หลังจากที่ ครม. เห็นชอบ ให้มีการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นระดับเทศบาล คาดว่าจะเลือกกันในกลางปีนี้เป็นต้นไป ประเด็นร้อนโฟกัสไปที่ สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทันที มีตัวเลือกที่แย้มไต๋และน่าจับตาอยู่หลายคน

เริ่มจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม แกนนำพรรคเพื่อไทย ถ้าจะวัดฐานเสียงความนิยมในสถานการณ์ประเทศไทยเวลานี้ ก็ต้องบอกว่า ชัชชาติ เป็นเต็งหนึ่ง วัดจากจำนวน FC ที่มีทุกรุ่นทุกวัย ก็กินขาดคนอื่นแล้ว ขึ้นอยู่กับว่า ชัชชาติ จะตัดสินใจลงการเมืองสนามใหญ่หรือไม่เท่านั้น

การที่ ชัชชาติ ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของคน กทม. ในช่วงจังหวะนี้ จึงเหมารวมเอาว่า ชัชชาติ มีแนวโน้มที่จะลงสนามเลือกตั้ง กทม. มากกว่าสนามใหญ่

แต่อย่างว่า การเมืองเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ถึงเวลาจริงๆ ชัชชาติ ก็อาจจะมีตัวเลือกที่ดีกว่า โดยเฉพาะ แคนดิเดตผู้นำประเทศ หรือ ผู้นำพรรคเพื่อไทย คนต่อไป เป็นการบ้านที่ ชัชชาติ จะต้องเอาไปทบทวนอย่างรอบคอบ เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.จะผูกมัดตัวเองไปหลายปี ตัดโอกาสความก้าวหน้าการเมืองสนามใหญ่ทันที

ชื่อของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ที่เปิดตัวลงชิงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ชัดเจน ถึงจะยังไม่เป็นทางการ แต่แนวโน้มเกือบเต็มร้อย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ตัดสินใจเปิดซิงทางการเมือง ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยไม่ไยดีกับตำแหน่งในพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือรองหัวหน้าพรรค คงจะเตรียมการไว้รอบคอบแล้วว่า สนาม กทม. จะเป็นบทพิสูจน์อนาคตทางการเมืองได้ดีที่สุด ด้วยความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง ดีกว่าไปแข่งขันในสนามใหญ่ ที่ไม่สามารถจะการันตีอนาคตที่แน่นอนได้

...

การที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยอมกระโดดลงสนามการเมือง ด้วยความสดใหม่และเป็นตัวเลือก ที่ไม่ใช่การเมืองชนิดลูกหม้อ อาศัยผลงานและการบริหารงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่งเกษียณอายุราชการมาสดๆ ร้อนๆ บารมียังใช้ได้ เพื่อนฝูงยังให้การสนับสนุน มีฐานการเมืองเป็นกองหนุน จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ไม่ยอมให้ปล่อยผ่านไปอย่างน่าเสียดาย ปัญหามีอยู่อย่างเดียวคือ จะเอาชนะคู่แข่งและเอาชนะตัวเอง ในฐานะ นักการเมือง ไปได้หรือไม่

เพราะคนที่เปรยอยากจะลงสนามการเมือง กทม.อีกคนคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ถ้าจะพูดถึงบารมีและความกว้างขวางแล้ว ถือว่ามีมากกว่าคู่แข่ง คุม กทม. เป็นมิตรกับรัฐบาล เป็นมิตรกับพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลทุกพรรค สัมผัสการเมืองมาแล้ว 1 สมัยถึงจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ ก็วนเวียนอยู่กับการเมืองมาในทุกสถานการณ์

ถ้าลงเท่ากับเป็นการตัดคะแนนกันเอง

ยังไม่รวมตัวแทนจาก คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ที่ วางตัวคนเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เสียงของคนในเมือง ยังให้การสนับสนุนมากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ โอกาสที่จะชนะในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็มีพอหอมปากหอมคอ สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนดอนาคตอีกที

ปัจจัยสำคัญที่สุดในการเอาชนะสนาม กทม.เที่ยวนี้อยู่ที่ว่าใครคุม กทม.ได้ ใครคุมเสียงในชุมชนได้ ใครคุมเสียงบ้านมีรั้วได้ ใครคุมเสียงในโซเชียลได้และใครคุมเสียงรัฐบาลได้ โอกาสชนะเกินร้อย.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th