ถ้าคณะกรรมการสมานฉันท์สามารถชักชวนให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งประนีประนอม “ร่วมพัฒนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” วิธีดำเนินการ ต่อไปคือก่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยหรือภาคีพัฒนาประชาธิปไตย โดยกรรมการหรือสมาชิกมาจากตัวแทนทุกภาคส่วนของสังคม
คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ทำหน้าที่เชิญชวนสังคมทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกรอบความคิดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะสามารถสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร
ควรศึกษาว่ากระบวนการสร้าง “รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540” ที่ได้ ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ได้สำเร็จนั้นมีกระบวนการอย่างไร
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่ารัฐสภาไม่สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ หรือแม้แต่แก้ไขบางมาตราก็ยังยาก เพราะสมาชิก
รัฐสภามีความหลากหลายมาก และรัฐสภาเป็นสถานที่โต้เถียงแสดงคารมกัน เป็นที่วิเคราะห์มากกว่าสังเคราะห์ “การวิเคราะห์ทำให้แตก...การสังเคราะห์ทำให้เกิดองค์รวม”
รัฐธรรมนูญเป็นองค์รวม จึงทำไม่ได้โดยการวิเคราะห์ที่ปราศจากการสังเคราะห์ จึงยากนักหนา หรือเป็นไปไม่ได้ที่รัฐสภาจะสังเคราะห์รัฐธรรมนูญขึ้นมาตามลำพัง
ตามประวัติศาสตร์ มีรัฐธรรมนูญก่อน แล้วจึงมีรัฐสภา
...
รัฐธรรมนูญเป็นผู้สร้างรัฐสภา ไม่ใช่รัฐสภาสร้างรัฐธรรมนูญ
“รัฐธรรมนูญ” เกิดจากการนำของรัฐบุรุษ เช่น จอร์จ วอชิงตัน หรือชาร์ล เดอโกลด์ รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันของฝรั่งเศส เกิดจากรัฐสภาไม่สามารถตกลงกันได้ ทำอย่างไรก็ตกลงกันไม่ได้ จึงพร้อมใจกันไปเชิญนายพลชาร์ล เดอโกลด์ ซึ่งเป็นวีรบุรุษกู้ชาติ เข้ามานำในการปฏิรูปการเมือง...
โดยการเขียน... “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นใหม่
ในสภาพที่ไม่มีรัฐบุรุษขึ้นมานำ รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ต้องใช้แนวทางสำคัญ ที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ที่สามารถเขยื้อนสิ่งยากได้
“สามเหลี่ยม” ประกอบด้วย...การสร้างความรู้ที่เกี่ยวข้อง, การขับเคลื่อนสังคม, องค์กรนโยบาย ลำพังอย่างใดอย่างเดียวหรือแม้ สองอย่างก็ทำเรื่องยากไม่ได้
ก่อนที่จะมี ส.ส.ร. ในปี 2539 ในปี 2537 ได้เกิด คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) นำมาก่อน โดยการแต่งตั้งของประธานรัฐสภา นายมารุต บุนนาค คพป. ได้สร้างความรู้ แล้วนำมาทำโครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมๆกับการสื่อสาร ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างเข้มข้น จนเกิดกระแสสังคมอย่างกว้างขวาง ในการเรียกร้องให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีการ...“ปฏิรูปการเมือง”
“รัฐสภาที่ถึงแม้จะมีปัญหาบางประการแต่ก็มีข้อดีคือ มีความไวต่อความรู้สึกของสังคม ฉะนั้นเมื่อเกิดกระแสสังคมเรียกร้องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงไม่เป็นการยากที่รัฐสภาจะเอื้ออำนวยให้เป็นไปตามความต้องการของสังคม” ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสว่า
คพป.สร้างความรู้และขับเคลื่อนสังคม...รัฐสภา คือองค์กรนโยบาย
ณ ปัจจุบัน หากรัฐสภามีมติตั้ง ส.ส.ร. ขึ้น วิธีที่จะทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีก็คือ ประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ขึ้นมาทำหน้าที่สร้างความรู้ และขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสังคม เพื่อช่วยการทำงานของ ส.ส.ร. หรือถ้ายังไม่มี ส.ส.ร. คพป. จะทำงานล่วงหน้าไปก่อน
...ทำนองเดียวกับ คพป. เมื่อ 2537 ก็ได้ ประธาน คพป. น่าจะ เป็นคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะความสุจริต ความเห็นแก่ส่วนรวม มีความเป็นกลาง มีสติปัญญาสูงและมีความคิดในการจัดการ ถ้าได้คนเช่นนี้จะเกิดความร่วมมือสูง คพป. จะเป็นเครื่องมือก้าวข้ามความแตกแยก
รวมพลังทางสังคมและทางปัญญา เปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง
“กรุงศรีอยุธยา” เป็นนครที่รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ด้วยการค้าขายนานาชาติ มีแขก ฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ไปมาค้าขาย และการอยู่ร่วมกันด้วยศาสนา...วัฒนธรรมที่แตกต่าง
ดังจะเห็นร่องรอยที่อยุธยา ที่มีหมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านญี่ปุ่นมีโบสถ์คริสต์ อิสลามอยู่ใกล้กันเพียงข้ามฝั่งคลอง มีการส่งทูตแลกเปลี่ยนกับฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
“อยุธยาเป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยความเป็นนานาชาติมากที่สุดในภาคพื้นตะวันออกไกล มีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปวิทยา และการผสมศาสนาและวัฒนธรรมที่มากับการค้าขายนานาชาติ แต่การปฏิวัติรัฐประหารแย่งชิงอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานได้ทำลายโอกาสการพัฒนาของชาติลงโดยสิ้นเชิง”
ประเวศ บอกว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยที่ดำเนินมาเกือบร้อยปี ก็ทำให้เสียโอกาสชาติเช่นเดียวกัน ประเทศที่เคยด้อยกว่าไทยบัดนี้แซงขึ้นนำหน้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เกาหลี เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ก็แปลได้ว่าประเทศไทยถอยหลังไปเรื่อยๆ
คนไทยจะต้องหาทางให้การเมืองลงตัวได้ในเร็ววันก่อนจะเสียโอกาสไปมากกว่านี้ “ขอให้ยุติที่รุ่นเรา” ควรจะหมายถึงยุติการแตกแยกด้วยการประนีประนอม
“ความขัดแย้งทุกชนิดจบลงด้วยการประนีประนอมเสมอ...จุดที่จะประนีประนอมคืออะไร”...ควรเริ่มที่ การร่วมสร้างประเทศไทยที่เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง
ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงเริ่มที่การก้าวข้ามความแตกแยกทุกประเภท ถ้ายังแตกแยกก็ไปไม่ได้ แต่จะทำให้ชาติเสียโอกาสเช่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา...เมื่อตั้งเป้าหมายใหญ่ร่วมกันแล้ว ก็มีคำถามต่อไปว่า การที่ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง จะต้องมีระบบการปกครองประเทศอย่างไร
กลับไปเป็นราชาธิปไตย...หรือระบอบเผด็จการทหาร...หรือ ระบอบคอมมิวนิสต์...หรือคำตอบล้วนแต่ไม่ใช่ เหลืออย่างเดียวคือ... ระบอบประชาธิปไตย
“ชาวบ้านที่ดูวัวขวิดกันรู้ว่า...เมื่อเริ่มขวิดห้ามเท่าใดก็ไม่ฟัง เพราะทั้งคู่กำลังมีแรงมากอาจขวิดเอาผู้ห้ามก็ได้ แต่นานเข้าจะอ่อนกำลังลงยอมให้แยกกัน”
สรรพสงครามน้อยใหญ่ก็เช่นเดียวกันต้องยุติลงเสมอ เช่น สงคราม 30 ปี ในยุโรปเมื่อ 400 ปีก่อนสงครามโลก สงครามครูเสด สงครามอินโดจีน สงครามอิหร่าน...อิรัก สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐไทย
ความขัดแย้งใหญ่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนคอมมิวนิสต์จบลงด้วยประธานาธิบดีนิกสัน เดินทางไปจับมือกับเหมาเจ๋อตุง...ทั้งหมดเกิดจากการคิดได้ถึง การประนีประนอมเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่า
“สมเด็จพระนั่งเกล้าประนีประนอมผ่อนปรนกับพระอนุชาเจ้าฟ้ามงกุฎ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์ประนีประนอมไม่ยึดอำนาจ ร.5 ร.5 ยืดหยุ่นประนีประนอมกับจักรวรรดินิยมตะวันตก ล้วนเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่า...การประนีประนอมไม่ใช่การยอมจำนนหรือความพ่ายแพ้ แต่เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่า”
เมื่อใดที่ “สังคมไทย” สามารถก้าวข้ามความ...“แตกแยก” และมีการเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง เมื่อนั้นจะไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้ “ความมหัศจรรย์” ...จักผุดบังเกิดขึ้นกับ “ประเทศไทย”.