“พล.อ.ประวิตร” กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งฟื้นฟูคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบจากผลกระทบโควิด-19 ให้ได้รับเยียวยา ส่งเสริมอาชีพและมีงานทำ สร้างหลักประกันทางสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ก.พ. 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ รวมถึง นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

การประชุม คนช. ในวันนี้เพื่อให้คณะกรรมการทุกคนรับทราบสถานการณ์ปัจจุบันของแรงงานนอกระบบ ผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560 - 2564 ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ... ความคืบหน้าการดำเนินงานฟื้นฟูคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2563 - 2565 (ร่าง) แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2563 - 2565 และปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อประสานและขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบอีกด้วย

...

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร กำชับให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งฟื้นฟูคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบจากผลกระทบโควิด-19 ให้ได้รับการเยียวยา ส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ พัฒนาทักษะฝีมือ เสริมสร้างหลักประกันทางสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเสมอภาคทางสังคม เพราะแรงงานนอกระบบ จำนวนกว่า 20.4 ล้านคน ถือเป็นกำลังแรงงานประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นผู้มีงานทำ ส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ต้องทำงานหนัก รวมทั้งต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานที่ต่ำ การมีงานทำที่ไม่ต่อเนื่อง ขาดหลักประกันทางสังคม ไม่มีความปลอดภัยอาชีวอนามัยในการทำงาน

“สิ่งที่ท้าทายรัฐบาลอยู่ในวันนี้ คือ การหาวิธีแก้ไขปัญหา และการบริหารจัดการกับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมาก ให้มีอาชีพ มีงานทำ มีทักษะฝีมือ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนให้มีหลักประกันทางสังคมและความมั่นคงในชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม” อย่างไรก็ตาม ยังได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯที่เห็นชอบร่วมกันต่อไป.