ปกติแล้ว “วันเสาร์” จะเป็นวันเปลี่ยนบรรยากาศของคอลัมน์นี้คือจะแปลงร่างเป็น “วันเสาร์สารพัน” ชวนท่านผู้อ่านไปเที่ยวงานบ้าง อ่านหนังสือบ้าง หรือหันไปฟังเพลงย้อนยุคกันบ้าง ดังที่ท่านผู้อ่านซึ่งติดตามกันอยู่เป็นประจำคงจะทราบดีอยู่แล้ว

แต่เนื่องจาก “เสาร์” นี้ตรงกับวันที่ 2 มกราคม 2564 อันเป็นวันแรกของคอลัมน์นี้สำหรับปีใหม่ พ.ศ.2564 ผมขออนุญาตหยุดเรื่องเที่ยว เรื่องอ่านหนังสือ เรื่องฟังเพลงเอาไว้สักหนึ่งเสาร์เพื่อนำพื้นที่มาเขียนให้เข้ากับบรรยากาศปีใหม่ ส่งความสุขถึงท่านผู้อ่านแบบเต็มๆคอลัมน์เช่นเดียวกับวันที่ 2 มกราคมของทุกๆปี

2 มกราคม 2516 คือ วันแรกที่ “เหะหะพาที” มาปรากฏโฉมที่หน้า 5 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนับมาถึงวันนี้ 48 ปีเต็มๆ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 48 ฤดูกาล และผ่านเหตุการณ์ทั้งดีทั้งร้าย ทั้งเป็นคุณแก่ประเทศและเป็นโทษแก่ประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน

ปีใดที่เผชิญกับเรื่องร้ายๆ ข้อเขียนในฉบับแรกของวันปีใหม่ปีนั้นก็จะเน้นในด้านให้กำลังใจให้ต่อสู้ ให้มุ่งมั่นบากบั่นเดินหน้าต่อไป และอย่าท้อถอย

ปีใดที่เรื่องร้ายๆเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางความคิดหรือเพราะการมองต่างมุมแบบสุดโต่ง ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และการต่อสู้ทางการเมืองที่รุนแรง

ข้อเขียนฉบับแรกต้อนรับปีใหม่ของผมก็จะขอร้องวิงวอนให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน เลิกทะเลาะกัน หันมารู้รักสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อรวมพลังในการพัฒนาประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราทุกคน

ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องเป็นสื่อกลางในการทำให้คนไทยรักใคร่กลมเกลียวกันให้จงได้

ซึ่งถ้าจะว่าไปก็ต้องถือว่าประเทศไทยของเราค่อนข้างโชคดีจะด้วยว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอย่างที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อถือ

...

หรือจะเป็นเพราะลึกๆแล้วคนไทยเราก็ไม่ใช่คนที่มีจิตใจโหดร้ายอะไรนัก ไม่อาฆาตมาดร้ายไปชั่วนิรันดร์ รู้จักผ่อนปรน รู้จักให้อภัยทำให้เรื่องร้ายๆหลายๆเรื่องสงบลงได้อย่างเหลือเชื่อ

ส่งผลให้ประเทศไทยของเราก้าวหน้ามาตามลำดับแม้จะไม่ปรู๊ดปร๊าดเหมือนพวกดาวรุ่งดวงใหม่ทั้งหลาย แต่ก็ไม่ถึงกับล่าช้า หรือถอยหลังเข้าคลอง หรือหยุดชะงักไปเลยแบบเพื่อนบ้านเราหลายประเทศ

ในเรื่องขัดแย้งทางการเมืองเราผ่านยุค “14 ตุลาคม 2516”, “6 ตุลาคม 2519”, “พฤษภาทมิฬ 2535” จนมาถึงยุค “กีฬาสี” ที่ก็รุนแรงไม่น้อยเลย

ในเรื่องร้ายๆทางเศรษฐกิจ เราผ่านวิกฤติยุคราคานํ้ามันแพง สมัย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี การขาดดุลการค้า

และดุลชำระเงินใหญ่หลวง สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ มาจนถึงยุค “ต้มยำกุ้ง” พ.ศ.2540

ในเรื่องร้ายๆจากภัยธรรมชาติ เราผ่านทั้งพายุเกย์ 2532 ผ่านทั้งสึนามิ เมื่อ พ.ศ.2547 และมหาอุทกภัยนํ้าท่วมครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2554 ฯลฯ

แต่เราก็ฟื้นขึ้นมาได้และอยู่กันมาได้จนถึงวันนี้

จากประเทศด้อยพัฒนาเต็มขั้น รายได้ตํ่าเตี้ยอยู่ในลำดับล่างๆ เราสามารถไต่เต้ามาเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง ผมก็ว่าเราทำกันได้ดีสุดๆแล้วครับ เมื่อมองจากบรรดาสารพันปัญหาที่เป็นอุปสรรคขวางกั้น

สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมานับเป็นปีร้ายอีกปีหนึ่ง ร้ายทั้งโควิด มหาภัยที่ทำลายทั้งชีวิตมนุษย์และเศรษฐกิจอย่างยับเยินทั่วโลก

ในขณะที่ของไทยเราเองยังมีร้ายกำลังสองจากความขัดแย้งในทางความคิดและความเชื่อระหว่างประชากรต่างวัย ต่างเจน...ที่เกิดขึ้นมากระหน่ำซํ้าเติม โดยไม่คาดฝัน

เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในเชิงความคิดและความเชื่อของคนไทยที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตผม

แต่ก็นั่นแหละครับ ผมก็คงต้องเขียนเหมือนที่ผมเขียนในวันที่ 2 มกราคมของทุกๆปีอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือเขียนให้กำลังใจแก่ท่านผู้อ่านทุกๆท่านที่ร่วมฝันร้ายมาด้วยกัน

อย่าท้อถอยครับจับมือสู้ๆให้ถึงที่สุดครับ ผมยังมั่นใจว่าเราจะผ่านวิกฤติโควิด-19 ทั้งในแง่การสูญเสียชีวิตและการสูญเสียเศรษฐกิจไปได้ในที่สุดเหมือนที่เราชนะศึกใหญ่ๆมาแล้วในอดีต

รวมทั้งการขัดแย้งทางความคิดอันใหญ่หลวงนั้นด้วย ผมก็เชื่อว่าจะผ่านไปด้วยดี...เมื่อทุกฝ่ายเริ่มรับฟังกัน และเริ่มปรับตัวเข้าหากัน

สวัสดีปีใหม่และขอให้โชคดีในปี 2564 นะครับ.

“ซูม”