"อัครเดช" เตือน "แบงก์กรุงไทย" อย่าภูมิใจกับรางวัลผู้บริหารดีเด่น เพราะเป็นความภูมิใจบนคราบน้ำตาของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากการยุบสาขา

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.64 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในวาระรับทราบรายงานประจำปี 2562 ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) โดยระบุว่า เรื่องของผลประกอบการของ EXIM Bank ที่มารายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ตนในฐานะ กมธ.ติดตามตรวจสอบการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร นั้น เห็นว่าวิสาหกิจของไทยหลายองค์กรสามารถบริหารจัดการได้ดีเยี่ยม และมีหลายองค์กรที่นอกจากแย่แล้วก็ยังบริหารงานขาดทุน ซึ่งเงินเหล่านั้นล้วนเป็นภาระภาษีของพี่น้องประชาชน และเป็นเงินที่ใช้ในการพัฒนาประเทศได้อีกหลายหน่วยงาน

จากการรายงานระบุว่า EXIM Bank ทำกำไรลดลงในปี 2561 จาก 1,365 ล้าน ตกลงมาเหลือ 507 ล้าน แต่ยังได้รับรางวัลองค์กรทางการเงินดีเยี่ยมนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัย เพราะผู้บริหารล้วนจบด้านการเงิน การธนาคาร จบเศรษฐศาสตร์ ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศมา แต่เมื่อดูอัตราส่วนทางการเงิน ทั้งที่เป็นอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุนเฉลี่ย (ROE) ก็ลดลงทั้ง 2 ตัว

นายอัครเดช กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นนักธุรกิจ นักบริหารก่อนมาทำงานการเมือง ก็เห็นว่า ภาคธุรกิจ SME เข้าถึงเงินทุนจาก EXIM Bank ได้ยากมาก พร้อมกับตั้งคำถามว่า ดอกเบี้ย Prime Rate ของ EXIM Bank นั้นมีอัตราดอกเบี้ยอย่างไรแน่

"ผมไม่รู้ว่าท่านไปปล่อยกู้ที่จังหวัดไหนที่เป็น SME เยอะ แต่ผมอยู่ที่ราชบุรี SME ของจังหวัดราชบุรี ที่จะทำธุรกิจนำเข้าส่งออกเข้าถึงบริการของ EXIM Bank ยากมาก ถ้าโทรไปถามก็จะได้รับคำตอบว่าดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ก็ไม่ค่อยตรงกับที่ท่านรายงานมาว่ามีการลดดอกเบี้ย Prime Rate แล้ว และยังลดลงไปอีก 2.25 ตรงนี้ เมื่อตรวจสอบกับผู้ประกอบการเมื่อสักครู่ ก็ยืนยันว่าไม่เคยได้ แต่ในรายงานก็มาระบุว่า ต้องมีใบหนังสือค้ำประกันจาก บสย. ต้องใช้บุคคลค้ำประกันบ้าง จึงไม่รู้ว่าเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมานี้ เป็นกำแพงสำหรับผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงได้ยากหรือไม่ แล้วดอกเบี้ยที่ท่านกำหนดไว้มีจริงหรือไม่ เพราะเมื่อผู้ประกอบการเข้าถามกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ก็ได้เรต MLR-2 บ้าง-1.5 บ้าง แต่เวลาไป EXIM Bank เจอ MLR มิหนำซ้ำ เจอ MRR+" นายอัครเดชกล่าว

...

ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจของ EXIM Bank นั้น นายอัครเดช เห็นว่า การที่ ธ.กรุงไทย ออกมาประกาศว่าไม่ได้เป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจ ตามที่กฤษฎีกาได้มีความเห็นตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณนั้น เรื่องนี้คณะรัฐมนตรีมีมติว่ายังคงให้สิทธิประโยชน์กับธนาคารกรุงไทยเหมือนกับเป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง อีกทั้งผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยก็เข้ารับรางวัลนักการเงินดีเด่น จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าการที่ธนาคารกรุงไทยได้รับสิทธิประโยชน์กับทางรัฐบาล แต่กลับระบุว่าตัวเองไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งวันนี้เดินหน้ายุบสาขาทั่วประเทศ จนสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่ต้องไปยืนต่อคิวกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงในการติดต่อทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารกรุงไทย และเสี่ยงต่อการติดต่อโควิด-19 พี่น้องประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก เพราะได้สิทธิประโยชน์จากรัฐบาลในการผ่านเงินงบประมาณจากกรมบัญชีกลาง จากมติ ครม.ที่ยังคงให้สิทธิประโยชน์จากทางราชการเหนือกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ทำให้พี่น้องประชาชนที่ใช้บริการธนาคารกรุงไทยต้องไปแออัดในสาขา จนล้นออกมารอข้างนอกหน้าสาขากันเป็นจำนวนมากนั้น เมื่อนำมาเทียบเคียงกับกรณีของ EXIM Bank ซึ่งได้รับรางวัลองค์กรทางการเงินยอดเยี่ยม แต่ผลประกอบการกำไรหายไปกว่าครึ่ง ก็จะทำให้ยอดเงินที่ต้องนำส่งรัฐก็ต้องลดลงไปด้วย ดังนั้นทั้ง 2 ธนาคารนี้จึงไม่มีความแตกต่างกันที่บริหารงานแบบทำความเดือดร้อนส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนด้วย

นายอัครเดช จึงขอให้ นายกฯ และ รมว.คลัง ให้เข้ามาช่วยดูแลทั้ง EXIM Bank และธนาคารกรุงไทยด้วย ที่แม้ตอนนี้จะมีความภูมิใจในรางวัลดังกล่าว แต่นั่นคือความภาคภูมิใจบนคราบน้ำตาของประชาชน.