“ณัฏฐพล” ลงนามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ สั่งปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่ 4-31 ม.ค. 64 ใน 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ลดเสี่ยงโควิด-19 แพร่ระบาด

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ ลงนามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ โดยมีเนื้อหาระบุว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตของนักเรียน นักศึกษา ที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว อีกทั้งเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และลดโอกาสการแพร่ระบาดใหม่ของโรค COVID-19

จึงให้สถานศึกษาทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กำหนดใน 28 จังหวัด ได้แก่

1. กรุงเทพฯ
2. ตาก
3. นนทบุรี
4. ปทุมธานี
5. พระนครศรีอยุธยา
6. สระบุรี
7. ลพบุรี
8. สิงห์บุรี
9. อ่างทอง
10. นครนายก
11. กาญจนบุรี
12. นครปฐม
13. ราชบุรี
14. สุพรรณบุรี
15. ประจวบคีรีขันธ์
16. เพชรบุรี
17. สมุทรสงคราม
18. สมุทรสาคร
19. ฉะเชิงเทรา
20. ปราจีนบุรี
21. สระแก้ว
22. สมุทรปราการ
23. จันทบุรี
24. ชลบุรี
25. ตราด
26. ระยอง
27. ชุมพร
28. ระนอง

...

ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 ม.ค. ถึงวันอาทิตย์ที่ 31 ม.ค. 2564 หรือจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง กรณี ศบค. ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดเพิ่มเติม ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจสั่งการให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในระหว่างที่สถานศึกษาต้องปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษดังกล่าว ให้ส่วนราชการต้นสังกัด กำหนดแนวทางจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ เช่น การสื่อสารแบบทางไกล หรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ สถานศึกษาอาจจัดการเรียนการสอนโดยใบสั่งงาน หรือมอบงานตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน

ทางด้าน นายณัฏฐพล ยังได้โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กด้วยว่า ใน 28 จังหวัด มีบางจังหวัดที่ประกาศเป็นเขตควบคุมสูงสุดเพียงบางอำเภอ แต่ประกาศกระทรวงปิดเรียนทั้งจังหวัด มีเหตุผลคือเพื่อป้องกันการติดต่อของโรคให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะนักเรียนมีการข้ามเขตพื้นที่ไปเรียนไม่จำกัดเฉพาะเรียนอยู่ในอำเภอใดอำเภอหนึ่งเท่านั้น รวมทั้งการให้หยุดในอำเภอใดโดยไม่รวมทั้งจังหวัดจะก่อความสับสนในการปฏิบัติ

"ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการศึกษาที่ต้องปรับตัวกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติตั้งแต่ต้นปี 2564 การปรับวิธีการสอนในช่วงนี้ ถึงแม้จะท้าทาย แต่ผมเชื่อมั่นว่าคณะผู้บริหารและคุณครู รวมถึงผู้ปกครอง ก็มีความเข้าใจในระดับหนึ่งถึงการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ทั้งผ่านการสั่งงานผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านการสอนออนไลน์ หรือใช้ใบงานที่นักเรียนหรือตัวแทนมารับได้ที่โรงเรียนรวมถึงการให้หนังสือกลับไปอ่านที่บ้าน อะไรไม่สำคัญเท่ากับความปลอดภัยของเด็กๆ และการทำแบบฝึกหัด อ่านหนังสืออย่างต่อเนื่องในช่วงที่ไม่ได้มาโรงเรียน แน่นอนครับ! มันไม่มีทางสู้การเรียนการสอนที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคุณครูหรอกครับ แต่สถานการณ์แบบนี้ก็ต้องพยายามช่วยกันทำให้ดีที่สุดครับ เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน"