกับต่างประเทศ 3. ติดตามการวิจัยการพัฒนาการผลิตอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าจะจัดหาวัคซีนโดยตรงได้จากหน่วยงานหรือบริษัทใด ทั้งนี้ เมื่อเริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในคนตั้งแต่ เม.ย. - พ.ค. 2563 เป็นต้นมา ก็เริ่มติดตามข้อมูลเพื่อที่จะรู้เท่าทันว่าวัคซีนชนิดใดมีความก้าวหน้าขนาดไหน จนพบว่าวัคซีนรูปแบบของ mRNA และชนิด Viral vector มีความก้าวหน้าทัดเทียมกันในการวิจัยพัฒนา วิจัยในคนระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ในเวลาใกล้เคียงกัน จึงน่าจะประสบผลสำเร็จใกล้เคียงกันด้วย
ไทยเจรจาสอบถามข้อมูลกับผู้ผลิตประเทศต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง จีน อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เบลเยียม รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แต่สิ่งที่ตั้งเป้าคือเราต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย เพราะจะเป็นตัวตอบโจทย์สำคัญทั้งการระบาดในเวลานี้และเพื่อรับมือการระบาดในอนาคต ต่อมาช่วง ก.ค. 2563 เริ่มมีข้อมูลว่าบริษัท แอสตราเซเนกา หาพันธมิตรร่วมผลิตวัคซีนโควิด-19 แบบไวรัลเวกเตอร์ โดยใช้เทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดร่วมกับแอสตราเซเนกา มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็น Hub การผลิตวัคซีนกว่า 60 แห่ง โดยแอสตราเซเนกา ประเมินและคัดเลือก 25 บริษัทเป็นผู้ร่วมผลิต หนึ่งในนั้นคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เนื่องจากประเมินศักยภาพแล้วมีมาตรฐานเหมาะสมที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องสนับสนุนพัฒนาศักยภาพเพิ่มอีกเล็กน้อย ให้พร้อมรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เร็วที่สุดเพื่อผลิตวัคซีน ในเวลาเดียวกันนั้นก็มีการเจรจาจองซื้อวัคซีนไปด้วย
“ดังนั้น จึงเป็นการจองวัคซีนแบบไม่ธรรมดา ถ้าเราจองซื้อวัคซีนกับบริษัทอื่น มันคือการซื้ออย่างเดียว แต่การจองซื้อกับแอสตราเซเนกา คือการที่ประเทศไทยได้ศักยภาพการผลิตวัคซีนระดับโลกมาไว้ในประเทศด้วย จะอยู่กับเอกชนหรือรัฐไม่สำคัญ แต่สำคัญคืออยู่ในประเทศไทย ที่สำคัญเราจะได้พัฒนาศักยภาพของเราโดยใช้เทคโนโลยีระดับโลก ซึ่งแอสตราเซเนกามีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในศักยภาพของสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เขาได้คัดเลือกตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563
นี่คือหลักฐานยืนยันว่าเขาได้ประเมินศักยภาพอย่างเข้มข้น ในเรื่องของมาตรฐาน ความสามารถต่างๆ แล้วก็พบว่า สยามไบโอไซเอนซ์ มีความสามารถอย่างมากที่จะรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตได้ตั้งแต่ช่วง ต.ค. นี่คือหลักฐานสำคัญว่าแอสตราเซเนกาเป็นผู้ประเมิน และถ้าจะให้ดีควรจองวัคซีนกับเขาเพราะเป็นการผลิตในประเทศไทย เขามั่นใจมากแม้เรายังไม่ได้อนุมัติงบวัคซีนด้วยซ้ำไป จึงไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขว่าต้องจองก่อนถึงจะถ่ายทอดเทคโนโลยี และประเทศไทยต้องจองเท่านั้นเท่านี้ แต่อยู่บนเงื่อนไขที่เราจะร่วมกันเป็นหน่วยงานในการผลิตวัคซีนให้กับภูมิภาคอาเซียน จนเราบรรลุเจรจาข้อตกลงสำเร็จ”
ไม่จำเป็นต้องมีวัคซีนโควิด-19 หลายชนิด
ส่วนการจองซื้อวัคซีนกับแอสตราเซเนกาและโครงการโคแวกซ์มีความแตกต่างกัน เนื่องจากค่าจองของแอสตราเซเนกาเป็นส่วนหนึ่งของราคาวัคซีน แต่การจองกับโคแวกซ์เงินที่เรียกว่า UPFRONT PAYMENT เป็นค่าบริหารจัดการ ไม่ใช่ค่าวัคซีน และค่าวัคซีนจะถูกกำหนดก็ต่อเมื่อทราบว่าเป็นวัคซีนของบริษัทใด และต้องจ่ายตามราคาจริงที่ผู้ผลิตกำหนด ซึ่งการอภิปรายในสภาฯ หากข้อมูลไม่ครบถ้วนก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และยังจองเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส ก็ได้รับคอนเฟิร์มว่าจะจัดส่งอยู่ในลอตที่ไม่ได้ห่างออกไป หรืออยู่ในกระบวนการวางแผนการกระจายวัคซีน
สำหรับข่าวทางโซเชียลมีเดียที่บริษัทอินเดียเสนอขายวัคซีนแอสตราเซเนกาแต่เราไม่ซื้อนั้น “เป็นข่าวเท็จ” ผู้โพสต์และผู้แชร์ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูล ฟังต่อๆ กันจึงกลายเป็นเราปฏิเสธ ยืนยันว่าไม่มีการเสนอขายวัคซีนแอสตราเซเนกาจากอินเดียให้ไทย เพราะความเป็นจริงคือการทำความร่วมมือวิจัยวัคซีนกับอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอสตราเซเนกา แต่ก็มีการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันไปแล้ว โดยเมื่อมีโอกาสก็จะทำงานวิจัยร่วมกัน ส่วนประเด็นโคแวกซ์ ประเทศไทยยังเดินหน้าเจรจาเข้าร่วม ให้ได้เงื่อนไขที่เหมาะสมกับไทย ซึ่งส่วนมากเป็นวัคซีนจากแอสตราเซเนกา ส่วนน้อยจากไฟเซอร์ (Pfizer) และไฟเซอร์เองก็เพิ่งเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์เมื่อเดือน ม.ค. 2564 จึงมองว่าไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมโคแวกซ์แล้วได้วัคซีนแอสตราเซเนกาซ้ำกับที่เราได้จากการผลิตในไทยอยู่แล้ว และย้ำว่าไทยมีความสามารถทัดเทียมกับการผลิตวัคซีนของบริษัทอื่นๆ ทั่วโลก
“ขอให้มั่นใจ ศักยภาพคนไทยไม่แพ้ใครในโลก และวัคซีนที่ผลิตได้ก็เป็นวัคซีนที่ได้คุณภาพ เราไม่จำเป็นต้องมีวัคซีนหลากหลายชนิด ขอให้มีวัคซีนที่จำนวนมากพอ ครอบคลุมประชากร จัดบริการฉีดวัคซีนให้มีคุณภาพ”
ตอบให้หายสงสัย ไทยซื้อวัคซีนราคาแพง?
ประเด็นการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในผู้สูงอายุ ยึดตามความเห็นขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าวัคซีนนี้ใช้กับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้ ประชาชนจะได้ไม่เกิดความวิตกกังวล ถ้าหยิบข้อมูลมาแค่บางส่วนก็จะเหมือนกับการทำงานตาบอดคลำช้าง จะได้รู้แค่บางส่วน เพราะฉะนั้นต้องเก็บข้อมูลให้รอบคอบ
ส่วนเรื่องราคาวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่ระบุว่า ประเทศไทยซื้อแพงกว่าในราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโดสนั้น ความจริงคือราคาอ้างอิงในเว็บไซต์ยูนิเซฟ ข้อมูลราคาจากบางแหล่ง เป็นราคาที่ไม่รวมเงินสนับสนุนวิจัย ที่อียูได้มีการสนับสนุนไปก่อนหน้า และทางแอสตราเซเนกา ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นราคาบางส่วน ดังนั้น ราคาที่กำหนดขายให้กับอียูจึงเป็นราคาส่วนที่เหลือนอกเหนือจากเงินสนับสนุนการวิจัย ทำนองเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่ราคา 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโดส เป็นการสนับสนุนการวิจัยล้วนๆ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (36,000 ล้านบาท) ที่สหรัฐฯ สนับสนุนให้แอสตราเซเนกาตั้งแต่ พ.ค. 2563 ภายใต้เงื่อนไขถ้าวัคซีนสำเร็จก็ส่งคืนมาเป็นวัคซีนจำนวน 300 ล้านโดส ทำให้เข้าใจกันว่าซื้อวัคซีนที่ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโดส เป็นการสนับสนุนการวิจัยแบบ 100% เป็นการลงทุนเพื่อความเสี่ยง ณ เวลานั้นไม่มีประเทศใดลงทุนมากขนาดนั้น นอกจากนี้ ในแต่ละแหล่งผลิต ราคาต้นทุนวัตถุดิบมีความแตกต่างกันตามช่วงเวลา หากเป็นวัตถุดิบตั้งแต่ปีที่แล้วราคาถูกกว่า แต่ช่วงปลายปี 2563 มีความต้องการผลิตวัคซีนสูงมาก ทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ราคาวัคซีนแอสตราเซเนกาจึงมีความต่างกันไปตามแต่ละแหล่งผลิต แต่ละเงื่อนไขข้อตกลงในการจองหรือจัดซื้อวัคซีน ซึ่งทั้งหมดอยู่บนหลักการไม่มีกำไรไม่มีขาดทุน
“เราจัดซื้อแบบโปร่งใส มีคณะกรรมการตรวจสอบ ร่วมกันพิจารณาเงื่อนไข เอกสารสัญญาต่างๆ ส่งให้หลายหน่วยงานที่กำกับกฎหมายของประเทศช่วยดู ตรวจสอบยืนยันกันหลายภาคส่วน ไม่ได้ปกปิด ไม่ได้ทำราคาที่ต่างไปจากที่เขากำหนดมา”
ย้ำความพร้อมกระจายวัคซีน 63 ล้านโดสในปีนี้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนว่า รัฐบาลมีนโยบายให้คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค โดยมอบให้กรมควบคุมโรค วางแผนการฉีดวัคซีนตั้งแต่ปี 2563 เป้าหมายสำคัญ คือ
- 1. ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนของแอสตราเซเนกาและซิโนแวค ได้ผ่านการพิสูจน์เรียบร้อยแล้ว
- 2. เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการทำงาน จึงต้องฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย
- 3. เพื่อให้คนไทยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย
ที่สำคัญต้องฉีดให้ครอบคลุมคนไทยมากที่สุด เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศและจะไม่เกิดการระบาดของโรคต่อไป โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 3 ระยะ คือ ระยะแรก ที่มีวัคซีนปริมาณจำกัด เมื่อผ่านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ อย. จะฉีดให้คนไทยกลุ่มเสี่ยงทันที โดยในระยะนี้จะฉีดในช่วง ก.พ. - พ.ค. 2564 ถ้ามาเร็วก็ฉีดเร็ว, ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น และระยะที่ 3 เมื่อมีวัคซีนอย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่ มิ.ย. เป็นต้นไป และจะเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด โดยแผนจะมีการจัดปรับและยืดหยุ่นได้ตลอด แต่โดยหลักการจะไม่เปลี่ยนไปจากนี้ และอาจจะทำให้เร็วขึ้นได้
หากได้วัคซีนเข้ามาตามแผนที่วางไว้ ได้กำหนดการฉีด 10 ล้านโดสต่อเดือน จะเริ่มฉีดตั้งแต่ มิ.ย. เป็นต้นไป ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ทำให้กระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศครบถ้วนภายในปี 2564 โดยมีคณะกรรมการฯ ดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดเก็บ กระจาย จัดฉีด และการติดตามผลข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนจะเฝ้าดูอาการ 30 นาที เพราะอาการแพ้รุนแรงจะเกิดใน 20 นาที แต่เมื่อกลับบ้านแล้วก็ยังติดตามอาการต่ออีก 1 เดือน มีการซักซ้อมการดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว มีทั้งระบบการจดบันทึกและแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน
ส่วนกรณีพบการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจะมีการเยียวยาตามมาตรา 41 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทุกขั้นตอนเป็นไปตามหลักวิชาการทางการแพทย์สาธารณสุขและหลักสากล พร้อมปกป้องดูแลคนไทย ขณะเรื่องการจัดการในส่วนของภูมิภาค หลังจากที่มีเป้าหมายการฉีด มีสถานพยาบาลแล้ว ก็จะส่งกลุ่มเป้าหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาอีกครั้งในการกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการฉีดวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขพร้อมดำเนินการ
เรียกว่าอีกอึดใจเดียว วัคซีน 2 แสนโดสแรก จะแลนดิ้งสู่แผ่นดินไทยโดยสายการบินแห่งชาติ และเริ่มทยอยฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงตามแผนทันทีที่ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อย ท่ามกลางความสนใจของคนทั้งประเทศ และอาจนับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญไทยที่จะมีการเร่งฉีดวัคซีนทั้ง 63 ล้านโดส ให้ครึ่งหนึ่งของประชากรในเวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น ถือเป็นความท้าทายระบบสาธารณสุข แต่ก็เชื่อว่าไม่เกินความสามารถและศักยภาพของบุคลากรไทย ส่วนใครจะเป็นคนที่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเข็มแรกและคนแรก ไม่นานเกินรอคงได้รู้ และหลังจากมีวัคซีนมากพอใครจะฉีดหรือไม่ก็แล้วแต่ความสมัครใจ เรื่องที่สำคัญต้องย้ำ แม้จะได้รับวัคซีนก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง จนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยจากไวรัสนี้แล้วจริงๆ
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Theerapong Chaiyatep