“ธนาธร” อัดรัฐบาลปมวัคซีนโควิด-19 หวังสร้างคะแนนนิยมมากกว่าผลประโยชน์ประชาชน เชื่อ ไทยทำให้เร็วกว่านี้ได้ พร้อมถาม “บิ๊กตู่” หากเกิดข้อผิดพลาดรับผิดชอบไหวหรือไม่
วันที่ 18 ม.ค. 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปะธานคณะก้าวหน้า เตรียมไลฟ์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย?” โดยมีกำหนดในเวลา 21.00 น. แต่ 40 นาทีให้หลัง เจ้าตัวทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่าจะเริ่มไลฟ์ประมาณ 22.00 น. ทั้งนี้ในโพสต์ก่อนหน้า นายธนาธร ได้ตอบกลับในคอมเมนต์หลังมีผู้ตั้งคำถามว่า “วัคซีนพระราชทาน” คำนี้คิดเองหรือมีที่มา ถ้าไม่มีที่มา นี่เป็นการสร้างวาทกรรมให้คนคิดเองอีกหรือไม่ ซึ่ง นายธนาธร ตอบกลับเป็นภาพซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับ ในหลวง พระราชทานให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นผู้ผลิต
กระทั่งเวลา 22.15 น. นายธนาธร ได้กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ถึงเรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า “เหตุใดประเทศไทยจึงยังไม่มีการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19” หากฉีดเร็ว มีภูมิคุ้นกันหมู่เร็ว หลายๆ สิ่งจะกลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลประมาทที่ไม่ได้เร่งจัดหาตั้งแต่เนิ่นๆ กว่าจะเริ่มเจรจาและหาข้อสรุปก็เดือน ต.ค. 2563 อีกทั้งจัดหาน้อยเกินไปและเพียงเจ้าเดียวคือ แอสตราเซเนกา จนต้นเดือน ม.ค. จะจัดซื้อกับซิโนแวค ประเทศจีน
...
พร้อมมองว่าสายเกินไป เพราะวัคซีนจากบริษัทต่างๆ ถูกจับจองไปหมด และรัฐบาลนำปัญหาเรื่องการฉีดวัคซีนมาบวกกับการสร้างความนิยมของรัฐบาล ละเลยการหาทางออกที่เหมาะสมและดีที่สุดให้ประเทศ เราจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชาชนน้อยกว่าและช้ากว่าประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน พร้อมยกประเทศอื่นๆ มาเปรียบเทียบว่ามีการเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชากรแล้ว ส่วนไทยจะเริ่มฉีดเดือน มี.ค. เพราะวัคซีนมาปลายเดือน ก.พ. จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งได้เพียง 1 ล้านคน ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งกว่าประชาชนจะได้วัคซีนแอสตราเซเนกาก็ครึ่งหลังของปี 64 และยังครอบคลุมน้อยกว่าประเทศอื่นด้วย
“การฝากความหวังไว้ที่เจ้าใดเจ้าหนึ่งเป็นการเฉพาะ ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤติขณะนี้ ไม่ใช่การตัดสินใจของผู้บริหารที่ดี เรายังมีตัวเลือกอื่นๆ ที่สามารถเจรจาได้ ประเทศส่วนใหญ่ไม่มีประเทศไหนที่ฝากความหวังไว้กับวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หลายประเทศส่วนใหญ่จะใช่การจัดซื้อจัดหาจากหลายเจ้า”
นายธนาธร ระบุต่อไปว่า รัฐบาลวางการจัดหาวัคซีนให้คนไทย 2 ทาง การซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ กับการผลิตเองในประเทศ คือวัคซีนของแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะมีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี ตามสัญญาจ้างผลิต โดย 26 ล้านโดสเก็บไว้ในประเทศไทย ซึ่งแอสตราเซนเนกาก็ทำสัญญาจ้างเช่นนี้กับประเทศอื่นด้วย ขณะที่วัคซีน 26 ล้านโดสนั้น รวมกับวัคซีนซิโนแวคแล้วครอบคลุมเพียง 21.5% ของประชากรไทย จากนั้น นายธนาธร เผยไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลให้กับคนไทย
พร้อมกันนี้ ตั้งข้อสงสัยว่าการที่เราพึ่งพาโครงสร้างแบบเดียวในการจัดหาวัคซีน เป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นการสร้างความนิยมทางการเมืองมากกว่าที่ต้องการหาข้อสรุปให้ครอบคลุมและเร็วที่สุดหรือไม่ รวมถึงใช้อะไรเป็นตัวตัดสินใจ เกิดการตั้งคำถามว่าวัคซีนที่ทำกับแอสตราเซเนกา เป็นการฝากอนาคตของประเทศไทยไว้กับแอสตราเซเนกาและบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มากเกินไปหรือไม่ และการเจรจาเช่นนี้เป็นการตัดโอกาสการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เพื่อจะจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรได้มากที่สุด ได้รับการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนำมาซึ่งคำถามสุดท้ายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น ถ้าดีลนี้มีอะไรผิดพลาด พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ หากวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนด ถ้าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม และประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีน หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์
“ผมเชื่อว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ประเทศไทยมีโอกาส หากทำตามสิ่งที่เราเสนอตั้งแต่ต้นของปี 2563 ให้เจรจาจัดหาวัคซีนเร็วที่สุด ให้ครอบคลุมถึงคนมากที่สุด และฉีดให้กับประชาชนได้เร็วที่สุด จะเป็นผลประโยชน์มากที่สุดกับประเทศไทย และผมเชื่อว่าประเทศไทยทำอย่างนั้นได้ ถ้าผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และเดินเกมตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2563 ไม่ฝากความหวังไว้กับดีลใดดีลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ไม่นำเรื่องวัคซีนโควิดหวังผลสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองก่อนผลประโยชน์ของประชาชน”