ศบค.มท. สั่งทั่วประเทศเข้มคัดกรองเดินทางข้ามจังหวัด หากออกจาก 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องมีเอกสารรับรองความจำเป็น พร้อมใช้หอกระจายข่าวสร้างการรับรู้ประชาชน ยับยั้งโควิด-19 ระบาด
วันที่ 7 ม.ค. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 17) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง และการปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค
ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดเป็นไปตามข้อกำหนดฯ รวมทั้งมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด จัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางหลักในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด โดยใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบูรณาการและประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและตำรวจ
ขณะที่ในการจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางรอง ให้มอบหมายนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการทุกภาคส่วนจัดตั้งจุดตรวจคัดกรองในเส้นทางรองตามความจำเป็นและเหมาะสม และให้ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้นายอำเภอประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น ต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเข้ารับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอันอาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและทำให้ต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ ส่วนการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
...
กรณีเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด (จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร) เน้นการตรวจคัดกรองใน 5 ประเด็น
1) ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการผู้เดินทาง
2) สอบถามเหตุผลความจำเป็นและสถานที่ปลายทางจากผู้เดินทางให้ชัดเจน
3) ตรวจสอบการติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ของผู้เดินทาง
4) ตรวจสอบเอกสารการรับรองความจำเป็น/การปฏิบัติหน้าที่/การติดต่อราชการ
5) บันทึกข้อมูลผู้เดินทาง
กรณีเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุด 23 จังหวัด เน้นการตรวจคัดกรองใน 4 ประเด็น
1) ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการผู้เดินทาง
2) สอบถามเหตุผลความจำเป็นและสถานที่ปลายทางจากผู้เดินทางให้ชัดเจน
3) ตรวจสอบการติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ของผู้เดินทาง
4) บันทึกข้อมูลผู้เดินทาง
กรณีเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูง 49 จังหวัด เน้นการตรวจคัดกรองใน 2 ประเด็น
1) ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการผู้เดินทาง
2) สอบถามเหตุผลความจำเป็นและสถานที่ปลายทางจากผู้เดินทางให้ชัดเจน
แนวปฏิบัติผู้ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
1) ผู้ประสงค์จะเดินทางทั่วไปให้แสดง “เอกสารรับรองความจำเป็น” โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ได้แก่ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ หรือข้าราชการที่นายอำเภอมอบหมาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
2) ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์และการดำรงชีวิตของประชาชน และสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก ผู้ปฏิบัติงานในกิจการกิจกรรมเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณูปโภค ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การศึกษา การขนส่งประชาชน/บุคคลไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ ของทางราชการ ให้แสดง “เอกสารรับรองการปฏิบัติหน้าที่” โดยยื่นคำขอต่อผู้ประกอบการ นายจ้าง บริษัท หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่กรณี
3) บุคคลที่มีความจำเป็นต้องติดต่อราชการ ให้แสดง “เอกสารรับรองการติดต่อราชการ” ซึ่งออกโดยหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานที่บุคคลได้ไปติดต่อราชการ ทั้งนี้ ในกรณีบุคคลซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน หากมีความล่าช้าอาจจะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือเกิดความเสียหายร้ายแรง ให้มีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติไว้เป็นหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม นายฉัตรชัย ยังได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับให้ปฏิบัติงานด้วยความถูกต้อง โปร่งใส โดยมุ่งหวังผลต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ.