รองโฆษกรัฐบาล ยัน มีงบเพียงพอดูแลปัญหาโควิด-19 ระลอกใหม่ อนุมัติ 4.6 พันล้าน สนับสนุน สธ. ตั้งเป้าให้คนไทยปลอดภัย ลดผลกระทบเศรษฐกิจ เพิ่มความมั่นคงประเทศ

วันที่ 8 ม.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงรุนแรง โดยข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น 8% ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21% ซึ่งทวีปยุโรปมีจำนวนการรายงานผู้ติดเชื้อสูงสุด ในขณะที่ประเทศไทยเองก็เกิดการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ มีความเสี่ยงสูงที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะมีการแพร่กระจายในพื้นที่ใหม่อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับดูแลป้องกันบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่และมีงบประมาณเพียงพอสำหรับดำเนินการ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงานและโครงการอย่างเคร่งครัด”

...

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า งบประมาณทั้ง 4,661 ล้านบาท จะจัดสรรแก่หน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการระบาดระลอกใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ทั้งนี้ งบประมาณหลักจะอยู่ในส่วนของค่าวัสดุ วงเงิน 2,101 ล้านบาท เช่น วัสดุวิทยาศาสตร์สนับสนุนห้องปฏิบัติการ ค่าอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ ค่ายาในการรักษาโรคโควิด-19 ค่าเวชภัณฑ์ในการปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ค่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับ อสม. ซึ่งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 1,228 ล้านบาท ตามที่มีรายงานข่าวไปก่อนหน้านี้ก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย นอกจากนี้ เป็นงบประมาณสำหรับค่าตอบแทน เช่น ค่าเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ค่าล่วงเวลา ค่าล่าม วงเงิน 1,625 ล้านบาท ค่าใช้สอยอื่น 872 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยค้างจ่ายปี 2563 ค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินจากสิทธิผู้ป่วยค้างจ่าย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ปีงบประมาณ 2563

“เป้าหมายการดำเนินการครั้งนี้คือทุกคนในประเทศไทย ลดป่วย ลดการเสียชีวิต โดยเฉพาะการปกป้องกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม กลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส ให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อโควิด-19 สามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ ช่วยลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ”