“อมรัตน์” อภิปรายไม่ไว้วางใจ “พล.อ.ประยุทธ์” กรณีพักบ้านหลวง ไม่นำค่าน้ำค่าไฟมาคำนวณเสียภาษี นายกฯ มอบหมาย “วิษณุ” ยกข้อกฎหมายแจง

เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. วันที่ 16 ก.พ. 2564 น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องบ้านพักหลวงในค่ายทหาร การไม่แสดงบัญชีทรัพย์สิน การรับประโยชน์ค่าไฟฟ้าเกิน 3,000 บาททุกเดือน รวมถึงการเสียภาษีของนายกรัฐมนตรีด้วย โดยยกรัฐธรรมนูญ และประมวลรัษฎากร มายังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้นำผลประโยชน์อื่นใด หรือก็คือผลประโยชน์ที่คำนวณเป็นเงินจากการได้ผลประโยชน์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดูแลรักษาบ้านทั้งหมด ไม่ได้นำไปคำนวณเพื่อยื่นภาษี ภ.ง.ด.90 มาตั้งแต่ปี 2558-2563

จากนั้น น.ส.อมรัตน์ สรุปว่า ค่าไฟและค่าน้ำที่กองทัพบกจ่ายให้ทุกเดือน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนำไปเสียภาษี หากไม่เสียเท่ากับหนีภาษี ซึ่งในระหว่างการอภิปรายมีหลายคำพูดที่เป็นการเสียดสี ซึ่ง นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.เขตคลองเตย และวัฒนา กทม. และ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงและขอให้ถอนคำพูดเสียดสีหลายครั้ง

...

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลุกกล่าวสั้นๆ ว่า หลายเรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาขององค์กรต่างๆ ทุกอย่างชัดเจนอยู่แล้วในมติที่ออกมา พร้อมขอบคุณที่สังเกตว่าตนตัวผอมลง สูงขึ้น อะไรทำนองนั้น แสดงว่าก็ห่วงใยสุขภาพของตนอยู่เหมือนกัน ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะจากที่ประชุมสภาฯ ได้อีกครั้ง ก่อนจะกล่าวต่อไปว่า “ผมก็ห่วงท่านอยู่เหมือนกัน เพราะว่าท่านก็ไปหลบอยู่หลังม็อบทุกวันๆ เหมือนกัน” ส่วนเรื่องรายละเอียดจะให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจง

ส่วนกรณีข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้อยู่บ้านหลวง ได้รับรถหลวง เติมน้ำมันหลวง น้ำหลวง ไฟหลวง ต้องนำมาเสียภาษีในฐานะที่เป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ นายวิษณุ ชี้แจงว่า ถ้านายกฯ จะต้องเสีย ก็ต้องเสียเหมือนกันทั้งประเทศ ถ้าหากทั้งประเทศไม่เสีย นายกฯ ก็จะไม่เสีย เรื่องนี้คำตอบมีอยู่ในประมวลรัษฎากร ข้อความมาตรา 42 ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ดูเลยไปถึงอนุมาตรา 6 ซึ่งระบุไว้ชัดว่า เงินได้พึงประเมินต่อไปนี้ไม่นำมาคำนวณสำหรับเสียภาษีเงินได้ คือ “เงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เป็นเงินค่าเช่าบ้าน หรือเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ทางราชการให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เบี้ยกันดาร เงินยังชีพ หรือเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา” ไม่ต้องนำมาคำนวณในฐานะที่เป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อให้ข้าราชการทั้งประเทศที่อยู่บ้านหลวง แฟลตหลวง อพาร์ตเมนต์หลวง หรือใช้รถหลวง มีความเข้าใจตรงกัน

อย่างไรก็ตาม นางอมรัตน์ ยังได้ระบุว่าที่ นายวิษณุ กล่าวนั้นไม่ได้รวมถึงค่าน้ำและค่าไฟ ทางด้าน นายวิษณุ ระบุต่อไปว่า “ค่าน้ำค่าไฟเป็นส่วนหนึ่งของเงิน หรือค่าที่คำนวณได้จากการได้อยู่บ้านหลวง ถึงเวลาบ้านชำรุดทรุดโทรม หลวงก็ซ่อมให้ เป็นส่วนหนึ่งที่กรมสรรพากรถือคำนวณว่าเป็นส่วนของบ้านที่ได้อยู่ทั้งสิ้น ในฐานะที่จะเป็นส่วนดอกผล หรือผลประกอบ”