• ตอบชัดๆ พรรคก้าวไกล หวังยกเลิก ม.112 จริงหรือ
  • ใช้สิทธิ์ ส.ส. ช่วยประกันตัวคนโดนคดีมาตรา 112
  • ถูกวิจารณ์หนัก เตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจโยงสถาบัน

    นับถอยหลังก่อนถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล “บิ๊กตู่” ที่อยู่ในวาระมาแล้วเกือบ 2 ปี นับจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อ 24 มี.ค. 2562 และการอภิปรายครั้งนี้ของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวโยงเกี่ยวเนื่องกับสถาบัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่พรรคซึ่งถูกจับตาในเรื่องนี้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น “พรรคก้าวไกล” ที่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ม.112 มาโดยตลอด ในเรื่องนี้ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้คำตอบไว้แล้ว
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

...

พรรคก้าวไกล หวังยกเลิก(?) ม.112

เรามีการติดตามสถานการณ์การใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่เป็นระยะจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการใช้ ม.112 ในการฟ้องกันไปมาแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม นี่คือสิ่งที่เราติดตามอยู่ จากนั้นเราศึกษาต่อไปว่าจำนวนโทษที่เกิดขึ้นเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับกฎหมายที่ปกป้องประมุขของรัฐในประเทศต่างๆ ในบริบทของโลกหรือไม่ ก็พบว่า โทษของ ม.112 ในประเทศไทยค่อนข้างเป็นโทษที่หนัก ถ้าเทียบกับบริบทของโลกในประเทศอื่นๆ จึงต้องมาหาข้อสรุปว่า เราจะทบทวน ปรับแก้ ปรับปรุง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เป็นกฎหมายที่ปกป้องประมุขแห่งรัฐ ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร

“ดังนั้น สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเราจะยกเลิกให้ไม่มีเลย ผมขอยืนยันตรงนี้ว่า เราไม่ได้ยกเลิก แต่มติเบื้องต้นของพรรคก้าวไกล คือ เรามีมติให้แก้ไข ทบทวน ให้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สอดคล้องกับบริบทของโลก และสามารถปกป้องประมุขแห่งรัฐซึ่งก็คือพระมหากษัตริย์ ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่”

บริบทของ ม.112 ไม่ใช่มีหน้าที่แค่ปกป้องประมุขแห่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเทิดพระเกียรติให้สถาบันด้วย ตรงนี้สำคัญ ซึ่งการทบทวนและปรับแก้เป็นเรื่องที่ต้องหารือว่าจะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่าไม่ยกเลิก เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายปกป้องประมุขแห่งรัฐ และการปรับแก้ การทบทวน ผ่านอำนาจนิติบัญญัตินั้นทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย

ใช้สิทธิ์ ส.ส. ช่วยประกันคนโดนคดี

ถึงกรณีประชาชนหลายคนที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี ม.112 และมีการพาดพิงว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล ไปประกันตัว ต้องย้ำตรงนี้ว่าเขาเป็นเพียงผู้ต้องหาเท่านั้น ยังไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แต่หลายคนบอกว่าการไปประกันตัวเท่ากับช่วยผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะเป็นการถูกกล่าวหา ยังมีสิทธิ์ที่จะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม และการที่ ส.ส.ไปประกันตัวเพื่อไม่ให้ถูกกักขัง ให้ยังมีอิสรภาพ เสรีภาพในการต่อสู้คดีอย่างถูกต้องชอบธรรม ทำได้ แต่การที่คนกลุ่มหนึ่งบ่งชี้ว่าเขาคือผู้กระทำความผิดแล้วนั้น เป็นอุปทานแห่งความเกลียดชังที่สร้างขึ้น ซึ่งอันตรายมาก เป็นอุปทานไปไกล และไปเกินกว่าคำวินิจฉัยของศาลไปเสียแล้ว

“นี่คือสิ่งที่สังคมต้องตระหนักร่วมกันแล้วว่ามันใช่วิธีคิดที่ถูกต้องหรือเปล่า ดังนั้นย้ำว่าเราไม่ยกเลิก ม.112 แต่เราจะแก้ไขทบทวน”

ยืนยันอภิปรายโยงสถาบัน(?)

วิโรจน์ ตอบเรื่องนี้ว่า ไม่ได้โยงเพื่อก้าวล่วงสถาบัน แต่เป็นการอภิปรายเพื่อปกป้องสถาบัน พร้อมตั้งคำถามว่า พฤติกรรมในลักษณะที่เป็นการหาประโยชน์ หรือเป็นเกราะป้องกันทางการเมืองเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกตรวจสอบ เรารับได้หรือไม่ถ้ารัฐบาลหรือรัฐมนตรีคนใดมีพฤติกรรมเช่นนี้ ดังนั้นการอภิปรายในลักษณะนี้กระทำได้

ส่วนใครจะเป็นผู้อภิปรายนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใด ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ ซึ่งจะมีคณะกรรมการที่จะพิจารณาอยู่ โดยจะต้องหาขอสรุปภายในสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์หน้าเป็นอย่างช้า แต่เนื้อหาทั้งหมดถูกเตรียมไว้แล้ว หลักฐานทั้งหมดถูกเตรียมเป็นแผนผังเชื่อมโยงไปถึงความรับผิดชอบที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของรัฐมนตรีที่กำลังจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

วิรัช รัตนเศรษฐ
วิรัช รัตนเศรษฐ

พลังประชารัฐ ลั่นไม่ยอมให้พาดพิง

ขณะที่ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ พรรคพลังประชารัฐ มีการประชุมพรรคเมื่อวานนี้ (2 ก.พ. 2564) ถึงแนวทางการอภิปรายในครั้งนี้ว่า จะไม่ยอมให้มีการพูดพาดพิงหรือโยงถึงสถาบัน พร้อมย้ำจุดยืนทั้ง 3 ข้อของพรรค คือ 1. ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, 2. มุ่งมั่นที่จะให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 3. สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการทางสภา ที่ต้องไม่กระทบหมวด 1 และหมวด 2

ซึ่ง วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก็บอกด้วยว่า ครม. ตอบรับมีความพร้อมตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2564 และวันนี้จะมีการหารือเรื่องกรอบเวลาอภิปราย เบื้องต้นกำหนดไว้ 16-19 ก.พ. และลงมติในวันที่ 20 ก.พ. พร้อมแสดงความมั่นใจว่าการลงมติให้รัฐมนตรีทั้ง 10 คนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะไม่มีปัญหาแน่นอน

ในท้ายที่สุด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะไปสู่การปรับแก้อย่างที่พรรคก้าวไกลคาดหวังหรือไม่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ ของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะดุเดือดขนาดไหน และ 10 รัฐมนตรี อย่างพี่น้อง 3 ป. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

รวมไปถึงรัฐมนตรีที่อยู่ในลิสต์ มีทั้งชื่อของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะชี้แจงหรือตอบโต้การอภิปรายของฝ่ายค้านอย่างไร 16-20 ก.พ.นี้ จับตารับชมกันได้เลย...


ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Varanya Phae-araya