นักวิชาการ เชื่อ สหรัฐฯยังเผชิญความท้าทายหลัง “ไบเดน” เป็นผู้นำ มอง มีบทบาทกับการเมืองไทย แนะปรับกลยุทธ์เจรจาเชิงรุกเพื่อรักษาผลประโยชน์ ก่อนโดนบีบให้เลือกข้างจากสงครามการค้า

วันที่ 23 ม.ค. 2564 ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นในงานเสวนา RoLD Virtual Forum หัวข้อ THE UNITED STATES UNDER BIDEN’S PRESIDENCY : A Test for Rule of Law and Shifting Global Landscape ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) 

แม้หลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ นายโจ ไบเดน ที่ดูเผินๆ เหมือนวิกฤตการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาจะผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งในสายตาของนักวิชาการมีความเห็นตรงกันว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะยังคงมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองอเมริกาต่อไป รวมทั้งยังมีอิทธิพลในพรรครีพับลิกัน เพราะได้สร้างระบบชุดความคิดอีกรูปแบบหนึ่ง ฝังรากลึกลงไปในกลุ่มชาวอเมริกันดั้งเดิม จนทำให้เห็นภาพความขัดแย้งในสังคมอเมริกันอย่างชัดเจน และได้รับแรงผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มาลงคะแนนให้ถึง 74 ล้านเสียง ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อการรักษารากฐานความเป็นต้นแบบประชาธิปไตย การรักษาหลักกฎหมาย และหลักนิติธรรมของสหรัฐ โดยขอยกส่วนหนึ่งของงานเสวนามาดังนี้

อเมริกาในยุคของ “ไบเดน” จะเปลี่ยนแปลงภายในไปอย่างไร

  • ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ มองว่า ไบเดน เป็นนักการเมืองมา 40 ปี แต่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่ถูกเลือกมาชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะเป็นตัวเลือกเดียวในพรรคเดโมแครต ที่มีโอกาสจะชนะทรัมป์ได้ แต่พรรคเดโมแครตมีฐานเสียงกว้างมาก ในระยะแรกจึงต้องรวบรวมฐานเสียงเหล่านี้ให้ได้ก่อน เพราะในอนาคตอันใกล้อาจจะมีปัญหาเรื่องภายใน เช่น นโยบายภาษี จึงเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่เดโมแครตอาจจะต้องเสียเสียงข้างมากในสภาได้ในอีก จากการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีของผู้นำประเทศอื่นๆ อย่าง ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ จากการเปลี่ยนนโยบายเพราะเปลี่ยนผู้นำ ทั้งประเด็นความสัมพันธ์ ข้อตกลงระหว่างกันที่จะเปลี่ยนไปในช่วงนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอเมริกาอาจจะเปลี่ยนนโยบายอีกใน 4 ปีข้างหน้า หากทรัมป์กลับมาชนะการเลือกตั้ง

...

  • ดร.อาร์ม วิเคราะห์จากการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนของ ไบเดน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ไบเดน จะไม่ได้เข้ามาสร้างความตื่นเต้นอะไรในอเมริกา เพียงแต่จะนำอเมริกากลับไปอยู่ในจุดเดิมก่อนจะมีทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งเรื่องสภาวะโลกร้อนที่ยกเลิกไปจะกลับมา นโยบายสร้างกำแพงที่ชายแดนเม็กซิโกถูกยกเลิกไป ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคโอบามา 2 เพราะคณะทำงานที่เลือกมาเกือบทั้งหมดเป็นคนที่เคยทำงานในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่ก็จะมีหลายนโยบายจากยุคทรัมป์ ที่คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องสร้างชาตินิยม เพื่อกลับมาเป็นผู้นำโลก เพียงแต่คำว่าค่านิยมในยุคของไบเดน จะกลับมาเป็นค่านิยมทางการเมือง เรื่องหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย และภูมิใจในความเป็นอเมริกา ต่างจากค่านิยม America First ในยุคของทรัมป์

บทบาทอเมริกาต่อประเทศไทยในยุค ไบเดน จะเข้ามามีบทบาทต่อทิศทางทางการเมือง สิทธิมนุษยชน มากขึ้นหรือไม่

  • ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ วิเคราะห์จากจุดยืนของพรรคเดโมแครต จะแตกต่างจากในยุคของทรัมป์อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมา ทรัมป์ จะสนใจไทยเฉพาะเรื่องการค้าเท่านั้น ไม่สนใจปัญหาทางการเมือง แม้แต่ปัญหาในไต้หวัน หรือฮ่องกง อเมริกาก็มีบทบาทน้อยมาก แต่ในยุคของไบเดน จะไม่เหมือนกัน เพราะพรรคเดโมแครตมีรากฐานจากนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทูตของสหรัฐฯ เงียบมาโดยตลอดในยุคของทรัมป์ อาจจะเปลี่ยนแปลง และแสดงบทบาทต่อเรื่องการเมืองมากขึ้น หรือประเด็นมาตรฐานการดูแลแรงงานต่างด้าว รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคไบเดน อาจมองในเชิงลึกไปถึงการใช้แรงงานไม่เป็นธรรม การใช้วัสดุในการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไหม และไทยต้องเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) อีก

“ไทยควรเตรียมกระบวนการต่อรองกับสหรัฐฯ ในรูปแบบเชิงรุก เข้าไปอธิบายมาตรฐานเกี่ยวกับหลักนิติธรรมของไทยก่อน โดยอาจหาตัวกลางที่จะช่วยสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เข้าใจในปัญหาต่างๆ ของไทยได้ แต่ต้องทำให้เห็นว่า การต่อรองนี้ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสหรัฐฯด้วย”

  • ดร.อาร์ม ชี้ให้เห็นจากปรากฏการณ์ที่สมาชิกวุฒิสภาลูกครึ่งไทย-อเมริกัน แทมมี่ ดักเวิร์ธ ทำหนังสือเรียกร้องให้สหรัฐฯสนับสนุนกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยก่อนหน้านี้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อไบเดน เป็นตัวแทนของพรรคที่มีค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม จึงเชื่อว่านโยบายต่างประเทศของไบเดน จะสอดคล้องกับนโยบายของพรรคเดโมแครต ไม่เฉพาะกับประเทศไทย แต่จะรวมถึงสถานการณ์ในฮ่องกง ไต้หวัน หรือกลุ่มอุยกูร์ ในซินเจียงของจีนด้วย เพราะพรรคเดโมแครตจะมองในมุมว่า การต่อสู้ของกลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวแทนประชาธิปไตยตามค่านิยมของสหรัฐฯ

สหรัฐยุคไบเดน จะยังคงทำสงครามการค้ากับจีน ส่งผลถึงการบีบให้ไทยต้องเลือกข้างหรือไม่

  • ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ เห็นว่า ส่วนที่น่าจะกระทบกับประเทศไทยก่อน คือ ประเด็นของทะเลจีนใต้ การทำสัญญา Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก การทำสัญญา Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership (CPTPP) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ดังนั้น ไทยอาจจะถูกบังคับให้เลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไทยจึงควรหารือในอาเซียนเพื่อให้การแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ในนามของอาเซียน ซึ่งคิดว่ามีอำนาจต่อรองเพียงพอ เพราะสังคมของอเมริกา เป็นสังคมที่มีเหตุผล ถ้าไทยและอาเซียนสามารถอธิบายได้ว่า ในบางเรื่องจำเป็นที่จะยังต้องร่วมมือกับจีน เช่น เส้นทางสายไหม การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่กระทบกับสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องยังคงความเป็นพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐฯไว้ อย่างการฝึกคอบร้าโกลด์ ก็ต้องคงไว้ต่อไป
  • ดร.อาร์ม กล่าวว่า นโยบายต่อจีนในเชิงหลักการในยุคของไบเดน จะเป็นหนึ่งในนโยบายที่ไม่เปลี่ยนไปจากยุคของทรัมป์มากนัก เพราะความรู้สึกว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคาม จะเป็นมหาอำนาจรายใหม่ กลายเป็นความรู้สึกร่วมของทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน แต่รูปแบบการรับมือกับจีนในยุคของไบเดน จะแตกต่างจากยุคของ ทรัมป์ และคาดว่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบของ Tech War หรือ สงครามทางเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบใกล้ตัวกับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยมากกว่ายุคสงครามเย็นระหว่าอเมริกากับรัสเซีย ซึ่งแข่งขันกันไปในอวกาศ ดังนั้น ไทยจึงต้องรีบวางกลยุทธ์ คิดถึงแนวทางการเจรจาเชิงรุกเพื่อรักษาผลประโยชน์ โดยคำนึงถึงค่านิยมหลักของมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่า อเมริกามีเป้าหมายทางการเมือง ต้องการกลับไปเป็นเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ต่างๆ ของโลก เป็นผู้นำในองค์กรระหว่างประเทศ ส่วนจีนเป็นประเทศที่ไม่ได้พยายามผลักดันแนวคิดทางการเมืองไปสู่เวทีโลก ใช้เป็นค่านิยมภายในประเทศเท่านั้น แต่จะผลักดันแนวทางทางการค้า เช่น เส้นทางสายไหม (One Belt One Road - OBOR) การเสนอต้นแบบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สะพาน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง และที่อาจจะมีรุกอย่างรวดเร็วในขณะนี้ คือ การขายวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งไทยอาจต้องถูกบีบให้เลือกระหว่างวัคซีนของอเมริกากับของจีน.