- กลับมาเปิดเรียนแล้ว กำชับ “อยู่บ้านปลอดภัย มาโรงเรียนต้องยิ่งปลอดภัยกว่า” เข้มงวดมาตรการเป็น 2 เท่า ไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดในโรงเรียน ยอมรับ หากพบก็กลับสู่ "วังวนเก่า" คือ "ปิด"
- นักเรียน วันนี้ถ้า"สอนออนไลน์" ต้องถามว่า นักเรียนเขามีอุปกรณ์พื้นฐานเหล่านี้ หรือยัง ถ้าเขามี ค่อยสอนออนไลน์ ถ้าเขาไม่มี ก็เรียนตาม บริบท-สถานะ เพราะ สพฐ.มีการกำหนดไว้ถึง 5 รูปแบบ บนพื้นฐาน พ่อ-แม่ ต้องไม่เดือดร้อน เพราะเขาลำบากกันมามากแล้ว
- "วิกฤติเป็นโอกาส" วันนี้การเรียน-การศึกษา ไม่ได้ตอบโจทย์แต่เรียนตามตำรา โควิด-19 คราวนี้ คนที่จะเป็นครูได้ดีที่สุด คือ พ่อ-แม่ เพราะจะได้สอน ได้ฝึกในเรื่อง ทักษะชีวิต-การดูแลตัวเอง ฝึกอาชีพ ซึ่งไม่มีสอนในโรงเรียน
แล้วก็ได้ฤกษ์กลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง 1 ก.พ. 2564 เมื่อโรงเรียนที่ถูกสั่งปิดไปทั่วประเทศ หลังการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ตั้งแต่ช่วงประมาณกลางเดือน ธ.ค.2563 โดยมีจุดเริ่มต้นเริ่มจากตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ก่อนหยุดไม่อยู่เชื้อแพร่กระจายออกไปทั่วประเทศ จนต้องมีการสั่งปิดสถานศึกษาทุกแห่ง จนถึง 31 ม.ค.2564
...
มาถึงวันนี้ (1 ก.พ.2564) ที่ ศบค.ได้กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ เปิดการเรียนการสอนได้ทั่วประเทศ ความพร้อมในสถานศึกษาเพื่อรับมือโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดอยู่ จะเป็นเช่นไร มีการกำหนดมาตรการอะไรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับครู-นักเรียน-และผู้ปกครอง ที่จะต้องดำเนินการร่วมกันหรือไม่ หรือยังมีอะไรที่น่าเป็นห่วงอยู่อีก
ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้ไปสอบถาม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อไขข้อข้องใจ โดยเฉพาะคำถามหากควบคุมไม่อยู่ โควิด-19 กลับมาระบาดอีกต้องถึงขึ้นปิดโรงเรียนอีกไหม เราลองไปดูกันเลย
เตรียมการอย่างไร ในการเปิดเรียน วันที่ 1 ก.พ.นี้
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ว่า ในตอนเปิดภาคเรียนตามหลักการ ถามว่า ทำไมต้องเปิดเรียนในวันนี้ โจทย์คือ วันนี้พ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีความยากลำบาก เพราะต้องดูแลลูก แล้วก็ไม่ได้ออกไปทำงาน แล้วความรับผิดชอบทั้งหมดเหมือนกับต้องมาเลี้ยงลูก งานก็ไม่ได้ทำ แล้วนักเรียน ก็ไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ พอ ศบค.เขาเปิดให้ เราก็ต้องการเปิดเรียน แต่การเปิดเรียนของเรา ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญ คือ ความปลอดภัยของนักเรียนก่อน ไม่ใช่อยากเปิดแล้วไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ก็ไม่ได้
กับอย่างที่สอง การจัดการเรียนการสอน จะจัดรูปแบบการเรียนอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็สู้เด็กมาเรียนกับครูที่ห้องเรียนไม่ได้ ซึ่งเราต้องหาจุดสมดุล 2 ข้อ นี้ให้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การจะเพื่อให้มันบรรลุ ทั้ง 2 อย่างนี้ เราก็ต้องมีการเตรียมโรงเรียนให้ปลอดภัย ฉะนั้นมาตรการทุกอย่างต้องเข้มข้นกว่าปกติเป็น 2 เท่า เริ่มตั้งแต่ เด็กมาโรงเรียนมาอย่างไร พ่อ-แม่มาส่งไหม หรือ ถ้านั่งรถเมล์มาต้องทำอย่างไร แล้ว ถ้าพ่อ-แม่ มาส่งมาถึงหน้าประตูโรงเรียนต้องทำอย่างไร คัดกรองอย่างไร ซึ่งตอนนี้มีการเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว
"ข้อดี ของการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้ครู กับนักเรียนและผู้ปกครองคุยกันอยู่ทุกวัน ฉะนั้นพอนักเรียนจะออกจากบ้าน เราก็จะบอกกับผู้ปกครอง อย่างแม่นักเรียนเวลาลูกจะออกจากบ้าน แม่ต้องเตรียมเจล เตรียมหน้ากากอนามัยให้ลูกนะ ต้องล้างมือนะ ขึ้นรถเมล์ต้องทำอย่างไร เราก็จะบอกนักเรียนได้" เลขาสพฐ. กล่าว
ถึงวันนี้ ยังมีอะไรน่าเป็นห่วงอีกหรือไม่?
นายอัมพร กล่าวว่า น่าเป็นห่วงกลัวว่า เกิดนักเรียนคนใดคนหนึ่งมีญาติพี่น้อง แล้วเกิดไปรับเชื้อโควิด-19 มาโรงเรียน สิ่งที่เรากลัว คือ กลัวตรงนี้ ดังนั้นโรงเรียนก็กำชับไปว่า ถ้าโรงเรียนเปิด ครอบครัวต่างหากที่ต้องช่วยกัน ดูแลรักษาสุขภาพ ครอบครัวใครครอบครัวมัน ซึ่งหากสุดท้ายเกิดไปติดมาจากไหนแล้วมาที่โรงเรียน ก็ต้องปิดใหม่อีกรอบ ความเดือดร้อนกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้นผมจึงบอกว่า “อยู่บ้านปลอดภัย มาโรงเรียนต้องยิ่งปลอดภัยกว่า”
ดังนั้นถ้านักเรียนคนไหน ผู้ปกครองคนใดไม่ช่วยกันเกิดติดเชื้อที่โรงเรียนขึ้นมา ก็กลับสู่ "วังวนเก่า" คือ "ปิดใหม่" ฉะนั้นถ้าทุกคนกลัวจะกลับไปสู่จุดนั้นอีก ทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแล
กรณีมีการเสนอให้ "ลดค่าเล่าเรียน" นักเรียนที่มาโรงเรียนไม่ได้ แล้วเรียนออนไลน์ แทน?
"เรื่องนี้ผมได้กำชับทุกโรงเรียนไปว่า ถ้าค่าเรียนใดที่มันมีกำหนดอยู่ในค่าใช้จ่าย เช่น ค่าพานักเรียนไปต่างประเทศ-ค่าพานักเรียนไปแหล่งเรียนรู้ ถ้าเขียนชัดขนาดนี้ โควิด-19 มา มันก็ไปไม่ได้ เงินพวกนี้ก็ต้องคืนให้ผู้ปกครองไป ก็ให้โรงเรียน-ผู้ปกครอง ไปคุยกัน วันนี้ก็ได้กำชับไปแล้ว รายการไหนที่เก็บมาแล้วไม่ได้ใช้ ก็ต้องคืนผู้ปกครองไป อันนี้พูดในประเด็นของสถานศึกษาสังกัดรัฐ ไม่เกี่ยวกับของ สช. ซึ่งก็จะมีเลขาฯ ดูแลอยู่" นายอัมพร กล่าว....
ในฐานะอยู่วงการศึกษามานาน มีความเห็นอย่างไร ที่มีการเรียกร้องให้"ลดค่าเล่าเรียน"ลง ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด?
เลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า โรงเรียนเอกชน เก็บค่าเล่าเรียนเท่าไร เขากำหนดเองได้ แล้วผู้ปกครองตอนส่งลูกหลานไปเรียนก็พอใจจะจ่าย และพอใจที่จะไปเรียนตรงนั้นเพื่อคุณภาพของลูก ตอนนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเอื้ออาทร ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ปกครองแล้วละ มาจะมีให้กันขนาดไหนจะเห็นใจกันขนาดไหน มันอยู่ตรงนั้นอย่างเดียว อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว เพราะมันเป็นกติการะหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง ที่ตกลงกันเอง แต่ในภาวะที่สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็คงอยู่ที่ความเอื้ออาทรที่จะมีให้กันมากกว่า มันไม่ใช่กฎหมาย หรือ กติกา นะผมว่า
กรณีจัดเรียนออนไลน์เพราะโควิด-19 ระบาด เด็กบางคนก็ไม่พร้อมแล้วทาง สพฐ. มีเตรียมอะไรไหม?
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ผมเข้าใจดี ในความยากลำบากตรงนี้ ดังนั้น สพฐ. จึงไม่ได้กำหนดรูปแบบไว้แบบเดียว เรากำหนดไว้ตั้ง 5 แบบ นักเรียนวันนี้ถ้าสอนออนไลน์ ต้องถามว่า นักเรียนเขามีอุปกรณ์พื้นฐานเหล่านี้หรือยัง ถ้าเขามีค่อยสอนออนไลน์ ถ้าเขาไม่มี บ้านเขามีทีวีไหม ถ้ามีก็เรียน"ออนแอร์" ดูจากทีวี ถ้าโน้ตบุ๊กก็ไม่มี-มือถือก็ไม่มี-ทีวีก็ไม่มี ถ้างั้นก็เรียน "ออนแฮนด์" เดี๋ยวครูจัดชุดไปให้ คือวันนี้เราไม่มีอะไรให้ผู้ปกครองลำบากเลย แต่เด็กต้องเรียนตามสถานะ ตามบริบท โดยไม่เพิ่มภาระ เพราะวันนี้ภาระผู้ปกครองก็ลำบากอยู่แล้ว แล้วเราจะไปเพิ่มภาระเขาอีก จะเรียนออนไลน์ ลูกคุณไม่มีอุปกรณ์ แล้วให้ไปซื้อมา ยืนยันว่าไม่มีแบบนั้น เรากำหนดตามความเหมาะสมตามบริบท ตามสภาพแต่ละคน
"อันสุดท้ายผมมองว่า "วิกฤติเป็นโอกาส"ส่วนตัวผมนะ คือ วันนี้การเรียน การศึกษา ไม่ได้ตอบโจทย์แต่เรียนตามหนังสือ-ตามตำรา หรือ เรียนจากครู วันนี้การเกิดโควิด-19 คราวนี้ คนที่จะมาเป็นครูได้ดีที่สุด คือ พ่อ-แม่ ได้อยู่กันที่บ้าน ก็ได้ฝึกในเรื่อง ทักษะชีวิต-การดูแลตัวเอง-การพึ่งพาระหว่าง พ่อแม่-ดูแลบ้านช่อง-ฝึกทักษะอาชีพ ผมว่านั้นคือวิชาหนึ่งที่เด็กจะได้เรียน ซึ่งไม่มีในโรงเรียน ที่ผ่านมา อยู่บ้านก็ไม่มีโอกาส เพราะต่างคนต่างไป โควิด-19 มา ก็อยู่บ้านด้วยกัน ผมว่า เป็นโอกาสอย่างหนึ่งที่ต้องเรียนเรื่องพวกนี้" เลขาธิการสพฐ. กล่าว....
งานนี้ก็ได้แต่ภาวนา ให้วัคซีนโควิด ที่กำลังจะเข้ามาใช้ได้ผล เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปสู่วังวนแบบเก่าอีก เพราะที่ผ่านมาโควิด-19 ก็ได้สร้างความยากลำบากให้กับทุกคนมากเกินพออยู่แล้ว ทั้ง ตัวนักเรียน คุณครู หรือผู้ปกครอง
แต่ที่แน่ๆ วิธีที่ดีที่สุดของการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด ก็คือการร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของสธ. อย่างเคร่งครัด อย่าให้เกิดขั้นแบบกรณี "ดีเจมะตูม" อีก
ผู้เขียน: เดชจิวยี่
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan